‘ยิ่งลักษณ์’ ชวนย้อนดูประโยชน์ จากนโยบาย ‘แจกแท็บเล็ต’ ก่อนถูก คสช. สั่งยกเลิก

ยิ่งลักษณ์ ชวนย้อนดูประโยชน์ จากนโยบาย ‘แจกแท็บเล็ต’ ก่อนถูก คสช. สั่งยกเลิก แนะรัฐบาลใจกว้าง นำเข้ามาใช้ และลงทุนให้ทุกโรงเรียนมีให้ใช้

วันนี้ (4 ก.ค.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีการเรียนออนไลน์ โดยยกนโยบายของ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เคยทำไว้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วนั่นคือ “นโยบายแท็บเล็ตพีซี” โดระบุว่า “ช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลกรวมถึงในบ้านเรา การปรับตัวเพื่อเรียนออนไลน์จึงมีความจำเป็นเพื่อเน้นความปลอดภัยจากการติดเชื้อและให้การเรียนการสอนของนักเรียนดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด

แท็บเล็ตพีซี จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีในการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการเรียนการสอนในปัจจุบัน โดยพัฒนาให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง รู้จักแสวงหาความรู้ และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง พร้อมกับปรับบทบาทครูเป็นผู้อำนวยการสอนเท่านั้น ดิฉันจึงหวังว่ารัฐบาลจะใจกว้างนำนโยบายแท็บเล็ตพีซีและการเรียนออนไลน์เข้ามาใช้ในสถานศึกษาอย่างจริงจังและลงทุนให้ทุกโรงเรียนของรัฐมีอุปกรณ์การเรียนการสอนทั้งครูผู้สอนและนักเรียนค่ะ”

ทั้งนี้แฟนเพจ THINK คิด เพื่อ ไทย ได้ขยายความนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดดังนี้ การเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์แถลงนโยบายเอาไว้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว!

ในวันที่ 24 สิงหาคม 2554 นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และมีการกล่าวถึงนโยบายที่จะสร้างพื้นฐานในการเรียนออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน และการจัดทําระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานการให้บริการในสถานศึกษาที่กําหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ “1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน (One Tablet PC per Child)” และการจัดทำ “ไซเบอร์โฮม” ที่จะส่งความรู้มายังผู้เรียนโดยระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้าน และการจัดตั้งระบบการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพื่อเร่งยกระดับคุณภาพและการกระจาย โอกาสทางการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ มีการขยายระบบโทรทัศน์เพื่อการศึกษาให้กว้างขวาง และปรับปรุงห้องเรียนนําร่องให้ได้มาตรฐานห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2555 นโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน ก็ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง โดยมีการจัดสรรคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโครงการนำร่อง และในวันที่ 7 มิถุนายน 2555 ในวันพิธีเปิดงานโครงการ “One Tablet PC Per Child” ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการเอาไว้ว่า

“…โครงการนี้ไม่ใช้เป็นโครงการที่แจกแท็บเล็ต แต่เป็นโครงการเติมเต็มภูมิปัญญา ภูมิความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนลูกหลานของเรา ให้มีพัฒนาการนอกเหนือจากการเรียน เพราะเชื่อว่าความรู้มีมากมายรอบตัวเรา อยู่ที่ว่าเราจะไขว่คว้าได้แค่ไหน ดังนั้น โครงการแท็บเล็ตพีซี นี้จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งที่จะพัฒนาเนื้อหาของหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาการเจริญเติบโตทางสมองและพัฒนาการของเด็ก เยาวชน ให้มีความรู้รอบตัวในทุกๆ ด้าน จึงได้มีแท็บเล็ตพีซีนี้ขึ้นมาอย่างไร้ขีดจำกัด และจะเป็นรู้แบบใหม่ที่เกิดขึ้นและเติบโตในอนาคต…”

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็ดำเนินไปได้เพียงแค่ประมาณ 2 ปีก็ต้องเป็นอันยกเลิกไปภายหลังการขึ้นมาสู่อำนาจอันไม่ชอบธรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 หลังการรัฐประหาร ที่ประชุมเพื่อพิจารณาโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำกับดูแลฝ่ายสังคมจิตวิทยาเป็นประธาน ได้มีมติยกเลิกโครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน โดยหนึ่งในเหตุผลที่ให้คือการบอกว่า แท็บเล็ตไม่ควรที่จะถูกนำมาใช้สอนตลอดเวลา

เพียงแค่ 7 ปีภายหลังจากนั้น การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็พิสูจน์ให้เราได้เห็นว่า คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต กลายเป็นหนึ่งในสื่อการเรียนการสอนที่สำคัญไม่ต่างจากกระดานดำหรือดินสอ ถ้าหากโครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน ยังคงมีอยู่จนถึงวันนี้ ภาพของนักเรียนที่ต้องตรากตรำ เสาะแสวงหาอุปกรณ์เรียนออนไลน์ก็คงจะไม่เกิดขึ้น การกระทำของ คสช. ในครั้งนั้น ทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานกลายเป็นสิทธิพิเศษ มีเพียงลูกหลานของครอบครัวที่มีสตางค์พอเท่านั้นที่เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอันควรจะเป็นของทุกคนได้

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การศึกษาไทยก็ยังคงต้องตกอยู่ในความมืดหม่นเพราะพลเรือเอกณรงค์รัฐมนตรีผู้มีวิสัยทัศน์อันมืดบอด ก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต่ออีก 1 ปี และมีผลงานสำคัญคือการผลักดันให้นักเรียนไทยท่องจำค่านิยม 12 ประการเป็นนกแก้วนกขุนทอง

นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2555 คือนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันนี้ ถ้าหากรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ยังคงอยู่ การเรียนออนไลน์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 อาจจะไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่เป็นในปัจจุบัน นักเรียนและครูคงจะคุ้นชินกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการเรียนออนไลน์ ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับตัวมากเท่าใดนัก และเราอาจจะไม่ต้องเห็นข่าวน่าสลดใจนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตัดสินใจผูกคอตายเพราะเครียดจากการเรียนออนไลน์ก็เป็นได้

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงลอยนวลอยู่ในทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ได้รู้สึกรู้สาว่า ตัวเองได้ฉุดคร่าอนาคตของคนหนุ่มสาว ด้วยการปิดโอกาสมิให้พวกเขาได้พัฒนาตนให้ทันการเปลี่ยนแปลงระดับสากล