เปิดผลวิจัยฮ่องกง เทียบซิโนแวค ไฟเซอร์ ค่าภูมิคุ้มกัน ค่ากันติดเชื้อต่างลิบ

ดร.อนันต์ วิเคราะห์ผลการวิจัยจากฮ่องกงที่เปรียบเทียบค่าภูมิคุ้มกันเชิงลึกระหว่างผู้ได้รับวัคซีน 2 ชนิดคือ CoronaVac (Sinovac) และ Pfizer

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก ถึงประเด็นงานวิจัยที่เปรียบเทียบระหว่างภูมิคุ้มกันที่ได้จาก ผู้รับวัคซีนซิโนแวค และ ไฟเซอร์ โดยพบว่า มีความแตกต่างกันมาก โดยพบว่า เชื้อตาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่มากเท่า mRNA อย่าง Pfizer และตัวเลขที่แอนติบอดีช่วย “กันติดเชื้อ” ได้ ไฟเซอร์สูงมาก

งานวิจัยชิ้นนี้เพิ่งตีพิมพ์ใน Lancet ออกมาจากฮ่องกงที่เปรียบเทียบค่าภูมิคุ้มกันเชิงลึกระหว่างผู้ได้รับวัคซีน 2 ชนิดคือ CoronaVac (Sinovac) และ Pfizer โดยเปรียบเทียบ 1.ระดับแอนติบอดีที่จับกับสไปค์ 2. ระดับแอนติบอดีตัวสำคัญที่ยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสโดยตรง โดยวัดด้วยวิธีที่ หลายรพ.เริ่มใช้คือ ELISA (surrogate NT) และใช้วิธีแบบมาตรฐานคือใช้ไวรัสตัวจริง

ค่าในกราฟสีน้ำเงินคือ Pfizer ส่วนสีแดงคือ Sinovac จะเห็นได้ว่าภูมิคุ้มกันของวัคซีน 2 ชนิดนี้ต่างกันมาก ผลจากการฉีดเข็มแรกของ Sinovac ยังไม่สามารถวัดอะไรพบซึ่งต่างจาก Pfizer และหลังเข็มสอง Sinovac ดูเหมือนจะ boost ที่เข็มแรก prime ไว้ได้บ้าง (แสดงว่าเข็มแรกก็น่าจะ prime ได้บ้าง) แต่ความสามารถในการ boost ของเชื้อตายทำได้ไม่มากเท่า mRNA อย่าง Pfizer ชัดเจนครับ

ค่าที่น่าสนใจคือ PRNT90 ซึ่งปกติไม่ค่อยเห็นคนรายงาน ค่านี้คือ ค่าที่ซีรั่มถูกเจือจางไปแล้วยังสามารถยับยั้งไวรัสได้ 90% ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับตัวเลขที่แอนติบอดีช่วย “กันติดเชื้อ” ได้ ค่านี้ของ Pfizer สูงได้ถึง 80 หมายความว่า ปริมาณแอนติบอดีกันติดในร่างกายอาสาสมัครสูงมาก ขนาดเจือจางไป 80 เท่าก็ยังกันติดได้ ขณะที่สีแดงอยู่ที่น้อยกว่า 10 คือไม่ต้องเจือจางก็อาจจะไม่พบแอนติบอดีที่กันติดได้ครับ…ทั้งนี้ คิดว่าไวรัสที่ใช้ทดสอบอาจจะไม่ใช่ Delta ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ค่านี้จะลดลงไปอีกอย่างน้อย 2-3 เท่าครับ