ต้องเริ่มวันนี้! “ชัชชาติ” ชี้รัฐไทยไม่พึ่งทุนทางสังคมช่วงวิกฤตโควิด ลั่นถึงเวลาต้องให้เพิ่มอำนาจประชาชน

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและว่าที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาเล่าถึงพลังของชุมชนในการรับมือโควิด ในยามที่รัฐแก้ไขอย่างไม่มีประสิทธิภาพว่า

เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ตอนที่โควิดเริ่มระบาดทั่วโลกใหม่ๆ ผมได้ฟังรายการ CNBC สัมภาษณ์คุณหมอ Vivian Balakrishnan รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ ท่านได้กล่าวไว้ว่า

“จริงๆแล้ว โควิด 19 นี้ เป็นบททดสอบของทุกประเทศสำหรับคุณภาพของสามองค์ประกอบสำคัญ

1. ระบบสาธารณสุข

2. มาตรฐานของการบริหารของภาครัฐ

3. ความเข้มแข็งของทุนทางสังคม (Social Capital)

ถ้าหนึ่งในสามขานี้มีความอ่อนแอ มันจะถูกเปิดเผยออกมาโดยไม่ปรานี จากเหตุการณ์โรคระบาดนี้”

ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ท่านได้พูดไว้ แต่พอเวลาผ่านไปจึงได้เห็นความสำคัญของทั้งสามองค์ประกอบที่มีผลต่อการรับมือโควิดครั้งนี้

สำหรับข้อ 1 ระบบสาธารณสุข และข้อ 2 มาตรฐานการบริหารของภาครัฐนั้น เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของทางฝ่ายรัฐ ซึ่งความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลวนั้น พวกเราแต่ละคนคงมีคำตอบของตัวเองกันอยู่ในใจแล้ว

สำหรับผมแล้ว ตลอดเวลาสองปีที่ได้ลงสัมผัสกับชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่ก่อนโควิด ผมคิดว่าองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยประคองเราในวิกฤติครั้งนี้คือ ข้อ 3 ทุนทางสังคม (Social Capital) ซึ่งความหมายของทุนทางสังคม คือ เครือข่ายของประชาชน เอกชน ที่มีความผูกพันกัน ช่วยเหลือดูแลกัน มีค่านิยมร่วมกัน มีความไว้วางใจซี่งกันและกัน และร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม (และของตัวเองด้วย)

เราจะเห็นชุมชนหลายๆแห่ง ที่รวมตัวกันช่วยเหลือกัน เช่น มูลนิธิดวงประทีป กลุ่มคลองเตยดีจัง กลุ่มเส้นด้าย กลุ่มต้องรอด กลุ่มผีเสื้อเพื่อลมหายใจ กลุ่มลูกหลานคลองเตย หรือ ชุมชนทาง social media เช่น เพจ Drama-addict หมอแล็บแพนด้า และเราเห็นเอกชนหลายๆแห่งที่ลงมาช่วยดูแลชุมชนต่างๆโดยไม่ได้ผ่านภาครัฐ

พลังของทุนทางสังคมนี้มีมหาศาล เพราะเขาเข้าใจบริบทของชุมชนโดยละเอียด รู้ว่าใครลำบาก รู้ว่าคนป่วยอยู่ที่ไหน รู้ว่าใครแปลกหน้าเข้ามาในชุมชน ซึ่งพลังตรงนี้เป็นพลังที่อยู่ในระยะยาว ผมพูดกับชุมชนเสมอว่า รัฐบาลมาแล้วก็ไป ผู้ว่าฯมาแล้วก็ไป ผอ.เขตมาแล้วก็ไป แต่พวกเราอยู่ในชุมชน เราอยู่กันตลอดชีวิต เมืองจะดีได้ ชุมชนต้องเข้มแข็ง ทุนทางสังคมต้องเข้มแข็ง

ปัญหาที่เราเจอในเหตุการณ์โควิดครั้งนี้คือ ภาครัฐยังไม่ค่อยได้อาศัยประโยชน์จากทุนทางสังคมนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ Mindset ที่คิดว่า รัฐคือผู้ปกครอง ประชาชนเหมือนเด็ก รอคอยรับสิ่งที่รัฐจะมอบให้ รัฐเหมือนจะไม่ไว้ใจประชาชน เพราะคิดว่าไม่มีความเข้าใจในปัญหา รัฐจึงต้องเป็นผู้เตรียมทุกอย่างให้ ทั้งๆที่รัฐเองก็ไม่มีกำลังที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้เต็มที่ เช่น

– รัฐรับผิดชอบในการควบคุมการตรวจโควิดเอง ตอนแรกไม่อนุญาตให้มีการทำ Antigen Rapid Test ทั้งๆที่มีภาคเอกชนจำนวนมากพร้อมจะช่วยในส่วนนี้ ทำให้เกิดคอขวดในการตรวจอย่างที่เราเห็นคนไปรอกันข้ามคืน

