น้ำพระทัย ‘พระองค์โสม’ 22 ปี เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เปี่ยมล้นพระเมตตาผู้ประสบอุทกภัย

พระองค์เจ้าโสมสวลี​พระวรราชาทินัดดามาตุ

นับตั้งแต่ปี 2538 ที่ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ” ทรงมีพระดำริให้ก่อตั้ง “มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

“พระองค์โสม” ก็ทรงทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติพระกรณียกิจอย่างเต็มพระกำลัง เพื่อให้ผู้ประสบอุทกภัยได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้อย่างดีที่สุด และไม่เพียงช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น พระองค์ยังประทานความช่วยเหลือฟื้นฟูที่อยู่อาศัยและอาชีพหลังจากน้ำลด จนทำให้ราษฎรมีชีวิตที่ดีขึ้นและมีขวัญกำลังใจในการดำรงชีพต่อไป

จากพระเมตตาของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยมาต่อเนื่องยาวนานถึง 22 ปี รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงมีพระดำริให้ก่อตั้งมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ด้วยทรงมีประสบการณ์มาจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2538 ที่เสด็จเยี่ยมราษฎรถึงที่ และได้ทรงฟังปัญหาต่างๆ ด้วยพระองค์เอง

“ตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิฯ พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรที่เดือดร้อนจากสภาวะน้ำท่วม โดยทรงจัดถุงยังชีพและประทานถุงยังชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 22 ปี พระองค์ทรงเข้าพระทัยประชาชน ทรงเข้าพระทัยผู้เดือดร้อนจริงๆ” รศ.ดร.นพ.พิชิตกล่าว

พสกนิกรอิ่มท้อง “อาหารปรุงสด”

เมื่อมีอุทกภัยเกิดขึ้นที่ไหนในประเทศ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก จะออกไปช่วยเหลือทันที โดยช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ประสบภัยประทังชีวิตอยู่ได้ด้วยการประกอบอาหาร และแจกจ่ายอาหารสดให้ประชาชนได้อิ่มท้องมีแรงกายแรงใจ โดยมีทั้งออกไปแจกอาหาร และจัดหน่วยปฏิบัติการประกอบอาหารแบบโรงทาน และมีหน่วยเคลื่อนที่โดยใช้รถ “รถเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ช่วยด้วยใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน”

สายสม วงศาสุลักษณ์ กรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า ถ้าที่ไหนที่พระองค์เสด็จเยี่ยมจะต้องมีรถประกอบอาหารไป และพระองค์จะทรงปรุงอาหารบนรถแจกจ่ายประชาชนด้วยพระองค์เอง เมนูส่วนใหญ่ทรงเน้นให้เด็กรับประทานได้ด้วย บางทีมีข้าวผัดกะเพรา ก็จะทรงให้ทำหมูทอดหรือไก่ทอดสำหรับเด็กด้วย

“พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่มาก อย่างถ้ามีประชาชนรออยู่ 3-4 พันคน แม้จะดึกดื่นค่ำมืดอย่างไรก็ไม่ทรงหยุด จะทรงปรุงอาหารจนกว่าจะเสร็จ และประชาชนได้รับประทานจนครบทุกคน” กรรมการมูลนิธิฯ ถ่ายทอดพระกรุณา

ขณะที่ รศ.ดร.นพ.พิชิตกล่าวเสริมว่า จากความเชี่ยวชาญให้ด้านการประกอบอาหาร ทรงมีพระดำรัสให้พัฒนาเครื่องหุงข้าวที่สามารถหุงเลี้ยงประชาชนได้เป็นจำนวนมากๆ อย่างเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มูลนิธิฯ ทำข้าวกล่องแจกจ่ายประชาชนสูงสุดประมาณ 1 แสนกล่องต่อวัน หรือเมื่อตอนน้ำท่วมใต้เมื่อปีที่ผ่านมา ก็สามารถประกอบอาหารได้เป็นหมื่นๆ กล่องต่อมื้อ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรรา​ชาทินัดดามาตุ ใน​การ​พระ​พิธี​ธรรม​สวด​พระ​อภิธรรม พระบรมศพ​พระบาท​สมเด็จ​พระ​ปร​มิ​นท​รม​หา​ภูมิพลอดุลยเดช มหิต​ลา​ธิเบ​ศร​รามาธิบดี จักรี​นฤบ​ดิน​ทร ส​ยา​มิ​นท​รา​ธิ​ราช บรม​นาถ​บพิตร ณ พระที่นั่ง​ดุสิต​มหา​ปราสาท ใน​พระบรมมหาราชวัง วัน​ที่ 30 ต.ค. 2559

