ยังไหว! ‘อาคม’ ยันฐานะ ศก. ไทยยังมีเสถียรภาพ หนี้สาธารณะ พ.ค.64 อยู่ที่ 55%

‘อาคม’ ยันฐานะเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพ หนี้สาธารณะ พ.ค.64 อยู่ที่ 55% รัฐวาง 3 แนวทางฟื้นเศรษฐกิจ เล็งยืดมาตรการพักหนี้เพิ่ม

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานสัมมนา Thailand Economic Monitor หัวข้อ “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ว่าเป็นวิกฤตของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในไทยได้อยู่ในช่วงของการระบาดในรอบที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน- พฤษภาคม 2564 ซึ่งยังไม่จบ และมีการแพร่ระบาดไปในคลัสเตอร์ต่างๆ

นายอาคม กล่าวว่า ในขณะนี้ มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในไทยนั้นก็เห็นได้จากภาคการส่งออก ที่มีมูลค่าสูงกว่าปีก่อนๆ ส่วนภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลได้เปิดโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อก ซึ่งเป็นต้นแบบเมืองที่ควบคุมโควิด-19 และเปิดตอนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ โดยนักท่องเที่ยวต้องมี วัคซีน พาสปอร์ต และทำการตรวจหาเชื้อที่สนามบินก่อน เพื่อความปลอดภัย และได้เปิดโครงการ สมุย พลัส อีกเกาะเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเช่นกัน ทั้งนี้ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวถือมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ดังนั้น รัฐบาลจะดำเนินมาตการเปิดประเทศควบคู่การดำเนินมาตการทางเศรษฐกิจ เพื่อหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และ ปี 2565 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกส่วนที่ได้รับผลกระทบคือ ภาคการบริโภคของประชาชน ภาครัฐก็ได้ออกมาตรการ คนละครึ่ง มาตรการเยียวยาต่างๆ และมาตรการช้อปดีมีคืน เพื่อพยุงการบริโภคภายในประเทศในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ประเทศที่พัฒนาแล้วทำกัน แม้เงินกู้ทั้ง 2 ก้อนมีส่วนทำให้การก่อหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่ขอย้ำว่าฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ยังมีเสถียรภาพ ด้านทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีความมั่นคง ส่วนหนี้สาธารณะ ยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 60% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) โดยหนี้สาธารณะเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 55% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตามทางกระทรวงการคลังก็ไม่ประมาท ทำการติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

จากการการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ใน 10 จังหวัด รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาซึ่งในครั้งนี้ได้เน้นไปที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นหลัก รวมทั้งการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเทอม ขณะที่มาตรการทางการเงิน นอกจากมาตรการยืดเวลาการชำระหนี้ไปถึงสิ้นปี 2564 แล้ว ได้มีการยกระดับมาตรการด้วยการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งโครงการ คนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังคงดำเนินการตามแผน เนื่องจากพื้นที่อื่นนอกเหนือจาก 10 จังหวัดยังสามารถเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ และมีระยะเวลาใช้จ่ายได้ถึงสิ้นปี 2564

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับในระยะต่อไป รัฐบาลได้วางไว้ 3 แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้แก่ แนวทางแรกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งรัฐบาลจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะต้องยืดอายุมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้นออกไปอีกหรือไม่ เนื่องจากมองว่าระยะ 2 เดือน อาจไม่เพียงพอให้ภาคธุรกิจได้ฟื้นตัว

แนวทางที่ 2 การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ใน 4 ด้าน คือ 1.การพัฒนาโครงาสร้างพื้นฐาน ที่เน้นการลดใช้พลังงานและเน้นไปที่พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น การลงทุนผ่านกรีนบอนด์ 2.การมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัล ผ่านความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยฝั่งรัฐบาลจะมีการส่งเสริมการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการให้บริการประชาชนมากขึ้น 3.การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือ การลดการปล่อยกาซเรือนกระจก ผ่านนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า และ 4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ส่วนที่ 3 การบริหารเศรษฐกิจมหภาค เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนที่ทำให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และการดึงส่งเสริมให้คนไทยเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมหรือประกันสุขภาพมากขึ้น เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็ดบำนาญ หรือกองทุนต่างๆ บัตรสวัสดิการ เป็นต้น