ศุลกากร-สรรพากรแจง ยกเว้นภาษีวัคซีนทางเลือก

ศุลกากร ยกเว้นเก็บภาษีนำเข้า วัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ ถึง มี.ค.65 สรรพากรแจงด้วย เข้าใจคลาดเคลื่อน ยันได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

จากกระแสข่าวบนโลกออนไลน์ที่มีการนำเสนอเรื่องวัคซีนทางเลือกอย่างโมเดอร์น่า ที่มีการระบุราคาต้นทุนโดสละไม่ถึงพันบาท แต่ถูกบวกเพิ่มจากภาษีจนกลายเป็นราคาที่ตั้งในโควต้าวัคซีนในโรงพยาบาลเอกชนจนกลายเป็นประเด็นอย่างกว้างขวางนั้น

ล่าสุดนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขอยืนยันว่ากรมศุลฯ ไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าวัคซีนทุกประเภทตามที่มีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ โดยปัจจุบันการนำเข้าวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ทั้งหมดอยู่แล้ว จะเหลือเพียงแค่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ 7% เพียงอย่างเดียว ดังนั้นข่าวลือที่ออกมาว่ารัฐบาลมีการเรียกเก็บภาษีวัคซีนโมเดอร์นารวมแล้วสูงนับร้อยเปอร์เซนต์จึงไม่เป็นความจริง

นายพชร กล่าวว่า ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มติเห็นชอบให้ขยายเวลายกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาใช้ในการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียอากรนำเข้าจนถึงเดือนมีนาคม 2565 แต่ยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่

ด้านรายงานข่าวจากกรมสรรพากรแจ้งว่า กระแสข่าวการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าวัคซีนทางเลือกของบริษัทเอกชน ถึง 2 เด้ง รวมเป็น 14% นั้นไม่ใช่ความจริง และเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริงการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถใช้ภาษีขายมาหักภาษีซื้อได้ โดยหากผู้นำเข้าวัคซีนนำเข้าวัคซีนมาในราคา 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า 7% คิดเป็นภาษีซื้อ 7 บาท ซึ่งในส่วนนี้สามารถขอคืนหรือเอาไปหักออกจากภาษีขายได้ด้วย ดังนั้นหากนำเข้ามาแล้ว ขายต่อโดยไม่คิดกำไร ก็จะขอคืนแวทได้ทั้งหมด แต่หากนำเข้ามาแล้วขายทำกำไรก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าวัคซีนได้นำเข้าวัคซีนมาในราคา 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า 7% คิดเป็นภาษีซื้อ 7 บาท ซึ่งในส่วนของภาษีซื้อนี้ สามารถขอคืนหรือเอาไปหักออกจากภาษีขายได้ ดังนั้นเมื่อผู้นำเข้าขายวัคซีนออกไปในราคา 100 บาทเช่นกันโดยไม่มีการคิดกำไรเพิ่ม ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีขายที่ 7% หรือ 7 บาท ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณตามหลักภาษีมูลค่าเพิ่ม คือภาษีขาย 7 บาท หักด้วยภาษีซื้อ 7 บาท จะเท่ากับ 0 บาท ดังนั้น ข่าวที่ว่าเสียภาษี 2 เด้ง ภาษีซื้อ 7 บาท บวกภาษีขายอีก 7 บาท รวมเป็น 14 บาท จึงไม่ถูกต้อง

เช่นเดียวกับ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องที่ประชาชน ต้องแบกรับภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการที่จะต้องถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ว่า อาจจะเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับสาธารณชน กฎหมายกำหนดไว้ ตามมาตรา81(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชน จึงได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โรงพยาบาลเอกชน จึงไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากวัคซีนทางเลือก ที่ให้บริการแก่ประชาชนได้ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีภาษีซื้อที่เกิดจากต้นทุนการซื้อ สามารถนำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามปกติ ซึ่งกรมสรรพากร จะรีบดำเนินการคืนให้โดยรวดเร็ว สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลของโรงพยาบาลเอกชน หากโรงพยาบาลเอกชนมีกำไรจากการประกอบการ ก็เป็นหน้าที่ปกติของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จะต้องเสียภาษีเงินได้จากกำไรเช่นเดียวกับผู้ประกอบการอื่น ๆ