ถุงยังชีพพระราชทาน “ปลอบขวัญ”ให้กำลังใจ

นอกจากช่วยให้พสกนิกรอิ่มท้องแล้ว มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก จะจัด “ถุงยังชีพพระราชทาน” ออกแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ห่างไกลยากจะเข้าถึงได้ ซึ่งภายในถุงยังชีพ ประกอบด้วย ข้าวสาร มาม่า ปลากระป๋อง เกลือ ยาตำราหลวง ผ้าอนามัย ไฟฉาย ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ เทียน ผ้าถุง เสื้อยืด เสื้อเด็กเล็ก โดยเน้นให้เพียงพอสำหรับ 7 วัน สำหรับคน 4 คน

สายสม วงศาสุลักษณ์ กล่าวว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงให้ความสำคัญในรายละเอียดในการจัดสิ่งของลงถุงยังชีพ ทรงพิถีพิถันอย่างที่สุด อย่างถุงยังชีพของพระภิกษุสงฆ์ที่ทรงโปรดให้ใช้เป็นถุงสีเหลืองแยกสีสำหรับถวายพระสงฆ์เท่านั้น เพราะหากไม่แยกสีถุง พระสงฆ์อาจจะได้ของประชาชนทั่วไปที่มีผ้าถุงหรือผ้าอนามัยติดไปด้วย

“ถุงยังชีพของมูลนิธิฯ จะมีของเพิ่มขึ้นตลอด อย่างก่อนหน้านี้ยังไม่มียากันยุง แต่เวลาน้ำท่วม ไฟดับ ยุงก็เยอะ ก็จะมียากันยุงเติมลงไป หรือถ้าประชาชนบอกว่าขาดอะไร เราก็จะหาของเพิ่มเติมมาให้ หรือแม้แต่เด็กเล็ก ก็ยังมีกระทั่งนมของเด็กที่แพ้นมวัว เพราะฉะนั้น ถุงยังชีพของมูลนิธิฯ จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีน้ำหนักประมาณ 17-18 กิโลกรัม”

“พระองค์ทรงให้เหตุผลว่า บางบ้านอยู่กันหลายคน ของในถุงยังชีพต้องสามารถเอาไปช่วยบรรเทาช่วงวิกฤตได้” สายสมกล่าว และเผยอีกว่า พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยน้ำพระทัย เพราะจะทรงลงพระหัตถ์แพคถุงยังชีพด้วยพระองค์เอง และจะทรงควบคุมคุณภาพให้ใช้แต่ของดีเท่านั้น

“หลายต่อหลายครั้งจะประทับนั่งบนพื้นและแพคถุงยังชีพเป็นพันๆ ถุง กว่าจะแพคเสร็จก็ตี 1 ตี 2”

ตามรอยพระบาท”ในหลวง ร.9″

นอกจากอาหารปรุงสดและถุงยังชีพพระราชทานแล้ว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานการช่วยเหลือที่พักชั่วคราว เป็นการสร้างบ้านให้ผู้ประสบอุทกภัยที่บ้านถูกทำลายเสียหายจากน้ำท่วม ได้อาศัยชั่วคราวในช่วงที่รัฐบาลกำลังหาสถานที่เพื่ออยู่อาศัยอย่างถาวร บ้านที่โครงการดำเนินการจัดทำจะเป็น “บ้านน็อกดาวน์” หรือ บ้านถอดเก็บได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ยังมี “บ้านชีวิตใหม่” ซึ่งเป็นบ้านที่ย้ายจากที่ดินเดิมซึ่งอาจเป็นทางน้ำหรือเป็นแอ่งกระทะ ไปปลูกในที่ใหม่ที่ปลอดภัยกว่า และ “บ้านหลังคาเขียว” เป็นหลังคาที่ทำจากกล่องนมอัด กันน้ำ ไม่หนัก ไม่ร้อน คงทนอยู่ได้เป็น 10 ปี

“การช่วยเหลือต้องไม่ใช่แค่ประทานถุงยังชีพแล้วกลับ แต่ต้องช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทรงมุ่งถึงความสำเร็จไม่ใช่แค่บรรเทา” รศ.ดร.นพ.พิชิตกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงฟื้นฟูอาชีพให้กับราษฎรที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรทำไร่ทำนา หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือน อย่าง ทอผ้า เป็นต้น เพื่อทำให้ราษฎรมีชีวิตที่ดีขึ้นและมีขวัญกำลังใจในการดำรงชีพต่อไป

