เปิดผลวิจัยในไทยล่าสุด ผงะ! วัคซีน “ซิโนแวค” ภูมิลดไม่เหลือพอป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ได้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า

ในที่สุดก็ได้เห็นผลวิจัยจากทีมประเทศไทยเองที่แสดงว่า ภูมิคุ้มกันจาก Sinovac มีเท่าไหร่ต่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆโดยเฉพาะเดลต้า เป็นการศึกษาจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำการเปรียบเทียบความสามารถของซีรั่มในผู้ได้รับวัคซีน Sinovac เปรียบเทียบกับคนที่หายป่วยจากปีที่แล้ว และ ปีนี้ ในการยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสตัวจริงที่แยกได้จากผู้ป่วยในประเทศไทย

ข้อมูลในการศึกษานี้บอกว่า ภูมิจาก Sinovac (วัคซีนซิโนแวค) ไม่น่าเหลือพอที่จะยับยั้งเดลต้าได้…ดูเหมือนจะแย่กว่าสายพันธุ์เบต้าของแอฟริกาใต้ซะอีก รายละเอียดดูได้ตาม link นะครับ

https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.10.21260232v1

ด้าน ผศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า ในที่สุดก็มีหลักฐานชัดเจน แม้จะเป็นผลการทดสอบในแลปก็ตามว่า fully sinovaccinated (ฉีด 2 โดส) ไม่น่าเอา Delta variant อยู่

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการวิจัยเรื่องภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนซิโนแวคต่อโควิดสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลต่างๆ

ในส่วนบทคัดย่องานวิจัย ระบุผลการศึกษาสรุปว่า ผลการศึกษาของเราอาจช่วยอธิบายศักยภาพในการสร้างแอนติบอดีต้านเชื้อไวรัสของ CoronaVac (ชื่อเป็นทางการของวัคซีนซิโนแวค) ซึ่งสื่อแทนประสิทธิภาพของวัคซีน ในบริบทของสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ที่น่ากังวล 3 ชนิด (อัลฟ่า,เบต้าและเดลต้า) ผลการศึกษาของเรายังเป็นส่วนสำคัญต่อผู้ตัดสินใจทางนโยบายสาธารณสุขที่อาจยังจำเป็นคงยุทธศาสตร์บรรเทาอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความเสี่ยงการติดเชื้อกับสายพันธุ์ที่น่ากังวลซึ่งสูงขึ้น แม้แต่กับผู้ที่เคยติดเชื้อไปแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่เผยแพร่นี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐบาลไทยที่พยายามแก้ไขปัญหาการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าด้วยวัคซีนที่มีอยู่นั้นคือ ซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งตัววัคซีนซิโนแวคถูกตั้งคำถามอย่างหนักมาตลอด ส่วนแอสตร้าเซเนก้าก็เผชิญปัญหาก็ส่งวัคซีนให้กับไทยไม่ตรงตามเป้าหมาย ทำให้มีการคิดสูตรฉีดวัคซีนไขว้ผสมระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้าอย่างละโดส แม้มีแพทย์ให้ความเห็นว่าต่อให้ฉีดผสมกัน ก็ได้ภูมิคุ้มกันระดับเดียวกับฉีดแอสตร้าเซเนก้าเข็มเดียว

พร้อมกันนั้น ได้เกิดความพยายามของรพ.เอกชนหลายแห่งที่นำเข้าวัคซีนศักยภาพสูงในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าอย่างวัคซีน mRNA ซึ่งมีเพียงไฟเซอร์/ไบออนเทค และโมเดอร์น่า รวมถึงวัคซีนแบบProtein Subunit อย่างวัคซีนเอ็นวีเอ็กซ์ของโนวาแวกซ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการเรียกร้องเคลื่อนไหวของบุคลากรทางการแพทย์แนวหน้าในการกดดันให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีน mRNA โดยเร็วท่ามกลางบุคลากรทางการแพทย์มีรายงานว่าติดเชื้อโควิดหลายรายทั้งที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม