ส.ส.ก้าวไกล รุมซัดรัฐบาล มาตรการเยียวยาไม่ถ้วนหน้า-ทั่วถึง จี้ขยายช่วยรายย่อยก่อนโดนทุนใหญ่กลืน

ส.ส. ก้าวไกลจี้มาตรการเยียวยาของรัฐบาลไม่ถ้วนหน้า ไม่ทั่วถึง และ ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหาย ชี้ต้องขยายมาตรการช่วยเหลือรายย่อยมากกว่านี้ก่อนที่จะเหลือแต่ทุนใหญ่พร้อมกลืนเศรษฐกิจ

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้ออกมาวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐบาล
.
นายวรภพกล่าวว่ามาตรการล่าสุด เน้นไปที่เยียวยานายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคม แต่ที่ผมมองว่ามาตรการนี้ยังตกหล่นและไม่เป็นธรรมจำนวนมากคือทั้ง ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่อยู่นอกระบบประกันสังคม และ การเยียวยาที่น้อยกว่าผลกระทบจากมาตรการของรัฐอยู่มาก
.
การเยียวยาของรัฐบาลรอบนี้คือ เยียวยาให้นายจ้างในระบบประกันสังคม 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้าง และลูกจ้าง 2,500 บาทต่อราย เมื่อรวมเงินจากประกันสังคมอยู่แล้ว 7,500 บาท ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจะได้ไม่เกิน 10,000 บาท
.
“สิ่งที่รัฐบาลควรทำ ที่ทางผมและพรรคก้าวไกล พยายามสื่อสารไปหลายครั้งว่า ทำไมไม่ชดเชยเยียวยา ผู้ประกอบการตามรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบนี้ไปเลย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ คนละครึ่ง/เราชนะ เพราะรัฐบาลก็มีข้อมูลรายได้ที่ลดลงไปแล้ว ถึงจะเป็นการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรม จากการให้ผู้ประกอบการร่วมมือกับมาตรการของรัฐ”
.
นายวรภพเสนอว่ามาตรการจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำในเวลานี้คือการพักชำระหนี้ไปอย่างน้อย 3 เดือน, กำหนดห้ามขับไล่ผู้เช่า 6 เดือนในช่วงที่สถานการณ์ยังวิกฤต, รวมทั้งช่วยเติมสภาพคล่องโดยอิงกับ ประวัติการจ่ายภาษีย้อนหลัง 10 ปี มาเป็นวงเงินกู้สำหรับธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและอยู่ในระบบภาษีสามารถรอดวิกฤตไปได้แน่ๆ
.
“ก่อนที่ SMEs จะล้มหายไปจากประเทศไทย และเหลือเพียงกลุ่มทุนใหญ่ ที่พร้อมจะกลืนกินเศรษฐกิจไทยไปมากกว่า รัฐบาลต้องขยายมาตรการช่วยเหลือรายย่อยมากกว่านี้!!” นายวรภพกล่าว
.
ด้านนายปกรณ์วุฒิ แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันว่า การเยียวยาครั้งนี้ ไม่ถ้วนหน้า ไม่ทั่วถึง และ ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
.
ทั้งทีชัดเจนว่า เป็นการเยียวยาเนื่องมาจากการประกาศ เคอร์ฟิว และ ล็อกดาวน์ ครั้งล่าสุดเท่านั้น (มันคือการ ‘ล็อกดาวน์’ ครับ เลิกเล่นคำกันเสียที)  แต่หลายๆธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนนั้น ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของรัฐมายาวนาน อย่างน้อยๆก็ 240วัน ในช่วง 15เดือนที่ผ่านมา  ซึ่งอีกสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้นึกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมาเลย
.
“มาตรการนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้บ้างไม่มากก็น้อย .. แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และยังทิ้งกลุ่มคนกลางคืนอีกกว่า 67 จังหวัด ไว้ข้างหลัง รวมถึงยังคิดไม่ครบถ้วนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน และทำให้บางธุรกิจที่ถูกผลกระทบจริง ไม่ได้รับการเหลียวแล “ ปกรณ์วุฒิ กล่าว
.
ข้อดีเดียว ที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาครั้งนี้ คือ จะมีการดึงแรงงานอิสระ เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากขึ้น เพื่อเป็นการติดตาม และช่วยเหลือ แรงงานอิสระ ที่เป็นสัดส่วนที่สูงมากของแรงงานทั้งหมดทั่วประเทศ และในอนาคต ฐานข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้รัฐสามารถติดตามช่วยเหลือแรงงานได้ในยามที่เกิดวิกฤติ
.
“ผมสนับสนุนให้แรงงานอิสระทุกคนเข้าร่วมลงทะเบียนประกันสังคม ใน ม.39 และ ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือกันถ้วนหน้า ทุกคน” นายปกรณ์วุฒิกล่าวทิ้งท้าย