ด่วน! ศบค. สั่งล็อกดาวน์ กทม.-ปริมณฑล เฉพาะจุดตามข้อเสนอทีมแพทย์

จากกรณีสถานการณ์ระบาดผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอัตราการป่วยเกิน 3 พันรายต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. พบว่า อัตราการครองเตียงสูงมาก มีการเปิดเผยว่า เฉพาะ กทม. มีเตียง ICU เหลือเพียง 20 เตียง และหากรวมปริมณฑล จะมีเตียงรวม 46 เตียง ทำให้อาจารย์แพทย์ รวมทั้งแพทย์ ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ออกมาเตือนให้ รัฐบาลมีการใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อลดอัตราผู้ป่วยลง เพื่อให้การแพทย์มีศักยภาพพอรองรับผู้ป่วยได้ ซึ่งก็เริ่มพบเคส รอที่บ้านจนเสียชีวิตแล้วหลายราย

วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเรียกประชุมศูนย์ปฎิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด – 19 หรือ ศปก.ศบค. และ ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศูนย์โควิด-19 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน และคณะ เข้าหารือถึงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ โควิด – 19 และเรื่องวัคซีน ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียด ที่แพทย์และหลายฝ่ายต้องรองรับสถานการณ์ โควิด – 19

ต่อมาเมื่อเวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังประชุมว่า ที่ประชุมมีการพูดคุยเรืองการบริหารจัดการวัคซีน โดยจะบริหารแผนให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ในช่วง 2 เดือนนี้ จะเร่งฉีดผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคให้หมด เพราะขึ้นทะเบียนมาแล้ว ส่วนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ จะเร่งดำเนินการ

เรื่องที่ 2 สถานการณ์แพร่ระบาด รับฟังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะแคมป์ต่างๆ มีข้อตกลง จะปิดแคมป์คนงาน โดยกระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแล 1 เดือนที่มีการปิด ซึ่งจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ โดยต้องอยู่ในที่จำกัด ส่วนโครงการจ้างงาน จะหยุดชั่วคราว 1 เดือน และจะยืดเวลาต่อให้ตามสัญญา

โดยจะบังคับใช้ กทม.ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ ที่หารือ วันนี้ จะเข้มงวด และ กิจการใดที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค จะมีมาตรการเฉพาะชั่วคราวออกมา คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่ แต่เราจะใช้คำว่า ดูแลกิจการ พื้นที่ เป็นพิเศษ การห้ามคนทั้งหมดคงยาก การเคลื่อนย้ายไปจากพื้นที่แพร่ระบาด มีจังหวัดต่างๆ ดูแลอยู่แล้ว ซึ่งแรงงานขอร้องว่าอย่าเคลื่อนย้ายเพราะมีการดูแลอยู่แล้ว

“เรื่องการเดินทางไม่ห้าม เพราะแต่ละพื้นที่มีมาตรการอยู่แล้ว มีอสม.ดูแลอยู่แล้ว แต่จะกลับไปทำไม เพราะกลับไปก็อยู่แต่บ้าน”

อย่างไรก็ตาม มีการสั่งการเรื่องการเพิ่มเตียง และ เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือระบบการแพทย์มากขึ้น โดยจะมีแพทย์จบใหม่ เข้ามาช่วยด้วย

ทั้งนี้ ข้อเสนอจากทีมแพทย์ คือ 1.ปิดพื้นที่ความเสี่ยงสูง 2.บุคคลกลุ่มเสี่ยง พื้นที่มีแรงงานต่างชาติ ก็ปิดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และ 3.ปิดกิจกรรม/กิจการเสี่ยง มากกว่าการปิดทั้งกทม.หรือทั้งจังหวัด ที่เห็นภาพชัดเจนในต่างจังหวัด ปิดเฉพาะตำบลเสี่ยง ตลาด แคมป์คนงาน หรือพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติ ก็ล็อกเฉพาะตรงนั้น