รศ.ดร.นพ.พิชิตกล่าวอีกว่า พระองค์ทรงงานตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยทรงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในทุกมิติ

“พระองค์รับสั่งถึงประสบการณ์ที่ทรงได้รับจากการตามเสด็จไปในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงสืบสานพระราชปณิธานในการช่วยเหลือประชาชนอย่างยั่งยืน และทรงพยายามพัฒนาให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นเสมอๆ”

จากประสบการณ์การทรงงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมากว่า 20 ปี รศ.ดร.นพ.พิชิตเปิดเผยว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงโปรดให้จัดตั้ง “ศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยและดินโคลนถล่มเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)” ขึ้น โดยจะเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560

“ศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยฯ นี้ จะเป็นศูนย์ที่ระวังภัยแบบสามัญชน ที่จะประมวลข้อมูลและแจ้งระวังภัยไปยังพื้นที่ที่จะประสบภัยน้ำท่วมหรือดินโคลนถล่ม เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับสถานการณ์อย่างทันท่วงที ที่ผ่านมาได้ทำการทดลองที่ จ.อุตรดิตถ์ เพราะเป็นจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง เป็นอุตรดิตถ์โมเดล ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ” รศ.ดร.นพ.พิชิตกล่าว

ความเดือดร้อนราษฎรมาเป็นอันดับหนึ่ง

สายสม วงศาสุลักษณ์ เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ถวายงานมาทำให้ได้เห็นพระจริยวัตรพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

“ถ้าอะไรเป็นความเดือดร้อนของราษฎรแล้ว จะต้องมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ” สายสมกล่าว

“เวลาเสด็จช่วยเหลือประชาชนประสบอุทกภัยที่ต่างจังหวัด บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดให้พระองค์เสด็จ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินถล่ม หรือเป็นพื้นที่เข้าไปยาก แต่ด้วยพระวิริยะอุตสาหะก็จะทรงดั้นด้นไปจนได้ รับสั่งว่า ถ้าอยู่แต่ข้างล่างจะไม่เห็นประชาชนที่เดือดร้อน ดังนั้นต้องไปให้เห็นของจริง ไปให้เห็นต้นน้ำต้นทางว่าเป็นอย่างไร ไม่เอาผักชีโรยหน้า หรือถ้าน้ำท่วม เจ้าหน้าที่จัดให้พระองค์เสด็จเยี่ยม 8 จุด แต่ด้วยพระเมตตาก็จะทรงเยี่ยมในเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดไว้ด้วย เสด็จเยี่ยมจนมืดค่ำ 3-4 ทุ่มก็ยังไม่เสด็จกลับ และบางครั้งยังไม่ได้เสวยอะไรเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ทรงอดทน รับสั่งเสมอว่า ประชาชนเดือดร้อน พระองค์มาแค่แป๊บเดียว แต่เขาต้องอยู่อย่างนี้เป็นสัปดาห์เป็นเดือน ดังนั้น จะต้องช่วยให้เขารอดให้ได้มากที่สุดและทั่วถึง” สายสมกล่าว

น้ำพระทัยนั้นเป็นที่ประจักษ์ต่อปวงชนชาวไทย เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชันษา 5 รอบ 60 ปี วันที่ 13 กรกฎาคม ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี​ พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จ​ไป​เยี่ยม​ผู้​ป่วย​ใน​โครงการ “อาสา​กาชาด​พื้น​ฟู​สุขภาพ​ถึง​บ้าน” ซึ่ง​เป็น​ส่วน​ของ​งาน “อาสา​กาชาด​บำรุงขวัญ​ผู้​ป่วย ประจำปี 2551” ผู้​ที่​มี​เชื้อ HIV

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จ​​ไป​ทรง​ปล่อย​คาราวาน​เฮลิคอปเตอร์​โปรย​เวชภัณฑ์​และ​ถุง​อาหาร​ประทัง​ชีพ​เพื่อน​พึ่ง (ภาฯ) ยาม​ยาก ช่วยเหลือ​ผู้​ประสบ​อุทกภัย ณ ลาน​เฮลิคอปเตอร์ อาคาร​แพทย์​ฉุกเฉิน​กระทรวง​สาธารณสุข เมื่อ​วัน​ที่ 15 พฤศจิกายน 2554

รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
สายสม วงศาสุลักษณ์ กรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย