อาจารย์แพทย์ โรคปอดในสหรัฐ แนะวิธีปฏิบัติกรณีโควิดลงปอด แต่รพ.ไม่มีเตียง

อาจารย์แพทย์ โรคปอดในสหรัฐ แนะวิธีปฏิบัติ หากโควิดลงปอด แต่ไม่มีเตียงรักษาที่โรงพยาบาล เตือนอย่าล็อกประตู-ให้ติดต่อญาติบ่อยๆเพื่อแจ้งอาการ

วันที่ 11 ก.ค.64 นพ.ธนีย์ ธนียวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่คลิปยูทูบ ให้คำแนะนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่เชื้อลงปอดและอยู่ระหว่างรอเตียงโรงพยาบาล ความว่า

1.ถ้ามีอาการเหนื่อยให้สงสัยว่าโควิดลงปอดไว้ก่อน สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าเหนื่อย ให้ลองเดินไปมา ลุกยืนจากท่านั่งสักสามครั้ง หรือกลั้นหายใจสัก 10-15 วินาที ถ้าทำแล้วเหนื่อย ก็แสดงว่าเหนื่อยจริงๆ ถ้าคนที่มีเครื่องวัดออกซิเจนแล้วเจอออกซิเจนต่ำกว่า 94% ลงไป ก็ถือว่าโควิดน่าจะลงปอด ให้ทำในข้ออื่นๆ ด้วย

2.นอนคว่ำ อย่าเดินไปมามากถ้าเหนื่อย ถ้านอนคว่ำไม่ได้ให้นอนตะแคง สำหรับคนท้องให้นอนตะแคงเอาด้านซ้ายลง

3.พยายามขยับขาบ่อยๆ ถ้านอน เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

4.ทานอาหารให้พอ ถ้าทานไม่ได้ให้ทานน้ำประมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวัน ทานมากไปก็ไม่ดี ถ้าทานอาหารไม่ได้เลยควรทานน้ำเกลือแร่ เช่น ที่ใช้เวลาท้องเสีย น้ำเกลือแร่ที่ทานเวลาออกกำลังกาย ถ้าไม่มีให้ผสมเกลือสักช้อนชานึงกับน้ำตาลลงในน้ำแล้วดื่มได้

5.ทานยาประจำตัวสม่ำเสมอ อย่าขาด กรณีที่เป็นเบาหวานควรตรวจน้ำตาลบ่อยๆ ถ้าต่ำควรงดอินซูลิน หรือยาทาน ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรวัดความดันบ่อยๆ ถ้าต่ำเช่น 90/60 ควรงดยา ถ้าทานยาขับปัสสาวะอยู่และทานน้ำไม่ได้ ให้งดยาไปก่อน

6.เตรียมยาพาราเซตามอล ไทลินอล ไว้ทานเวลามีไข้ อย่าทานยากลุ่มอื่นโดยเฉพาะ NSAID เช่น ibuprofen, naproxen, mefenamic acid (ponstan), diclofenac (voltaren) เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ถ้าแพ้ยาพาราให้เช็ดตัวเอา ถ้าจะทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ก็ทานตามที่กำหนดที่ข้างฉลาก อย่าทานเกิน ท่านที่มีโรคตับห้ามทานเพราะอาจทำให้ตับวาย

7.ถ้าเหนื่อยมาก อย่าไปเข้าห้องน้ำ เพราะการเบ่งถ่าย และลุกนั่งอาจทำให้เป็นลมหมดสติ หัวใจหยุดเต้นได้ ควรเข้าที่ข้างเตียงเลยดีที่สุด ใช้กระโถน กระดาษ หรืออะไรที่หาได้ …ถ้าจะเข้าห้องน้ำ

อย่าล็อกประตูเด็ดขาด และควรบอกคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย มีหลายรายที่เหนื่อยแล้วไปเข้าห้องน้ำ จากนั้นเป็นลม หัวใจหยุดเต้นครับ ท่านที่ท้องผูก ให้ทานยาระบาย ทานน้ำมากๆ การเบ่งอุจจาระจะทำให้หน้ามืดได้ในกรณีที่ออกซิเจนต่ำ

8.หมั่นติดต่อกับครอบครัว ญาติ เพื่อนๆ เพื่อแจ้งอาการสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ นพ.ธนีย์ ธนียวัน ยังได้แนะนำวิธีการนอนคว่ำ เพราะมีประโยชน์ทำให้ปอด 2 ใน 3 ของเราไม่ถูกกดทับ พร้อมแนะนำวิธีนอนคว่ำ โดยใช้หมอนวางไว้ใต้ตัว แล้วนอนคว่ำลงไป ซึ่งเป็นวิธีที่มีประโยชน์มาก หรือหากไม่สามารถนอนคว่ำได้ด้วยสรีระของร่างกาย แนะนำให้นอนตะแคงลงไป หรือนอนเฉียงลงไป ส่วนคนตั้งครรภ์แนะนำให้นอนตะแคงด้านซ้าย เพื่อให้เลือดไหวเวียนสะดวก