‘หมอโอภาส’ ชี้ บันทึกประชุม “ไฟเซอร์” ไม่ใช่เอกสารหลุด เป็นของไม่จริง ชี้แค่ความเห็น ลั่นไม่ได้เข้าประชุม?

จากกรณี เอกสารการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ซึ่งพบว่า มีการระบุความคิดเห็น จากคณะกรรมการในการสรุปประชุม ซึ่งหนึ่งในข้อคิดเห็นที่กลายเป็นประเด็นจุดเดือดสังคมและบุคลากรทางการแพทย์ที่ระบุ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า) แสดงว่าเรายอมรับว่า ซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและเกิดกระแสเรียกร้องทั้งสังคมให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 กับบุคลากรทางการแพทย์ นั้น

วันที่ 5 ก.ค. เมื่อเวลา 11.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารฉบับจริงของที่ประชุม โดยวันนั้นเป็นการประชุมวิชาการ มี 3 คณะ คือ คณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ใน พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการวิจัยและวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งคนเข้าร่วมประชุมค่อนข้างมาก มีทั้งในห้องประชุม และประชุมผ่านออนไลน์ โดยต้องการความเห็นที่หลากหลาย แต่ทั้งหมดเน้นเรื่องวิชาการ เกี่ยวกับวัคซีนต่างๆ รวมทั้งไฟเซอร์ว่าควรต้องฉีดอย่างไรต่อไป เพราะความรู้ใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงเร็ว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลไกลการทำงาน คือ เมื่อคณะชุดนี้ทำเสร็จ ต้องเสนอต่อคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ต่อไป เพราะเป็นเรื่องวิชาการ ทั้งคณะกรรมการวิชาการ ต้องเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบให้เป็นข้อสั่งการ ส่วนคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคก็ต้องเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติต่อไป ส่วนคณะที่สามก็ต้องเสนอคณะกรรมการด้านการจัดการวัคซีน เมื่อคณะที่เป็นทางการ เพื่อทราบและเห็นชอบก็จะเสนอ ศบค.เห็นชอบต่อไป

“ส่วนเอกสารการประชุมที่มีการเผยแพร่ออกไปนั้น ไม่เรียกว่าเอกสารหลุด แต่เป็นเอกสารที่ไม่จริง เพราะคนเขียนสรุปไม่ใช่ฝ่ายเลขาของคณะกรรมการการประชุมนั้นๆ เขียนแบบอ่านเอาเอง ไม่มีแพตเทิร์นทางการ ไม่ใช่เอกสารที่หลุด แต่เป็นเอกสารที่ไม่จริง ส่วนที่ในการประชุมที่มีการเสนอความคิดเห็น อย่างไรเสียไม่มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ปกติการประชุมวิชาการก็จะมีความคิดเห็นหลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อสรุป คนเข้าร่วมก็แสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่ใช่ข้อสรุปของที่ประชุม จึงต้องดูบริบทว่า เขาพูดอะไร การเอาคำใดคำหนึ่งไปโค้ทอย่างเดียว ถือว่าไม่เป็นธรรม แต่การประชุมวันนั้น ตนก็ไม่ได้เข้าประชุม จึงไม่ทราบว่ามีการพูดอะไร อย่างไร แต่โดยมารยาทก็ไม่ควรพูด แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่เอกสารหลุด แต่ไม่จริงเลย

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวที่นพ.โอกาสระบุไม่ได้เข้าร่วมประชุมนั้น จากการตรวจสอบทั้งเอกสารการประชุมที่หลุดออกมาและเทียบกับภาพที่เฟซบุ๊กแฟนเพจของ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ออกมาเผยแพร่ภาพชุดการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 21/2564 ณ ห้องประชุมชม เทพยสุวรรณ ชั้น 5 อาคาร 3 กรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ในจำนวนภาพ 42 ใบ มีภาพที่ตรงจอมอนิเตอร์การประชุมแสดงภาพกราฟฟิกข้อมูลวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งตรงกับเอกสารหน้าแรกที่หลุดออกมา และที่สำคัญ มีนพ.โอกาสนั่งหัวโต๊ะในการประชุมวันดังกล่าวด้วย

ภาพการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน บนจอมิเตอร์ (วงกลมสีแดง) แสดงภาพตรงกับเอกสารหน้าที่ 1 ของสรุปการประชุมที่หลุดออกมา
ภาพวันที่ 30 มิถุนายน นพ.โอภาส (วงกลมสีแดง) เข้าร่วมประชุมวันดังกล่าวด้วย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า สำหรับข้อสรุปของวัคซีนที่ไทยใช้ได้ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ ซึ่งเราเอามาใช้ต้นปีที่ผ่านมา ก็ควบคุมสถานการณ์ที่สมุทรสาคร และลดการติดเชื้อได้ แม้แต่ภูเก็ตก็ลดได้ 80-90% ส่วนเชียงรายก็เช่นกัน พบว่า บุคลากรที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบถ้วนก็มีประสิทธิผลป้องกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม โควิดมีการกลายพันธุ์ตลอด ภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามข้อมูล

เมื่อถามว่ากรณีไฟเซอร์ที่จะได้รับการบริจาค 1.5 ล้านยังไม่มีข้อสรุปการบริหารจัดการฉีดให้กลุ่มไหนใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการสรุปเป็นทางการว่าจะส่งให้ไทย เมื่อไหร่ อย่างไร ก็ต้องติดตามกันก่อน ต้องเอาข้อมูลมาประมวลก่อนและจะมาบริหารจัดการอีกที เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

เมื่อถามว่า มีแพทย์กลุ่มหนึ่งขอให้นำวัคซีนไฟเซอร์ที่จะบริจาคมาให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อกระตุ้นเข็มที่ 3 นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นความเห็นที่เรารับฟัง แต่ยังไม่ทราบว่า สหรัฐจะบริจาคเท่าไหร่ เมื่อไหร่ แต่มีกรอบสั้นๆว่าจะมาเดือนนี้

เมื่อถามว่าบุคลากรสาธารณสุขยังกังวลเรื่องกระตุ้นเข็ม 3 ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร เพราะขณะนี้หลายคนรู้สึกขาดขวัญกำลังใจมาก นพ.โอภาส กล่าวว่า ทางท่านรองนายกฯ รมว.สธ. และท่านปลัดสธ.ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดว่า ส่วนไหนจะมีความปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด ขอให้บุคลากรมั่นใจว่า ทางกระทรวงฯ จะจัดหาสิ่งที่ปลอดภัยทั้งหมดให้

เมื่อถามว่ากรณีการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม แล้วหากกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA จะมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องวัคซีนเราสนใจเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ซึ่งประสิทธิภาพวัดได้หลายอย่าง เช่น ผลแล็บในห้องทดลอง แต่ผลแล็บกับความจริงก็แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ผลแล็บก็คล้ายๆเฟสสอง แต่หากทดลองประชากรกลุ่มไม่มากถือเป็นเฟสสาม และเมื่อผ่านก็จะนำไปสู่ประชาชนกลุ่มมากขึ้น

แต่ส่วนใหญ่เรามักเอาผลทางแล็บมาอิงกับผลจริง แต่ผลจริงถือเป็นข้อมูลสำคัญ ส่วนความปลอดภัยของวัคซีน อย่างที่ทราบขณะนี้วัคซีนใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงไม่มีใครทราบผลระยะยาว อย่างบางยี่ห้อที่เป็น mRNA มีประสิทธิภาพดีมาก แต่ใช้ไประยะหนึ่งก็พบว่า ในคนหนุ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจำนวนหลายพันราย ซึ่งข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนรายสัปดาห์ รายวัน จึงต้องเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า อันไหนเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด