โฆษกเผย ‘ประยุทธ์’ วางนโยบายเพื่อโปร่งใส ผลประเมิน ‘รัฐบาลดิจิทัลไทย’ สูงลิ่ว

โฆษก รบ. เผยผลประเมินพัฒนา รบ.ดิจิทัลไทย อยู่ในระดับ สูงมาก ผลจาก ‘ประยุทธ์’ วางนโยบายก้าวสู่ รบ.ดิจิทัล เพื่อโปร่งใส-ตรวจสอบได้-เพิ่มความเชื่อใจประชาชน

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้วางแนวนโยบายและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัล ยกระดับความโปร่งใส ตรวจสอบได้หรือการเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงเพิ่มการได้รับความเชื่อใจจากประชาชน (Public Trust)

นายอนุชา กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2020 หรือ UN E-Government Survey 2020 อันประกอบไปด้วยการประเมินระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศต่างๆ ใน 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) และดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ในระดับท้องถิ่น (Local Online Service Index: LOSI)

โดยผลการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี พ.ศ.2563 ไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศ ซึ่งไทยได้รับตำแหน่งที่ดีขึ้นอย่างมาก จากอันดับที่ 73 ในปี 2561 และอันดับที่ 77 ในปี 2559 มีการพัฒนาในด้านการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งองค์การสหประชาชาติจัดไทยให้อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสูงมากโดยหากพิจารณาในรายละเอียดแต่ละด้าน ไทยได้รับคะแนนด้านการให้บริการออนไลน์ (Online Service Index: OSI) และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure Index: TII) เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระดับอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 11 ของโลก) และมาเลเซีย (อันดับที่ 47 ของโลก) ตามลำดับ

นายอนุชา กล่าวว่า ในรายงานดังกล่าวได้เปิดเผยถึง ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) ซึ่งประเมินการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางการทำงานของภาครัฐ ได้แก่ การเปิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น ในการกำหนดนโยบาย ร่างกฎหมาย การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจน การร้องเรียนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 51 ปรับตัวขึ้นมาจากอันดับที่ 82 ในปี 2561 ซึ่งคงเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 6 ของโลก) และมาเลเซีย (อันดับที่ 29 ของโลก) ตามลำดับ

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเข้มข้น โดยได้กำหนดเป็นแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 จึงส่งผลให้ประเทศได้รับการยอมรับและการจัดอันดับที่ดีในเวทีโลก และพร้อมวางแนวทางสู่อนาคตอย่างต่อเนื่อง