‘ชวน’ โยนฝ่ายบริหารตอบปมยุบสภา หลังเกิดกระแสจี้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว

‘ชวน’ โยนฝ่ายบริหารตอบปมยุบสภา หลังเกิดกระแสจี้พรรคร่วมถอนตัว ยกสมัยเป็นนายกฯ ครั้งแรกประกาศยุบสภา ก่อนมีศึกซักฟอก เป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตย

วันที่ 14 ก.ค.64  เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามกลไกแล้วนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่สามารถยุบสภาหรือลาออกได้หรือไม่ว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่มีการงดประชุมนี้สามารถดำเนินการได้ ซึ่งกระบวนการเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับว่า จะต้องยื่นเข้ามา ซึ่งคณะทำงานในสภาฯก็ทำงานตามปกติ ยกเว้นไม่มีการประชุมวันพุธและวันพฤหัสบดี ส่วนการประชุมอื่นยังคงมีอยู่แต่เป็นลักษณะทางซูม

เมื่อถามว่า หากมีพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นให้ยุบสภาฯได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า “อย่าไปสมมติเลย ต้องไปถามฝ่ายบริหาร” เมื่อถามอีกว่า สถานการณ์ตอนนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวค่อนข้างมาก นายชวน กล่าวว่า ขอให้ไปถามฝ่ายบริหารดีกว่า

เมื่อถามต่อว่า ในฐานะที่เป็นแกนนำหรือผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์มองเรื่องนี้อย่างไร นายชวน กล่าวติดตลกว่า “เหนือผู้ใหญ่ยังมีกำนัน อย่าไปให้ความเห็นเลย ขอให้ไปคุยกับฝ่ายบริหารและพรรคการเมืองดีกว่า เพราะว่าทุกพรรคมีผู้นำและผู้บริหารพรรคอยู่ ผมไม่ขอไปพูดอะไรที่เป็นการก้าวก่าย หรือล้ำหน้า แต่ในกระบวนการประชาธิปไตย การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีทุกสมัยประชุมสามัญ ถือเป็นเรื่องปกติ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่บริหาร ฝ่ายตรวจสอบก็มีหน้าที่ตรวจสอบ ถือเป็นภารกิจของแต่ละฝ่าย”

เมื่อถามว่า ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ทำให้นายกฯ ต้องประกาศลาออกยุบสภาฯ จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า สมัยแรกที่ตนเป็นนายกฯ ก็มีพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว โดยมีการอภิปรายก่อนลงมติ ซึ่งขณะนั้นพรรคร่วมรัฐบาลได้ถอนตัวก่อน ทำให้ตนต้องยุบสภาฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวิถีประชาธิปไตย หมายถึงกระบวนการที่เกิดช่องให้ทำได้ในกรณีนั้น

เมื่อถามว่า ในสมัยที่ตัดสินยุบสภาฯนั้น มีปัจจัยมาจากสถานการณ์บ้านเมืองหรือปัจจัยทางการเมือง นายชวน กล่าวว่า ปัจจุบันนี้หากมีปัญหาเรื่องฝ่ายบริหารก็ต้องสอบถามฝ่ายบริหาร จะให้ไปก้าวล่วงหรือพูดชี้นำหรือไปวิจารณ์ก็ไม่เหมาะสม

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นอดีตนายกฯ มองว่าปัญหาเรื่องการบริหารประเทศตอนนี้ควรแก้ไขอย่างไร นายชวน กล่าวว่า ก็เป็นไปตามเหตุการณ์ และทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในหน้าที่ของตนเอง นี่คือจุดสำคัญที่สุดที่ในหลวงร.9 ทรงแนะนำเรื่องการรับผิดชอบ ให้พิจารณาให้ถ่องแท้ว่าหน้าที่ของท่านคืออะไร แล้วทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต นี่คือกระบวนการของการแก้ปัญหาบ้านเมือง

เพราะแต่ละคนก็มีหน้าที่ของตนเอง ลำพังคนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ทั้งหมด หากไม่ทำหน้าที่แล้วมีแต่เรียกร้องก็จะมีปัญหา มีหน้าที่แต่ไม่ทำ ไปเรียกร้องให้คนอื่นทำแต่ตัวเองไม่ทำก็มีปัญหาเหมือนกัน

เมื่อถามว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของบ้านเมืองตอนนี้ การเปลี่ยนฝ่ายบริหารถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตนให้ความเห็นไปแล้วว่าแต่ละฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเอง ปัญหาบ้านเมืองเป็นของคู่กันเสมอ ไม่มากก็น้อย อย่าไปแปลกใจ ดังนั้นจะต้องมีรัฐบาล ข้าราชการ ต้องมีแต่ละฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบในภารกิจของแต่ละฝ่าย โครงสร้างบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ จึงต้องตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและบริหารบ้านเมือง เพราะกลุ่มเดียวทำไม่ได้ จึงต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายบริหาร

หากพิจารณาอย่างถ่องแท้ก็เห็นว่า แต่ละองค์กรต่างกำหนดหน้าที่ของแต่ละองค์กร เพื่อให้สมประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แสดงให้เห็นว่าทุกองค์กรมีบทบาทภารกิจของตนเองเพื่อจะได้แก้ปัญหาของตนเองให้สมบูรณ์ขึ้น ดังนั้นความสมดุลของปัญหาที่แต่ละองค์กรต้องปฏิบัติจึงมีส่วนสำคัญมาก