สหรัฐฯตื่น! เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถูกเจาะระบบ คาดฝีมือแฮกเกอร์ที่รัสเซียหนุน

วันที่ 7 กรกฎาคม ในขณะที่สงครามด้วยอาวุธยังคงเกิดขึ้น สงครามบนโลกไซเบอร์ก็ขับเคี่ยวรุนแรงไม่แพ้กัน ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอและกระทรวงปกป้องมาตุภูมิได้ทำการชิงระบบคืนเพื่อช่วยบริษัทพลังงานและโรงงานไฟฟ้าหลายหลายแห่งในสหรัฐฯ รวมถึงโรงไฟฟ้าวูลฟ์ครีคในมลรัฐแคนซัส ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ หลังถูกแฮกเกอร์จากต่างประเทศโจมตีเข้ายึดระบบ ซึ่งไม่เพียงทำระบบไฟฟ้าขัดข้อง แต่ยังทำให้ระบบรักษาปลอดภัยนิวเคลียร์ใช้การไม่ได้ด้วย

โดยการสืบสวนแม้มีการตั้งข้อสงสัยว่า รัสเซียอาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยการกระทำลักษณะดังกล่าวคล้ายกับที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้าในยูเครน แต่ยังไม่มีลายนิ้วมือดิจิตัลที่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝีมือกลุ่มไหน โดยเมื่อปี 2014 กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิได้ออกมาเตือน การโจมตีจากกลุ่มแฮกเกอร์ที่ทำให้เครือข่ายโรงไฟฟ้าหลายแห่งของสหรัฐฯติดเชื้อ ด้วยมัลแวร์ที่เรียกว่า “พลังงานดำ” ซึ่งไฟว์อายว์ บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์กล่าวว่า การติดเชื้อนี้อาจเชื่อมโยงกับกลุ่ม “หนอนทะเลทราย” หรือแซนด์เวิร์ม แฮกเกอร์ใต้ดินที่เชื่อว่ามีฐานอยู่ที่รัสเซีย โดยเบาะแสจากเซิร์ฟเวอร์ที่เข้าถึงได้ ได้โยงกลุ่มดังกล่าวอยู่ในเอกสารภาษารัสเซีย ซึ่งกลุ่มหนอนทะเลทราย ได้ใช้มัลแวร์พลังงานดำเข้าโจมตีเป้าหมายหลายแห่งในยูเครน รวมถึงแฮกเข้าระบบของบริษัทพลังงาน 3 แห่งในยูเครน เป็นเหตุให้เกิดภาวะไฟดับด้วยการแฮกเป็นครั้งแรก

รายงานระบุว่า ในปีต่อมา แฮกเกอร์ได้โจมตีบริษัท ยูเครเนอโก บริษัทพลังงานของยูเครนด้วยการล้มระบบของโรงไฟฟ้าในกรุงเคียฟ เป็นแห่งที่ 5  โดยบริษัทด้านความมั่นคงไซเบอร์อย่างอีเซ็ทจากสโลวาเกียและดราโกสจากสหรัฐฯ พบชิ้นส่วนของมัลแวร์ที่ซับซ้อนจากการโจมตีครั้งนั้น ซึ่งรู้จักในชื่อ “แครช โอเวอร์ไรด์” หรือ “อินดัสโตรเยอร์” จะถูกใช้จุดชนวนให้ไฟดับโดยอัตโนมัติ บริษัทดราโกสเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มหนอนทะเลทราย ปลุกความกลัวที่ว่ารัสเซียกำลังทดสอบอาวุธไซเบอร์ ที่อาจถูกใช้กับเป้าหมายสหรัฐฯในไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม นิตยสารบลูมเบิร์กและไทม์สระบุว่า หน่วยงานของสหรัฐฯยังไม่สามารถพบความเชื่อมโยงการโจมตีสหรัฐฯครั้งนี้กับกลุ่มหนอนทะเลทราย ทั้งที่มีการเฝ้าติดตามมาหลายปี

การแฮกเข้าระบบโรงไฟฟ้าครั้งนี้ กลายเป็นความตึงเครียดระหว่างประเทศ หลังจากที่ สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯหรือซีไอเอ สรุปว่า รัสเซียพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ซึ่งการสืบสวนอย่างต่อเนื่องพุ่งไปที่การกระทำของรัสเซีย ทำให้รู้ว่ามีอาวุธไซเบอร์ที่สามารถรบกวนระบบวงจรไฟฟ้าของประเทศคู่แข่งได้ อย่างไรก็ตาม ตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผอ.ซีไอเอและคณะกรรมการกำกับพลังงานนิวเคลียร์ต่างปฏิเสธให้ความเห็นกับเรื่องนี้

ต้องติดตามกันต่อไปว่า สงครามไซเบอร์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียจะเป็นอย่างไร เพราะกำลังเป็นการยกระดับการโจมตีที่ไปถึงระบบสาธารณูปโภคที่ส่งผลต่อชีวิตประชาชนจำนวนมาก

ที่มา