ชงขอคลังหมื่นล้าน! ตั้งสินเชื่อ อุ้มธุรกิจให้อยู่รอด ท่ามกลางวิกฤตโควิด

‘พิพัฒน์’ เตรียมชงเข้ากระทรวงการคลัง ขอ 10,000 ล้านบาท ตั้งสินเชื่ออุ้มธุรกิจเริ่มต้นใหม่- ส่วนโกดัง พักหนี้ มีโรงแรมร่วม 12 ราย

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการจัดหาแหล่งเงินทุน (ซอฟต์โลน) เพื่อเตรียมไว้ช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว ทั้งในส่วนของการพยุงธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางการระบาด โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ตั้งแต่ระลอกแรกปี 2563 จนถึงระลอก 3 ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ เบื้องต้น วางกรอบงบประมาณซอฟต์โลนไว้ที่ 10,000 ล้านบาท ขณะนี้ส่งข่าวถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการ เนื่องจากตัวเองอยู่ในช่วงกักตัว

ส่วน รมว.คลัง ติดภารกิจ ในการทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จึงยังไม่สามารถหารือร่วมกันได้ หลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เสร็จ วางแผนขอนัดหารือร่วมกันในประเด็นการหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนได้ เป็นการกู้เงินผ่านการค้ำประกันแบบค้ำไขว้ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน หรือค้ำไขว้ระหว่างบริษัทต่อบริษัท แต่วงเงินที่จะปล่อยให้คงไม่ได้สูงมากนัก ซึ่งต้องประเมินความเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละบริษัท ว่ามีความเหมาะสมที่จะต้องกู้ได้ในจำนวนเท่าใด

“สิ่งที่อยากหารือกับกระทรวงการคลัง เป็นการขอวงเงินสัก 1 ก้อน เพื่อนำมาเตรียมไว้ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายต้องปิดธุรกิจชั่วคราว ในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา และคนไทยต้องหยุดการเดินทางลง ทำให้การกลับมาประกอบธุรกิจใหม่อีกครั้ง จะต้องมีเงินทุนเตรียมไว้ก่อน 1 ก้อน สำหรับใช้ในการปรับปรุงและหมุนเวียนธุรกิจ ให้สามารถกลับมาเปิดบริการใหม่ได้อีกครั้ง” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับโครงการช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่รัฐบาลมีออกมา อาทิ โครงการโกดังพักหนี้ ซอฟต์โลนเพื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ที่ผ่านมามีการพูดถึงกันตั้งแต่ปี 2563 จนปีปัจจุบัน ซึ่งยังไม่เห็นว่ามีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมามีค่อนข้างมาก ซึ่งก็เข้าใจว่าธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินต่างๆ ก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อออกมามากนัก เพราะกังวลว่า หากสินเชื่อที่ปล่อยออกมากลายเป็นหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็จะเป็นภาระของแบงก์ ทำให้ต้องตั้งสำรองหนี้เสียในระดับสูงอีก

ขณะนี้มองว่ามีทางออกเดียวคือ หาวิธีเจรจากับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการรับประกันโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู สูงสุดที่ 40% เพิ่มเป็น 50-60% ได้หรือไม่ ซึ่งหากสามารถช่วยค้ำในระดับดังกล่าวได้ คาดว่าการช่วยเหลือด้านการเงินของโครงการหรือมาตรการต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถขับเคลื่อนได้เร็วมากขึ้น

ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า โครงการโกดังพักหนี้ ขณะนี้มีคนสมัครเข้าร่วมผู้ประกอบการโรงแรมยังเข้าร่วมน้อย เนื่องจากบางสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ มีการตั้งเงื่อนไขที่แตกต่างกัน อาทิ เริ่มต้นที่ลูกหนี้ชั้นดีเท่านั้น ประเมินจากมูลค่าหนี้ในระดับต่ำก่อน เมื่อนโยบายไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ยากในการเข้าถึง ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี ขอเสนอให้มีการหาแหล่งเงินทุนแบบตั้งเงื่อนไขการกู้ผ่านการค้ำประกันไขว้ระหว่างธุรกิจกันเอง

แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับโครงการโกดังพักหนี้ ขณะนี้มีโรงแรมเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก ส่วนใหญ่อยุ่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร แต่ได้รับการอนุมัติแล้ว 12 แห่ง ส่วนที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ อยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างเจ้าของโรงแรมและธนาคาร ว่าหากเข้าร่วมโครงการเอาเฉพาะตัวโรงแรมเข้าโครงการได้ไหม ส่วนที่ดินของแยกออกมา ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ร่วมโครงการ