เผยในวง ศบค.ชี้ถ้าถึงหลักหมื่นเอาไม่อยู่! มอง ปชช.การ์ดตก เตรียมล็อคดาวน์เข้มขึ้น!

ทีมหมอห่วง สถานการณ์ติดเชื้อ หากถึงหลักหมื่น ไทย เอาไม่อยู่ มอบมหาดไทย ถก สาธารณสุข เตรียมยกระดับล็อคดาวน์เข้ม ตั้งแต่ชุมชน เหตุคนไม่ทำตาม ด้าน บิ๊กตู่ ขอทุกคนใจเย็นให้ฟังทีมหมอเป็นหลัก วอน สื่อสารทิศทางเดียวกันสับสน

16 ก.ค.64 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ในการประชุม คกก.ศบค.วาระพิเศษ ในวันนี้ ที่ประชุมยังเป็นห่วงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันที่ยังมีจำนวนสูงติดต่อกัน เนื่องจากพบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการและข้อกำหนด โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในชุมชน จึงขอให้ทางคณะแพทย์-สาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาร่วมกันเพื่อหาทางล็อกการแพร่ระบาดในชุมชน ที่ยังมีการระบาดสูงอยู่ เนื่องจากยังมีการเคลื่อนย้ายและเดินทางตลอดเวลา

ขณะที่ทีมแพทย์ใน ศบค.แสดงความเป็นห่วงว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นหลักหมื่นคนต่อวันจะเอาไม่อยู่ จึงพยายามเร่งให้ทุกฝ่ายควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ ไม่ให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อถึงหมื่นคน โดยต้องควบคุมพื้นที่ให้เบ็ดเสร็จ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ทุกฝ่าย ทำงานประสานกันทั้งกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงมหาดไทยและผู้เกี่ยวข้อง โดยเน้นให้ สปสช.ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจคัดกรองเชิงรุก

“นายกรัฐมนตรีกำชับทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่ โดยระบุว่าเข้าใจสถานการณ์ดีและเข้าใจทุกคน แต่ขอให้ใจเย็นๆกันหน่อย ขอให้ฟังหมอเป็นหลัก การสื่อสารขอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยขอให้เป็นหน้าที่หมอและศบค.เป็นคนให้ข่าว ไม่อยากให้หมอข้างนอกออกมาพูด เพราะจะทำให้ประชาชนสับสนได้”

ส่วนเรื่องวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ถึงเดือนส.ค.จะพยายามหาให้ได้ 13 ล้านโดส ทั้งซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา ส่วนไฟเซอร์จะมีเข้ามา 20 ล้านโดส โดย จะมีบริจาคมาให้ 1.5 ล้านโดส เพิ่งจะมาถึงประเทศไทยเร็วๆนี้ ส่วนวัคซีน modena ทางสภากาชาดไทย สั่งมา 1 ล้านโดส และจะแจกฟรีให้กับบรรดา อบจ.ทั่วประเทศ เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ในที่ประชุม คกก.ศบค.ได้มีการกำหนดเกณฑ์การจัดสรรวัคซีน โควิด-19 ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม-วันที่ 31 สิงหาคม จำนวน 13,000,000 โดส โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีวัคซีนของแอสตา เซนิก้า จำนวน 8,000,000 โดส และซิโนแวค 5,000,000 โดส โดยจะมีการปรับสัดส่วนตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับมอบหมาย โดยจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุดเข้มงวดและจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยวจำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐมสงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส จะได้รับวัคซีนร้อยละ 33 หรือ 4.22 ล้านโดส โดยกรุงเทพมหานครจะได้รับในสัดส่วน 2.2 ล้านโดส

จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด และจังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยวระยะถัดไปจำนวน 18 จังหวัด โดยแบ่งตามจำนวน ประชากร ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคายสระแก้วบุรีรัมย์พระนครศรีอยุธยาฉะเชิงเทราระยองจันทบุรีตราดเพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ระนองสุราษฎร์ธานีตรังพังงาและกระบี่ ร้อยละ 10 หรือ 1.3 ล้านโดส จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย 48 จังหวัดโดยคิดตามสัดส่วนของจำนวนประชากรจะได้รับการจัดสรรวัคซีนร้อยละ 15 หรือ 1.95 ล้านโดส

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งถือเป็นกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจจำนวน 13 จังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรีระยอง ฉะเชิงเทรา อยุธยา เพชรบุรี นครราชสีมา และ เชียงใหม่ได้รับการจัดสรร ร้อยละ 15 คิดเป็น 1.95 ล้านโดส และอื่นๆได้แก่องค์กรภาครัฐราชทัณฑ์และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดอีกร้อยละ 12 หรือคิดเป็น 1.56 ล้านโดส

นอกจากนี้ยังจัดสรรสำหรับเป็นเข็มกระตุ้นให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจำนวนร้อยละ 3 หรือคิดเป็น 0.39 ล้านโดส รวมทั้งจัดสรรวัคซีน แอสตร้าเซเนก้า เป็นเข็มที่สอง ร้อยละ 12 หรือคิดเป็น 1.56 ล้านโดส

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการจัดสรรวัคซีนคำนวณ จากจำนวนประชากรที่นำมาคำนวณ จากฐานข้อมูลประชากร จากทะเบียนบ้านและประชากรแฝง โดยจำนวนประชากรจากทะเบียนบ้านใช้ฐานข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2564 ส่วนจำนวนประชากรแฝงข้อมูลนำมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 โดยมีเป้าหมายฉีดให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรจากทะเบียนบ้าน และ ประชากรแฝงทุกกลุ่มอายุ ในแต่ละจังหวัด ทั้งผู้มีสัญชาติไทย และ ไม่มีสัญชาติไทย เป้าหมายให้บริการวัคซีน 13,000,000 โดส ในวันที่ 15 กรกฎาคมถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 โดยจำนวนวัคซีนที่จัดสรรจริงอาจปรับเปลี่ยนตามปริมาณวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาได้

สำหรับประเภทการจัดสรรเป็นไปตามมติ ศบค.วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 แบ่งเป็นสามกลุ่มจังหวัดตามที่เสนอโดยเกณฑ์การจัดสรรจะพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ 1.ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้ลงทะเบียนจองวัคซีนล่วงหน้าในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2564 2.การให้วัคซีนเพื่อป้องกันเชิงรุกในพื้นที่ระบาดใหม่ 3. โคต้าประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตน (กทม.+12 จังหวัด) 4.จำนวนประชากรแต่ละจังหวัด สำหรับกรณีการจัดหาวัคซีนได้ไม่ถึง 13,000,000 โดส การจัดสรรวัคซีนจะลดลงตามสัดส่วนวัคซีนที่ได้ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโรคและปริมาณการส่งมอบวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต