วัคซีนโควิด : “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดสเหลือเพียงลงนามสัญญาซื้อ อภ.โบ้ยเอกชนทำจัดซื้อ “โมเดอร์น่า” ล่าช้า

อภ.แจง ไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อ โมเดอร์นา ล่าช้า แต่ต้องรอเอกชนรวมเงิน! ยันหารือทุกปสัปดาห์ ขอร้องบริษัทให้นำเข้าไทยเร็วที่สุด วัคซีนอื่นก็ประสานตลอด ‘กรมควบคุมโรค’ แจงจัดซื้อ ‘ไฟเซอร์’ 20 ล้านโดส เหลือลงนามสัญญาซื้อ รออัยการสูงสุดตรวจเอกสารสัญญา เสร็จวันที่ 5 ก.ค. นำเข้า ครม.ทันที

วันที่ 3 ก.ค.64 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ว่า ก่อนการระบาดใหญ่ อภ.มีการติดต่อกับบริษัทโมเดอร์นาของสหรัฐอเมริกาโดยตรงผ่านทางอีเมล ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2564 เพื่อสั่งจองวัคซีนเป้นไปได้หรือไม่ที่จะได้กลาง มิ.ย. 2564 โดยวันที่ 28 ก.พ. บริษัทตอบกลับมาวัคซีนมีจำกัด และมีความต้องการสูงมาก ไม่สามารถส่งได้ สามารถส่งได้เร็วที่สุดคือไตรมาสแรกของปี 2565

ต่อมาวันที่ 1 เม.ย. อภ.สอบถามโมเดอร์นาว่ามีบริษัทตัวแทนหรือไม่เนื่องจากมีเอกชน 2 รายอ้างว่าสามารถนำเข้ามาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยวันที่ 2 เม.ย. บริษัทโมเดอร์นาตอบว่า ติดต่อกับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เพียงบริษัทเดียวเท่านั้นในฐานะผู้นำเข้า วันที่ 21 เม.ย. มีการตกลงกันว่าวัคซีนโมเดอร์นาจะเป็นวัคซีนทางเลือก

โดยวันที่ 15 พ.ค. บริษัทซิลลิค ประกาศว่า การจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ อภ.ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนภาครัฐมาดำเนินการสั่งซื้อให้ภาคเอกชน

เมื่อถามว่าทำไมถึงช้า เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ไม่ได้จัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ เป็นงบของเอกชน จึงต้องรอให้เอกชนรวบรวมยอด โดยเราทำงานประสานกับสมาคม รพ.เอกชนมาตลอด โดยรพ.เอกชนมีกว่า 300 โรง มีความต้องการกว่า 9 ล้านโดส แต่จากการเจรจาต่อรองบริษัทส่งให้ได้ไตรมาส 4 ปี 2564 ประมาณ 4 ล้านโดส และไตรมาส 1 ปี 2565 ประมาณ 1 ล้านโดส ถือว่าเร็วขึ้นจากการติดต่อครั้งแรกที่ต้องได้ปีหน้า แต่ก็ไม่ได้บอกวันและเดือนชัดเจนว่าเมื่อไร แจ้งเป็นกรอบคร่าวๆ การที่ อภ.ไม่เซ็นสัญญา เพราะต้องรอ รพ.เอกชนรวบรวมเงินมาก่อนถึงไปเซ็นสัญญาได้ เพราะถ้าผมไปเซ็นสัญญาโดยไม่มีเงิน เราคงรับผิดชอบไม่ไหว” นพ.วิฑูรย์กล่าว

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อภ.ตกลงร่วมกับ รพ.เอกชนว่า ให้รวบรวมตัวเลขและงบมาให้ อภ. ภายใน ก.ค.นี้ ซึ่ง อภ.วางแผนเซ็นสัญญาไว้ต้นเดือน ส.ค. ซึ่งสื่อสารให้ทางเอกชนทราบตลอด ส่วนเอกสารมีการร่างไว้หมดแล้ว โดยได้รับเอกสารจากซิลลิค เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ก.ค.

