‘วิโรจน์’ จี้รบ.ทวงวัคซีนแอสตร้าฯ หลังส่งไม่ครบ อัดสั่งแต่ซิโนแวค ทั้งที่เชื้อพันธุ์ใหม่ระบาด

‘วิโรจน์’ จี้รัฐบาลทวงวัคซีนแอสตร้าฯ หลังส่งไม่ครบ อัดสั่งแต่ซิโนแวค ทั้งที่เชื้อพันธุ์ใหม่ระบาด ซัดหละหลวมเอาภาษี 600 ร้อยล้านบาท หนุนทำวัคซีน แต่ไม่ระบุจำนวนส่งให้ชัด

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 ที่อาคาร URMENA หัวหมาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกล กล่าวถึงข้อสั่งการถึงรัฐบาลในการบริหารจัดการวัคซีนและการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ว่า สำหรับการส่งมอบวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าที่มีกำหนดต้องส่งมอบในเดือน มิ.ย. ที่ 6,333,000 โดส จากข้อมูลที่ปรากฏในระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่ามีการส่งมอบเพียง 5,371,100 โดส เท่านั้น ยังขาดการส่งมอบอีก 961,900 โดส

“ซึ่งยอดที่ขาดส่งนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องไปเร่งติดตามมาให้ได้ เพราะนี่หมายถึงเกือบ 1 ล้านชีวิตของประชาชนคนไทย ซึ่งจากขีดความสามารถในการฉีดที่โรงพยาบาลต่างๆ ทำได้ 961,900 โดส นั้นใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน เท่านั้น ก็จะช่วยชีวิตประชาชนคนไทยเกือบ 1 ล้านคน ให้ปลอดภัยได้”

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ที่น่ากังวลคือตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป แอสตร้าเซนเนก้า ไทยแลนด์ จะเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ โดย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต จะสำรองไว้ให้กับประเทศไทย นั่นหมายความว่าจากกำลังการผลิต 180-200 ล้านโดสต่อปี หรือ 15-17 ล้านโดสต่อเดือน แอสตร้าเซนเนก้า ไทยแลนด์ จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น

ซึ่งไม่ตรงตามแผนการจัดหาวัคซีนที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 20 เม.ย.64 ที่เว็บไซต์ของรัฐบาลไทย เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 เพจไทยคู่ฟ้า หรือ เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ระบุตรงกันว่าในเดือน มิ.ย. จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 6.3 ล้านโดส ก.ค.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส และ ธ.ค. อีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ซึ่งแผนนี้เท่ากับว่า แอสตร้าเซนเนก้าไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามแผนการส่งมอบที่รัฐบาลกำหนดได้แน่ๆ

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ต่อมาในวันที่ 2 ก.ค. ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็ได้ออกมายอมรับแล้วว่า แอสตร้าเซนเนก้า ไทยแลนด์ คงไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้เดือนละ 10 ล้านโดส ได้ โดยระบุว่าสัญญาจัดซื้อไม่ได้ระบุจำนวน โดยกำหนดกรอบคร่าวๆ ไว้ที่ 61 ล้านโดสต่อปีเท่านั้น โดยกรมควบคุมโรคได้ส่งเพียงแค่แผนการจัดฉีดวัคซีนให้แอสตร้าเซนเนก้า ไทยแลนด์ รับทราบที่เดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้ปฏิเสธ คงต้องตั้งคำถามว่า ถ้ารัฐบาลไปทำสัญญาเช่นว่านี้จริง ก็ถือว่าเป็นความหละหลวมใหญ่หลวงมาก สัญญาอะไรเพียงแต่กำหนดกรอบตัวเลขคร่าวๆ แล้วอย่างนี้จะวางแผนการฉีดวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ประชาชนจดจำได้ว่า รัฐบาลไทยอุดหนุนเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัสให้กับประเทศไทย โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ระบุไว้ชัดว่า “… เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนความต้องการ … และวัคซีนที่เหลือบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า วางเป้าหมายในการกระจายให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้” ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 63 ก็มีมติ ครม. อนุมัติงบกลางของงบประมาณประจำปี 63 อุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

ดังนั้น พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่า ประเทศไทยจึงมีความชอบธรรมที่จะได้รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ไทยแลนด์ เดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 5-6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้าจึงสามารถนำไปส่งออก การที่แอสตร้าเซนเนก้า ไทยแลนด์ จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5 ล้านโดสต่อเดือน จึงเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน 600 ล้านบาท

“คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับแอสตร้าเซนเนก้า ไทยแลนด์ ว่ามีเงื่อนไขนี้บรรจุอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีก็เท่ากับว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชน 600 ล้านบาท ไปอุดหนุนเอกชน โดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขตามที่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบ ซึ่งหากไม่สามารถชี้แจงได้ ก็อาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง”

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่าน รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่า สถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับเชื้อสายพันธุ์เดลตา มีการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน เชื่อว่าเชื้อสายพันธุ์เดลตา จะเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักในการระบาดในที่สุด เนื่องจากมีอัตราการแพร่ระบาดที่เร็วกว่าเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 40% และปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในพื้นที่ กทม. แล้วถึง 70% และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในพื้นที่ กทม. ในเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้

“ที่น่ากังวลไปกว่านั้นก็คือ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียที่ระบุว่า เชื้อสายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่จากคนสู่คน โดยใช้เวลาเพียงแค่ 10 วินาที เท่านั้น แทนที่รัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ รัฐบาลกลับยังคงยืนกรานที่จะจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ทั้งๆ ที่มีกรณีตัวอย่างให้เห็นที่ประเทศชิลี ตุรกี ที่ฉีดวัคซีนให้กับประชากรเป็นสัดส่วนที่มากพอสมควรแล้ว โดยวัคซีนที่ฉีดเป็นหลักคือซิโนแวค แต่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้”

