“ศิริกัญญา” ชำแหละที่ดินกองทัพ ถามทำไมไม่เกิดประโยชน์-ทำรายได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

วันที่ 27 มิถุนายน 2564 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เว็บไซต์และเฟซบุ๊กแฟนเพจของพรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่บทความของ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ออกมาตีแผ่ด้านของกองทัพที่ไม่เพียงเป็นผู้รักษาความมั่นคง แต่ยังเป็นผู้ครอบครองความมั่งคั่งจากการเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมหาศาลในไทย และนั่นหมายถึงผลประโยชน์มูลค่าสูง แต่กลับเป็นที่ถูกพูดถึงหรือรับรู้อย่างเปิดเผยน้อยมาก จนนับเป็น “ดินแดนลึกลับในระบบงบประมาณ”

ศิริกัญญากล่าวเริ่มต้นด้วยคำถามว่า เคยสงสัยไหมว่าที่ดินและทรัพย์สินของหลวงในประเทศไทยใครเป็นเจ้าของ? ใครเป็นผู้ดูแล???

สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ที่ดินในราชอาณาจักรนั้นเป็นของกษัตริย์ ที่จะเวนคืน บริหารจัดการ หรือจะยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ตามพระราชประสงค์ เพราะอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของพระเจ้าแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียว แต่ต่อมามีการยินยอมให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยเฉพาะหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ไอเดียเรื่องความเป็นเจ้าของของทรัพย์สินของรัฐนั้นเปลี่ยนจากกษัตริย์ไปเป็นของประชาชนส่วนรวม หรือของสาธารณะ ที่มีหน่วยงานองค์กรของรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังคงมีปัญหาในเชิงข้อกฎหมายและในเชิงปฏิบัติจริงอยู่หลายประการตลอดมาจนถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะมาเล่าถึงปัญหาเพียงแค่แง่มุมหนึ่งเท่านั้น….

1) ในปีงบประมาณ 2565 กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้งบประมาณ 3,858 ล้านบาท

2) กรมธนารักษ์ มี 4 ภารกิจ คือ 2.1) บริหารที่ราชพัสดุ 2.2) ประเมินราคาที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 2.3) ผลิตเหรียญกษาปณ์ 2.4) ดูแลทรัพย์สินมีค่า เช่น เหรียญกษาปณ์โบราณ

3) ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงไม่ใช่แค่หน่วยรับงบ แต่เป็นหน่วยงานจัดเก็บรายได้ด้วย โดยปีนี้ตั้งเป้าเก็บรายได้ “ค่าเช่าที่ราชพัสดุ” 7,700 ล้านบาท

4) แต่ที่ราชพัสดุมีอยู่ประมาณ 12.5 ล้านไร่ โดย 96% เป็นหน่วยงานรัฐถือครอง ส่วนอีก 4% กรมธนารักษ์บริหารเอง เป็นที่มาจัดเก็บรายได้ค่าเช่า

5) แต่ที่ผ่านมามีปัญหาหน่วยงานรัฐไม่ยอมส่งคืนที่ดินราชพัสดุทั้งที่ไม่ใช้ประโยชน์ ตามเงื่อนไขที่กรมธนารักษ์กำหนด

6) กระทรวงกลาโหมคือหน่วยงานที่ถือครองที่ราชพัสดุมากที่สุด โดยถือครองที่ดินรวมกัน 6.25 ล้านไร่ หรือ 50% ของที่ราชพัสดุทั้งประเทศ หรือคิดง่ายๆ คือขนาดพื้นที่ประมาณ 5 เท่าของกรุงเทพมหานคร

7) นอกเหนือจากที่ดิน ที่ตั้งเป็นหน่วยงานทหารแล้ว ยังมีที่ดินที่เรียกว่า “ที่ราชพัสดุเพื่อสวัสดิการ”

ซึ่งกรมธนารักษ์แบ่งออกเป็น

7.1 สวัสดิการเชิงธุรกิจ เปิดให้ประชาชนภายนอกมาใช้บริการได้ แต่ต้องทำสัญญาเช่า และจ่ายค่าเช่าและผลประโยชน์ให้กรมธนารักษ์ (เป็นกิจการที่แสวงหากำไร ก็ควรจะแบ่งกำไรกับเจ้าของที่) เช่น สนามมวย สนามม้า

7.2 สวัสดิการภายใน ซึ่งเป็นไปเพื่อข้าราชการและครอบครัวโดยตรง ไม่ต้องทำสัญญาเช่า และไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์กับกรมธนารักษ์ เช่น บ้านพัก ร้านค้าสวัสดิการ รวมถึงปั๊มน้ำมันด้วย แม้มีประชาชนภายนอกไปเติมก็ตามแต่กฎหมายอ้างว่า หากข้าราชการใช้บริการมากกว่าประชาชน ก็ให้ถือว่าเป็น สวัสดิการภายใน

8) ครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุอยู่ในมือกลาโหม ทำให้เกิดคำถามว่า ใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง? สวัสดิการต่างๆ ที่จัดให้มีความจำเป็นมากแค่ไหน? ตรงกับความต้องการของบุคลากรกระทรวงกลาโหมหรือไม่? เหตุใดจึงไม่นำที่ดินคืนกรมธนารักษ์ แล้วของบสวัสดิการโดยตรงจากสภา?

9) จากรายงานข่าวของ The Matter กิจการเชิงธุรกิจของกองทัพได้แก่ สนามกอล์ฟ 36 แห่ง สถานพักตากอากาศ 5 แห่ง สนามมวย 1 แห่ง สนามม้า 1 แห่ง โดยรายได้ของทุกกิจการรวมกันเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 724 ล้านบาท/ ปี รายจ่ายเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 649 ล้านบาท/ ปี แปลว่ามีกำไรเพียง 75 ล้านบาทเท่านั้น

10) ตามรายงานข่าวบอกว่ากองทัพบกมีที่ดินสวัสดิการเชิงธุรกิจ 3 แสนไร่ แปลว่าที่ดินสวัสดิการเชิงธุรกิจของกองทัพ 1 ไร่ สร้างประโยชน์ได้แค่ 250 บาท/ ไร่/ ปี เท่านั้น

11) จะคุ้มกว่าไหม? ถ้าเอาที่ดินเชิงธุรกิจของกองทัพมาให้เอกชนบริหาร ส่งรายได้เข้ารัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย และถ้ากองทัพต้องการเงินสนับสนุน ค่อยมาของบประมาณ หรือยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาแล้วพบว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ หรือมีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควรจะเป็น เราควรดึงกลับมาบริหารจัดการใหม่ กระจายให้แก่หน่วยงานองค์กรสาธารณะที่มีความต้องการจำเป็นมากกว่านี้หรือไม่?!?

12) ยังไม่นับรวม “สนามกอล์ฟ” อีก 33 แห่ง ที่ถูกนับเป็นสวัสดิการภายใน

“ถ้าเราลองนึกดูว่าข้าราชการระดับไหนถึงจะมีเวลาว่างไปตีกอล์ฟแล้ว เราก็คงจินตนาการถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรสวัสดิการในกองทัพได้”

13) ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี กรมธนารักษ์ตอบคำถามเกี่ยวกับความคืบหน้าในการทำ MOU กับกองทัพบกว่า

“กองทัพบกไม่ยอมส่งงบการเงินย้อนหลัง 5 ปีของกิจการสวัสดิการเชิงธุรกิจที่เหลือ ส่วนกองทัพเรือ และกองทัพอากาศยังไม่ได้เริ่ม ด้านกรมธนารักษ์กล่าวว่าถ้ายังไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง จะส่งเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)”