ดังนั้น อภ.ได้ส่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาช่วงบ่ายวันเดียวกัน และบางเรื่องอาจต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ด้วย ถ้าสัญญาเรียบร้อยทางโมเดอร์นาสหรัฐฯ ยืนยันว่า จะส่งให้ไทยได้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่อาจจะเป็นวันที่ 1 ต.ค. หรือ 31 ธ.ค. ก็เป็นได้ทั้งนั้น

เพราะเขากำหนดกรอบมากว้างๆ นอกจากนี้ อภ.มีการติดตามวัคซีนชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น วัคซีนซับยูนิตโปรตีน 2 ราย วัคซีนเชื้อตาย 1 ราย รวมถึง อภ.มีการศึกษาวิจัยวัคซีนเองด้วย ซึ่งผ่านการทดลองในเฟส 1 แล้ว กำลังจะทดสอบเฟส 2 ช่วง ส.ค. นี้

“สำหรับความต้องการวัคซีนโควิด 19 ข้อมูลจากยูนิเซฟพบว่า ปีนี้มีความต้องการ 1.1 หมื่นล้านโดส เป็นยอดจองของโมเดอร์นา 2 พันล้านโดส ส่วนการจัดส่งคาดว่าซัพพลายได้ 9 พันล้านโดส ยังคาดอยู่ 2 พันล้านที่ไม่น่าตอบสนองได้ เราพยายามหารือทุกปสัปดาห์ ขอร้องทางบริษัทในการนำเข้าไทยเร็วที่สุด แม้กระทั่งวัคซีนชนิดอื่นๆ ก็ประสานตลอด

อย่างที่มีข่าวว่ามีการริบวัคซีนคืนจากประเทศที่ไม่ทำสัญญา ไทยขอซื้อได้หรือไม่ ซึ่งบริษัทก็ตอบเช่นเดิม ขอเรียนว่า ตอนนี้ข้าศึกไม่ได้มาบ้านเรา แต่เราตะลุมบอนกันเอง ตอนนี้เราทำดีที่สุด มีข่าวดีเราจะรีบบอกทันที ขอความเห็นใจ เราก็พยายามจริงๆ ขอให้พูดความจริงกัน” ผอ.อภ. กล่าว

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อมีการระบาดที่สมุทรสาครเราจัดหาวัคซีนซิโนแวคเข้ามา และขณะนี้มีแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งตอนนี้ฉีดไปแล้ว 10 ล้านโดส โดยวัคซีนทั้งสองตัวนี้จะเข้ามาทุกเดือน และจะเพิ่มวัคซีนตัวอื่นด้วย ที่มีการเจรจาอยู่คือ วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ซึ่งมีการหารือเจรจากันมาก่อนที่จะขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. โดยลงนามเอกสารไปแล้ว 2 ฉบับ คือ เอกสารที่สัญญาว่าเมื่อรับทราบข้อกำหนดเบื้องต้นจะไม่เปิดเผยข้อมูล และเอกสารการจองวัคซีน ตั้งแต่ก่อน เม.ย.

“ตอนนี้เหลือสัญญาฉบับที่ 3 คือ เอกสารสัญญาซื้อวัคซีน ซึ่งต้องรอบคอบเพราะมีเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสัญญาแล้วคาดว่าจะเสร็จในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.นี้ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.วันที่ 6 ก.ค. ถ้าผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก็ลงนามสั่งซื้อได้ ต่อไปคือขอเจรจาให้ส่งมอบเร็วขึ้น” นพ.โสภณกล่าว

ความเคลื่อนไหวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้อง และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบุคลากรการแพทย์แนวหน้าและประชาชนที่กังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ตอนนี้โควิดสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ระบาดอย่างหนักและวัคซีนแบบเชื้อตายและ Viral Vector ซึ่งไทยมีวัคซีนอย่างซิโนแวค (เชื้อตาย), ซิโนฟาร์ม (เชื้อตาย) และแอสตร้าเซเนก้า (Viral Vector) ซึ่งมีรายงานวิจัยเผยประสิทธิภาพป้องกันว่าลดลงเมื่อต้องเจอกับสายพันธุ์เดลต้าและทำให้มีโอกาสติดเชื้อใหม่ได้สูง แต่รัฐบาลไทยก็มีท่าทีไม่กระตือรือร้นในการจัดหาวัคซีนแบบ mRNA และกลับนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีกหลายล้านโดสจนถึงปีหน้า ซึ่งบลูมเบิร์กได้ออกรายงานเชิงวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ไทยนำเข้าซิโนแวคมาจำนวนมากนั้น ก็เพื่อชดเชยกับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ให้ทันตามกำหนด หลังหลายประเทศออกมาตำหนิถึงความล่าช้า และทำให้สัดส่วนที่ไทยควรได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ไม่เป็นไปตามเกณฑ์