‘ณัฐชนน-เบนจา-สมยศ’ ปฏิเสธข้อหาดูหมิ่นศาล ปมเรียกร้องศาลให้ประกันตัวแกนนำราษฎร

“ณัฐชนน-น.ส.เบนจา-นายสมยศ” ปฏิเสธดูหมิ่นศาล นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 ส.ค.นี้ ยืนยันชุมนุมขายของหน้าทำเนียบเป็นสิทธิเสรีภาพ ปชช.

วันที่ 1 กรกฎาคม 64 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย คดี หมายเลขดำ อ.1522/2564 พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายณัฐชนน ไพโรจน์, น.ส.เบนจา อะปัญ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำและแนวร่วมม็อบราษฎร รวม 3 คน ความผิดฐาน ร่วมกันดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณา, ร่วมกันมั่วสุม ตั้งแต่ 10 ขึ้นไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิก แต่ผู้กระทำไม่เลิกมั่วสุม ร่วมกันชุมนุมหรือจัดกิจกรรมที่แออัดเกินกว่า 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคติดต่อ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1-3 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

โดยคำร้องระบุพฤติการณ์ว่า กรณีวันที่ 30 เม.ย.2564 มีผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 200-300 คน รวมตัวหน้าศาลอาญา โดยใช้เครื่องกระจายเสียงโดยรถยนต์และตะโกนโจมตีการทำงานของศาลอาญาเพื่อกดดันให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัว นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกแกนนำม็อบ 7 คน ในความผิดหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112 โดยจำเลยที่ 1-3 เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมดังกล่าวอันเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุม สถานที่แออัด อันมีโอกาสติดต่อสัมผัสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด จำเลยที่ 1-3 กับพวกไม่ได้จำกัดทางเข้า-ออก ในการร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองและไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่จัดให้จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์เข้าไปดูแล ในการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นการฝ่าฝืนประกาศของ กทม. มาตรการควบคุมบูรณาการการจัดกิจกรรมเสี่ยงแพร่โรคไวรัสโควิด-19 จนต้องมีการขออนุญาตโดยยื่นแผนการจัดงานและมาตรการคุมโรคต่อสำนักงานอนามัย กทม. ภายหลังจำเลยร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1-3 ได้มั่วสุม ตั้งแต่ 10 คน กระทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ร่วมกันมั่วสุมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โกนผม เผารูปผู้พิพากษา ประมวลกฎหมายอาญา และดอกไม้จันทน์ และกระดาษผู้มีรายชื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยชั่วคราว พร้อมติดป้ายขนาดใหญ่ ข้อความว่าปล่อยเพื่อนเรา และพ่นสีบนกำแพงศาลอาญา ด้วยถ้อยคำหยาบคาบ มีวัตถุประสงค์เพื่อตำหนิกดดัน ขู่เข็ญ ผู้พิพากษาหรือ ศาล เพื่อปล่อยตัวจำเลย ซึ่งเป็นแกนนำอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเพื่อให้ผู้ชุมนุมเคลือบแคลงสงสัย เกลียดชัง และความน่าเชื่อถือ หรือศรัทธาในการใช้ดุลยพินิจของศาล ก่อกวนการทำงานด้านในรั้วของศาล อันเป็นที่ทำการซึ่งมีข้อกำหนดในการปฏิบัติตัว ส่งผลกระทบต่อการจราจร เดือดร้อนวุ่นวายประชาชน และยังดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี

โดยท้ายคำฟ้อง จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอื่นของศาลอาญา หากศาลพิพากษาจำคุก จำเลยที่ 1 และ 3 ในคดีนี้ ขอให้นับโทษต่อในคดีอื่นด้วย โดยก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 11 ปี ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และได้พ้นโทษคดีแล้ว เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2561 แต่จำเลยที่ 3 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่พ้นโทษ จำเลยมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่ใช่ความผิดคดีประมาท ขอให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ของโทษในคดีนี้

ในวันนี้ นายณัฐชนน, น.ส.เบนจา และนายสมยศ จำเลยทั้ง 3 คนเดินทางมาศาลอย่างพร้อมเพรียง

นายณัฐชนนเปิดเผยว่า วันนี้พวกตนมาตามกำหนดนัดสอบคำให้การ จากกรณีเหตุการณ์ที่ได้เข้ามาประท้วงในบริเวณศาล เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่มีความกังวลใจ เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้หมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาลใด ๆ แต่กังวลอย่างเดียวคือ เรื่องปัญหาสุขภาพการนอน การพักผ่อน หรือ การทำงาน ซึ่งปกติแต่ละคนจะมีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันแตกต่างกัน แต่เมื่อศาลนัดมาบ่อยเช่นนี้ ตนไม่แน่ใจว่าการนัดในลักษณะนี้เป็นการจงใจอะไรหรือไม่ ตอนนี้ตนเองเป็นนักศึกษาที่ยังคงเรียนอยู่ ซึ่งได้รับผลกระทบเพราะว่าต้องขึ้นศาลเกือบทุกวัน เมื่อขึ้นศาลเยอะ ทำให้ไม่มีเวลาทำรายงาน ทำการบ้าน ไม่ได้เข้าเรียนอีกทั้งเมื่อวานในขั้นตอนที่อัยการนำตัวสั่งฟ้อง แล้วต้องรอการประกันตัว นานถึง 5 ชั่วโมงในศาลอาญา ถ้าสามารถตัดขั้นตอนต่างๆ ออกไปได้ และให้ขั้นตอนรวดเร็วขึ้นก็จะดี เพราะว่าแต่ละคนก็มีธุระที่ต้องไปทำเช่นกัน

นายณัฐชนนกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. (พรุ่งนี้) พวกตนก็จะจัดกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะเริ่มต้นเดินไปจากแยกอุรุพงษ์ ตั้งแต่เวลา 16.00 – 22.00 น. เนื่องด้วยประชาชนพ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบการ เกษตรกรตอนนี้ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลบริหารโควิด-19 ได้ห่วยแตก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นพรุ่งนี้เราจึงจะไปประท้วงและขับไล่นายกรัฐมนตรี พร้อมกับการขายของเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกันเอง โดยไม่ต้องรอรัฐบาล หรือนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาอีก

น.ส.เบนจากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ สินค้าจะมีหลายอย่างแล้ว แต่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาจากการบริหารจัดการของรัฐที่จะมาเข้าร่วมกันขายของ ในงานนี้ถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไปด้วย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย และเป็นการเรียกร้องการชุมนุมไปด้วย

“การชุมนุมจะไม่ใช้ความรุนแรง เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการชุมนุม เราจะทำทุกวิถีทางให้การชุมนุมเกิดขึ้นให้ได้ แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ปิดกั้นเส้นทางไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไป ถือว่าได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น อย่างน้อยการชุมนุมหรือกิจกรรมที่เราเตรียมไว้ต้องได้ทำ” น.ส.เบนจาระบุ

ด้านนายณัฐชนนกล่าวว่า อยากถามว่าตอนนี้ ยอดคนเจ็บ คนตาย คนเดือดร้อน มาจากเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือมาจากการบริหารจัดการไวรัสโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพกันแน่ ระยะเวลาผ่านไปนาน 1 ปีกว่าแล้ว ไวรัสโควิด-19 ก็ยังไม่หายไปจากประเทศ มีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากมาย ส่วนประเด็นที่ว่าผู้ชุมนุมควรจะต้องคำนึงถึงการป้องกันไวรัสโควิด-19 นั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ชีวิตความเป็นอยู่ เราไม่ได้รับการคุ้มครองและเยียวยามากพอ ก็มองว่ามีความสำคัญเช่นกัน

เมื่อถามว่า ในวันพรุ่งนี้ จะดำเนินการขออนุญาตการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องหรือไม่ นายณัฐชนนท กล่าวยืนยันว่า จะไม่ขออนุญาต ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับการชุมนุมเหมือนกัน

ด้านนายสมยศกล่าวเสริมว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว กฎหมายที่ออกมาดังกล่าวเป็นกฎหมายเผด็จการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องแจ้งก่อนการชุมนุม และตอนนี้ถือว่าแจ้งให้ทราบผ่านสื่อมวลชนแล้ว อยากให้ศาลเข้าใจว่าพวกเราต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้นเราจึงถูกอำนาจรัฐกลั่นแกล้ง โดยใช้ขั้นตอนของกฎหมาย จึงมั่นใจว่าคดีนี้ในที่สุดก็จะยกฟ้อง ส่วนเรื่องประเด็นเชื้อไวรัสโควิด-19 เราเห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาของรัฐบาลในการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการชุมนุม เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าเกิดความไม่ปลอดภัยถือว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธขอสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.