– รัฐไม่ได้สนับสนุนให้ชุมชนหรือ เอกชน จัดตั้งศูนย์พักคอยกันเอง เพื่อดึงคนป่วยออกจากชุมชน โดยให้เหตุผลว่าติด พรบ.ควบคุมโรคติดต่อและอาจจะกังวลว่าไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ชุมชนต้องพยายามหาทางกักตัวกันเองในชุมชน ซึ่งทำให้สถานการณ์แย่ขึ้น

– รัฐไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) มาตั้งแต่ต้น ดึงทุกคนเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล ทำให้พอถึงเวลาต้องกักตัวที่บ้าน คนไม่มั่นใจเพราะคิดว่าผู้ป่วยต้องไปโรงพยาบาลทุกคน

– รัฐให้ความสำคัญเรื่องการแจกเงินช่วยเหลือซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น แต่ยังไม่ได้คิดเรื่องสร้างงาน สร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น การแจกเงินไม่ได้ช่วยทุนทางสังคมเพราะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไม่ใช่เครือข่ายของประชาชน

– การแก้ปัญหาต่างๆ รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่กำลังคนไม่พอ ทำให้หลายๆครั้งเกิดคอขวดในข้อจำกัดของภาครัฐ ทั้งด้านกำลังคน และทรัพยากร

ผมคิดว่าหัวใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการให้อำนาจ (Empower) ประชาชน ไว้ใจประชาชน อย่าไปกลัวว่าประชาชนไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้ เดี๋ยวจะมีการทุจริต เพราะเรื่องนี้คือชีวิต คือความเป็นความตายของเขา เขาเข้าใจความเป็นไปในสนามรบโควิดดีกว่าภาครัฐ ต้องเอาประชาชนมาเป็นแนวร่วม เอาประชาชนมาเป็นทุนในการแก้ปัญหา ไม่ใช่มองว่าประชาชนเป็นภาระ ยกตัวอย่างโครงการง่ายๆที่จะทำได้ทันที

– ชุมชนที่เดือดร้อน ให้งบประมาณจัดทำครัวกลาง เพื่อให้ชาวบ้านทำอาหารดูแลกันเอง ประหยัดกว่าแจกเงินให้ชาวบ้าน และช่วยเรื่องการลดการออกจากบ้าน (ตอนนี้ชาวบ้านต้องขอบริจาคเพื่อทำครัวกลาง)

– จ้างคนในชุมชนในการดูแลผู้เปราะบาง ผู้กักตัว ส่งอาหาร ทำอาหาร ช่วยเรื่อง Social Distancing แทนที่จะแจกเงินฟรีอย่างเดียว จ้างงานคนในชุมชนเพื่อช่วยดูแลคนที่เปราะบาง ช่วยดูแลการกักตัว

– จ้างรถและคนขับในชุมชนที่มีความเหมาะสมในการขนย้ายผู้ป่วย ช่วยด้านอุปกรณ์ ให้ความรู้ที่ถูกต้อง

– ให้งบประมาณในการจัดตั้งศูนย์กักตัวในชุมชน (Community Isolation) พร้อมทั้งให้อุปกรณ์ เพื่อลดการแพร่เชื้อจากกักตัวในบ้าน

– ให้อุปกรณ์การตรวจสอบ Antigen Rapid Test กับชุมชนในการตรวจคัดกรองคนในชุมชน ถ้ามีความเสี่ยงค่อยส่ง Swab ต่อไป

– จ้างคนในชุมชน นักศึกษาจบใหม่ ในการทำข้อมูลของชุมชน จำนวนผู้ป่วย ผู้ตกค้าง ส่งเข้าระบบส่วนกลาง ทำให้สามารถเห็นภาพรวมได้อย่างตรงความจริงแบบ Real Time

– ทำฐานข้อมูลต่างๆให้ชัดเจน บอกประชาชนให้เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง

ให้ชุมชมดูแลกันเอง ทำ Social Distanceโดยมีทรัพยากรที่เพียงพอให้เขา ผมเชื่อว่าไม่ได้ใช้งบประมาณมาก ยกตัวอย่าง ชุมชนใน กทม.มี 2,000 แห่ง สมมติว่าใช้งบประมาณชุมชนละ 1 ล้านบาท ก็ 2,000 ล้านบาท ไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับงบประมาณในการแก้ปัญหาโควิดครั้งนี้ และ เมื่อเหตุการณ์โควิดผ่านไป ทุนทางสังคม เครือข่ายที่เราสร้างขึ้นเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่

สร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง ให้เขายืนด้วยตัวเองได้ ให้อำนาจ (Empower) หาแนวร่วมจากทุนทางสังคมที่เรามีอยู่มหาศาลนี้ จะช่วยทำให้เรารับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ดีขึ้น และควรเริ่มตั้งแต่วันนี้แล้วครับ