ก้าวไกลชี้ ไม่จำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำ2ลำ เพราะภัยคุกคามตอนนี้คือ สธ.-ศก.ขอเหล่าทัพแจ้งเอง

‘พิจารณ์’ ย้ำไม่จำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ชี้ภัยคุกคามตอนนี้คือสาธารณสุข-เศรษฐกิจ ขอเหล่าทัพเข้าแจงกมธ.งบ 65 ด้วยตัวเอง กันปัญหาเอกสารราชการลับ

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที ในกมธ.พิจารณางบประมาณ 2565 ให้สัมภาษณ์กรณีที่กองทัพเรือเสนอขอซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเสนอตามหน้าที่ ว่า ตนไม่เห็นด้วยถึงความจำเป็นที่ประเทศไทย หรือกองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำ เพราะการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ยุทโธปกรณ์บนผิวน้ำ หรือการเจรจาทางการทูต ด้วยความที่เราได้จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปแล้ว ก่อนที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งมอบให้ในปี 2566

ส่วนสิ่งที่จะตามมาเพิ่มเติมคือ สิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ เช่น ท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำ คลังเก็บขีปนาวุธเรือดำน้ำ และการซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ ใช้งบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หลายโครงการอนุมัติเป็นกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเกิดกรณีไม่ให้ซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ทางกองทัพเรือก็จะอ้างว่า มีความจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม เพื่อดำเนินการให้ครบและเกิดความคุ้มค่า

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า หากพูดในมุมของคนที่อยากได้เรือดำน้ำ ชุดความคิดที่จะซื้อต่อก็จะโต้เถียงยาก แต่เรายืนยันว่าสามารถชะลอการซื้อลำที่ 2-3 ออกไปได้แน่นอน เพราะความเสี่ยงภัย และภัยคุกคามของประเทศขณะนี้ ไม่มีความเร่งด่วนที่ต้องมีเรือดำน้ำ ความเสี่ยงภัยขณะนี้ คือ ด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนมากกว่า ฉะนั้นงบประมาณที่จะผูกพันไปอีก 6-7 ปีข้างหน้า จากการซื้อเรือดำน้ำนั้นคือ 2.2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องทยอยจ่าย จึงยังไม่ควรต้องเริ่มการผูกมัดในปีงบประมาณนี้

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กมธ.งบ 2565 ชุดใหญ่ นำประเด็นการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 มาใช้เป็นข้ออ้าง ให้หน่วยงานของกองทัพสามารถชี้แจงผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ซึ่งตามข้อบังคับสามารถทำได้ แต่ตนคิดว่าในทางปฏิบัติการเข้าชี้แจง โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหน่วยงานรับงบประมาณที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก ประธาน กมธ. ควรจะสั่งให้หน่วยงานเข้ามาชี้แจงที่สภาฯ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และได้ตรวจสอบกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งมอบเอกสารเพิ่มเติม

“เมื่อปีก่อนๆ มีเอกสารชี้แจงที่ระบุว่าเป็น ความลับทางราชการไม่สามารถเปิดเผยได้ เมื่อชี้แจงที่ประชุมเสร็จแล้วก็จะมาเก็บเอกสารกลับไปทันที ดังนั้น ยืนยันว่าสำหรับกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพจำเป็นต้องเข้ามาชี้แจงด้วยตัวเองที่สภาฯ เพราะสังคมจดจ้องและสนใจ ส่วนหน่วยงานอื่นที่อยู่ต่างจังหวัด หรือเดินทางลำบาก เราก็รับฟังได้” นายพิจารณ์ กล่าว