พิธา ย้ำ ‘ปมปัญหาใจกลาง’ อันไม่ลงตัวหลังอภิวัฒน์สยาม ยันต้องถกให้จบใน รธน.ฉบับใหม่

“อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เป็นของใคร ?” พิธา ย้ำ ‘ปมปัญหาใจกลาง’ ที่ยังไม่ลงตัวนับตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 ยืนยันต้องถกกันให้จบใน ‘รัฐธรรมนูญ’ ฉบับใหม่ อวยพรถึงผู้มีอำนาจให้อายุยืนพอได้เห็นความพยายามเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาล่มสลาย และรับรู้กับตาตัวเองว่าจะถูกผู้คนและยุคสมัยตราหน้าว่าอย่างไร ]

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายให้ความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่รัฐสภาได้อภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 89 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งในประเทศนี้ เช่น เป็นจุดที่ให้กำเนิดระบบรัฐสภา เป็นวันที่ไพร่ฟ้าทั้งหลายได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นเจ้าของประเทศที่มีสิทธิเสมอกัน วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ยังเป็นจุดกำเนิดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามาอภิปรายกันในวันนี้ แก่นแกนที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญหลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ปรากฏอยู่ในมาตราแรก ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเรียบง่ายว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” นี่คือเจตจำนงที่ต้องการจะเปลี่ยนระบอบการเมืองจากระบอบเจ้าชีวิต มาสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ สร้างสถาบันการเมืองที่ยึดโยงกับอำนาจสูงสุดของราษฎร หาใช่อำนาจที่ทำนาบนหลังราษฎร”

อย่างไรก็ตาม พิธา กล่าวต่อไปว่า เจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ถูกต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า และเกิดการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 2490 โดยกองทัพกับฝ่ายนิยมเจ้า ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบของการยึดอำนาจในประเทศไทยหลังจากนั้นเรื่อยมาด้วยการทำการรัฐประหาร เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ พอไม่พอใจก็ทำรัฐประหารใหม่ วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบ

“วุฒิสภาที่เรารู้จักกันในวันนี้ ก็กำเนิดขึ้นจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรก เราถูกสอนให้ท่องกันมาผิดๆ ตลอดว่าวุฒิสภามีหน้าที่ในการช่วยกลั่นกรองกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วหน้าที่หลักเสมอมาของวุฒิสภาไทยคือ เป็นกลไกหนึ่งที่คอยกดทับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้อยู่ใต้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีครั้งเดียวที่เรามีสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ วุฒิสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่สุดท้าย รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปธงเขียวก็จบชีวิตอันสั้นลง ด้วยการรัฐประหาร 2549 หลังจากนั้นการเมืองไทยก็ถอยหลังลงคลองเรื่อยมาจนมาจบที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญ ประสบการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย คือการจัดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 การปฏิรูปการเมืองและการจัดทำรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ถูกออกแบบด้วยโจทย์และสถานการณ์ของสังคมไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นหลงเชื่อกันว่า ทหารได้กลับเข้ากรมกองไปแล้ว จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกแล้ว ปัญหาหลักของการเมืองไทยมีเพียงการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง พรรคการเมืองไม่มีความเป็นสถาบัน และรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ”

พิธา กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญ 40 พยายามออกแบบให้เน้นระบบสองพรรคการเมืองใหญ่ ภายใต้การกำกับควบคุมขององค์กรอิสระต่างๆ ที่หวังเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ นอกจากนี้ ยังพยายามเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนและขยายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลของรัฐธรรมนูญ 40 ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงมาก ประชาชนได้ผลประโยชน์จากการแข่งขันในเชิงนโยบาย แต่ต่อมาก็เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในปัญหาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ เกิดคำถามเกี่ยวกับการแทรกแซงองค์กรอิสระ ตนเชื่อว่า หากปล่อยให้สังคมได้เรียนรู้ประสบการณ์และใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยในการแก้ข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น สังคมการเมืองไทยคงจะพัฒนาไปไกลกว่านี้มากแล้ว

“ ทว่า ‘การเมืองที่มีเสถียรภาพ’ ก็ถูกกระชากให้ตื่นขึ้นมาพบกับ ‘การเมืองที่เป็นจริง’ เมื่ออดีตประธานองคมนตรีท่านหนึ่งได้ไปบรรยายที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ต่อหน้าผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นว่า เราเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จากนั้นท่านก็เปรียบเปรยว่ารัฐบาลเป็นเพียงแค่ jockey เป็นเด็กขี่ม้า แต่ไม่ใช่เจ้าของม้า ซึ่งเจ้าของม้าที่ว่าไม่ใช้ประชาชนหรือรัฐบาลด้วยซำ้ไป

นี่เป็นปฐมบทที่สุดท้ายจบลงด้วยการก่อรัฐประหารในปี 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเมื่อรัฐประหาร 2549 ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 กระทั่งเรามีรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในวันนี้”

พิธา ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันนี้ คือความขัดแย้งทางการเมืองที่ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนโดยแสดงผ่านอำนาจจากการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา ดังนั้น ประเด็นที่ควรนำมาเป็นโจทย์ในการพิจารณาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้และในอนาคต จึงเป็นปัญหาที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เป็นของใคร ซึ่งนี่เป็นปมปัญหาใจกลางที่ยังไม่ลงตัวนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475

ปัญหาใจกลางของการเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องงบประมาณของ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพที่เป็นแค่ตัวหนังสือ ไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้งที่หวังว่าจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาก เพราะต่อให้ใครชนะเลือกตั้งได้ท่วมท้นเพียงใด พวกเราก็เป็นได้แค่เพียง ‘เด็กขี่ม้า’ ซึ่งม้าอาจพยศอีกเมื่อไรก็ได้ตามคำสั่งเจ้าของม้า

ตราบใดที่ยังแก้ปมปัญหาใจกลางนี้ไม่ได้ เราจะไม่สามารถหลุดออกจากหลุมดำทางการเมืองได้ และสังคมไทยคงจะไม่มีศักยภาพไปทำเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทลายทุนผูกขาดที่เกาะกุมกันแน่นกับระบบการเมืองที่ผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชนพร้อมที่จะเผชิญกับโลกยุคใหม่ หรือไม่ว่าจะเป็นการยกเครื่องระบบการศึกษาให้ลูกหลานของเราเท่าทันโลก

“เมื่อมองเห็นการเมืองที่เป็นจริงเช่นนี้ ผมและพรรคก้าวไกลจึงเสนอให้รัฐสภาเร่งเดินหน้าการจัดทำประชามติเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้แสวงหาฉันทามติร่วมกันว่าระบบการเมืองแบบไหนที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน แม้จะมีความคิด ความฝัน หรืออุดมการณ์ไปกันคนละแบบ”

พิธา สรุปทิ้งท้ายว่า ในการลงมติเฉพาะหน้าวันนี้ ขอเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภาผู้ที่ยังห่วงใยในอนาคตของบ้านเมือง ช่วยกันโหวตเพื่อหยุดแผนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุระบอบประยุทธ์ และร่วมมือร่วมใจกันโหวตเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อเปิดประตูบานแรกในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ ให้ได้ หากไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว. ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้จะไมมีความหมาย เป็นเพียงละครตบตาประชาชนฉากใหญ่

“ท้ายที่สุดนี้ ผมขออวยพรผ่านไปยังผู้มีอำนาจทุกท่านที่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาไว้ได้ ผมขออวยพรให้ท่านมีอายุยืนเพียงพอที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้กับตาตัวเองว่า ผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าพวกท่านว่าอย่างไรในประวัติศาสตร์ของชาติเรา”