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ไม่ใช่ว่าเหตุการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด ทั้งๆ ที่ฉีดซิโนแวค ครบ 2 เข็ม จะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ตัวอย่างก็มีให้เห็น เจอกับตัวก็โดนมาแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจึงดึงดันที่จะจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 28 ล้านโดส ซึ่งหากพิจารณาราคาก็ไม่ใช่ว่าจะถูก จากราคาที่เคยเปิดเผยผ่านสื่อคือ 549.01 บาท จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64 ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนซิโนแวค 500,000 โดส วงเงินรวม 290.24 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าวัคซีน 271.25 ล้านบาท และเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 18.99 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในการฉีดวัคซีน 31.36 ล้านบาท นั่นหมายความว่า วัคซีน 1 โดส จะต้องใช้งบประมาณเท่ากับ 643.2 บาท (รวม VAT)

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยจัดหาวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 19.5 ล้านโดส โดยรับบริจาคจากประเทศจีนมา 1 ล้านโดส มีมติ ครม. เพียง 2.5 ล้านโดส ที่เหลือ 16 ล้านโดส คาดว่าใช้งบประมาณ 10,291 ล้านบาท ไม่ปรากฏมติ ครม. ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมติลับ ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลับ ทำไมถึงเปิดเผยให้ประชาชนทราบไม่ได้ หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องราคาวัคซีน ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ ว่าราคาวัคซีนซิโนแวคที่รัฐบาลไทยซื้อ อาจจะมีราคาแพงกว่าประเทศอื่น

“ในประเด็นนี้รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงว่า ราคาที่แท้จริงของซิโนแวคคือโดสละเท่าไหร่ แพงกว่าที่ประเทศอื่นซื้อหรือไม่ เพราะเหตุใด วันนี้คำถามที่ก้องอยู่ในหัวใจของประชาชนในตอนนี้ ก็คือทำไมการสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นทำไมไม่เร็วเหมือนกับวัคซีนซิโนแวคที่เหมือนไม่มีการติดขัดใดๆ เลย ทุกอย่างผ่านฉลุย ล่าสุดเลขาฯ สมช. ก็ยังออกมายืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคยังคงเป็นวัคซีนที่เหมาะสมกับสภาพเวลานี้ โดยไม่ได้สนใจคำท้วงติงใดๆ จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเลย”

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่สามารถอ้างได้ว่าความล่าช้านั้นเกิดจากการที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน เพราะกรณีของวัคซีนซิโนฟาร์มยังสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วได้ หากนับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. ที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถนำเข้าวัคซีนได้เอง วันที่ 25 มิ.ย. ก็สามารถเริ่มฉีดได้แล้ว ใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ประชาชนก็ได้ฉีดวัคซีนแล้ว

“นี่จึงสะท้อนว่า ถ้าจะเร่งรัดให้เร็วก็ทำได้ แต่รัฐบาลเลือกที่จะละเลยไม่ทำเอง ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากอยู่ทุกวัน ทั้งหมดล้วนมาจากความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ภายใต้ความไร้สติปัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น”

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสั่งการ พร้อมกับเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งดำเนินการ ตามที่ได้สั่งการไว้ ดังต่อไปนี้ 1.การบริหารจัดการวัคซีน 1.1 ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน พ.ศ. 2561 ในการบังคับให้ AstraZeneca Thailand ส่งมอบวัคซีนให้เป็นไปตามแผนการส่งมอบเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท

1.2 ให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ในการพยายามอย่างสูงสุด เร็วที่สุด ในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเซ็นสัญญาเพื่อจัดหาวัคซีน mRNA ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน พร้อมกับเปิดสัญญาให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบ

1.3 ยุติการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจนกว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ที่ยืนยันในประสิทธิภาพ, 1.4 เปิดเผยสัญญา และเงื่อนไขข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีน ที่รัฐบาลได้ทำไว้กับ AstraZeneca Thailand และ ซิโนแวค ตลอดจนมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งหมด

1.5 ให้รัฐบาลเร่งจัดฉีดวัคซีนเสริมภูมิให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า, 1.6 เร่งปรับปรุงระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีน ให้เชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูล MOPH IC ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับปรับปรุงสูตรในการกระจายวัคซีนใหม่

2.การบริหารจัดการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของระบบสาธารณสุข และการดูแลชีวิตของประชาชน
2.1 มาตรการการกักตัวรักษาตนเอง ที่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการไปก่อนหน้านี้หลายครั้ง ยังคงต้องเน้นย้ำให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ 2.2 พิจารณาอนุญาตให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังไม่ครบระยะเวลา 14 วัน แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเบาบาง ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขที่สามารถกักตัวรักษาตนเองได้ ให้กักตัวรักษาตนเอง

3.รัฐบาลควรเร่งตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test พร้อมกับอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย.

4.การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้านั้นมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง รัฐบาลจะต้องเยียวยาให้กับประชาชนทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบอย่างเป็นธรรม ด้วยเงินสด แบบถ้วนหน้า

5.ให้รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ในการล็อกดาวน์ และผ่อนคลาย โดยคำนึงถึงสถานการณ์การติดเชื้อ และขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ แบบเป็นขั้นบันได จึงขอสั่งการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เร่งไปดำเนินการ