89 ปี อภิวัฒน์สยาม : “แคร์” สานต่อภารกิจ จาก “เงินเดือนราษฎร” ของคณะราษฎร สู่เป้าหมาย “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า”

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 เฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย ของกลุ่มแคร์ กลุ่มคลังความคิดทางสังคมที่มีจุดมุ่งหมายสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนในยามนี้ ได้ออกมาโพสต์เนื่องในวาระ 89 ปี เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ในวันนี้ จากการก่อการของคณะราษฎร กลุ่มข้าราชการพลเรือนและทหารหัวสมัยใหม่อันนำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก่อนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์อันเป็นประมุข ได้ย้อนแนวคิด 1 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ว่าการบำรุงสุขของชีวิตประชาชน นำไปสู่ไอเดียการสร้างรากฐานสวัสดิการให้กับประชาชน เป็นแผนนโยบายที่จะเปลี่ยนโฉมระบบเศรษฐกิจของไทยในเวลานั้น และถูกเรียกในชื่อ “สมุดปกเหลือง” โดย ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน แต่กลับไปไมถึง เพราะนโยบายถูกแปะป้ายในข้อหามีแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ว่า

89 ปี 2475 : จากแนวคิด “เงินเดือนราษฎร” สู่แนวคิด “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” ในฐานะภารกิจที่ต้องเกิดในรุ่นเรา

“…24 มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์ ปฐมฤกษ์ของรัฐธรรมนูญของไทย เริ่มระบอบแบบอารยะประชาธิปไตย ทั่วราษฎรไทยมีสิทธิเสรี…”
.
จากบทเพลง “วันชาติ 24 มิถุนายน” ที่ประพันธ์ขึ้นโดย ครูมนตรี ตราโมท ได้สะท้อนถึงภาพจำหลายประการถึงมรดกของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นการมีรัฐธรรมนูญ การมีประชาธิปไตย และการได้รับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งเป็นคุณูปการสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
.
แต่นอกจากแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิเสรีภาพ อันเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว คณะราษฎรยังได้มีการเสนอแนวคิดเรื่อง “การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของระบอบใหม่
.
โดยคณะราษฎรเชื่อว่า การทำให้ประชาชนมีความสุขสมบูรณ์จากการมีประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ประชาธิปไตยในทางระบอบการเมืองการปกครองเข้มแข็ง ดังนั้น เรื่องการบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจจึงถูกบรรจุไว้ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎรซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้มีการประกาศแนวนโยบายแห่งรัฐ
.
ปรีดี พนมยงค์ เป็นมันสมองหลักในการคิดและผลักดันให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ผ่านการหยิบยืมเอาข้อดีบางส่วนจากลัทธิสังคมนิยม มาออกแบบและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในนามของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” หรือที่รู้จักกันในนาม “สมุดปกเหลือง”
.
ถึงแม้ว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาตินั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กลายเป็นชนวนความขัดแย้งและถูกตีตกไปในที่สุด แต่ข้อเสนอสำคัญหลายประการก็ถูกนำเอาไปใช้จริงในเวลาต่อมา เช่น การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ การจัดเก็บภาษีทางอ้อม การใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ฯลฯ นอกจากนั้นก็ยังมีข้อเสนออีกหลายประการที่ยังไม่ถูกนำไปใช้ เช่น การปฏิรูปที่ดิน หรือ การจัดให้มีเงินเดือนราษฎร
.
ซึ่ง “เงินเดือนราษฎร” ที่ ปรีดี พนมยงค์ เสนอไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ และระบุรายละเอียดต่างๆไว้ใน เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Assurance Sociale) มีหลักคิดสำคัญที่ว่า รัฐจะต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ประชาชนทุกคนตามอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเสมือนเป็นหลักประกันว่า คนไทยทุกคนจะมีรายได้ที่เหมาะสมในการดำรงชีพ
.
โดยหลักคิดดังกล่าวนี้ ไม่ต่างกันกับหลักคิดของข้อเสนอ “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” หรือ Universal Basic Income (UBI) ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ถูกกล่าวถึงในช่วงที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการะบาดของไวรัสโควิด-19 และได้มีการทดลองแล้วในหลายประเทศ ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีหลายฝ่ายออกมาเสนอแนวคิดเรื่อง UBI อยู่เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่ม CARE ที่เสนอแนวคิด “ไทยไร้จน” ผ่านการชูข้อเสนอเรื่อง UBI
.
ซึ่งข้อเสนอเรื่อง เงินเดือนราษฎร หรือ UBI นั้น ล้วนให้ความสำคัญต่อการสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ประชาชนทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน ไม่ว่าเด็กหรือชรา ไม่ว่าทำงานหรือตกงาน ไม่ว่าเจ็บป่วยหรือแข็งแรง ทุกคนสมควรได้รับเงินเดือนที่เพียงต่อการดำรงชีพหรือพ้นเส้นความยากจนกันถ้วนหน้า โดยที่รัฐต้องเป็นคนที่ต้องสร้างหลักประกันดังกล่าว ซึ่งแนวคิดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านสิ่งที่ปรีดีเขียนไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไว้ว่า
.
“…ความไม่เที่ยงแท้ในการเศรษฐกิจเป็นอยู่เช่นนี้ จึงมีนักปราชญ์คิดแก้โดยวิธีให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร กล่าวคือ ราษฎรที่เกิดมาย่อมได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรก็จะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต…”
.
ข้อเสนอเรื่องเงินเดือนราษฎรของปรีดี กลับถูกมองว่า “ก้าวหน้ามากเกินไป” และยากที่ทำจริงได้ในเวลานั้น แต่ปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 89 ปี ข้อเสนอนี้จะยังคงถูกมองว่า “ก้าวหน้ามากเกินไป” อยู่อีกหรือ?
.
ข้อเสนอเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าเงินเดือนราษฎรก็ดี หรือ UBI ก็ดี ถูกนำเสนอมานานมากแล้วในสังคมไทย หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับระบอบประชาธิปไตยไทยเลยก็ว่าได้ แล้วทำไม เราถึงไม่เริ่มมันเสียที?
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วเกือบ 9 ทศวรรษ…
ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะผลักดันและขับเคลื่อนแนวคิด รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้นจริง
ถึงเวลาแล้ว ที่คนไทยจะได้รับเงินเดือนทุกคนเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางรายได้
.
ถึงเวลาแล้ว ที่คนไทยจะหลุดพ้นจากกับดักความยากจน และจะไม่มีใครที่อยู่ใต้เส้นความยากจนอีกต่อไป
.
ถึงเวลาที่เราจะทำให้ภาพแห่งความฝันเมื่อ 89 ปีก่อน กลายเป็นภาพแห่งความจริง
.
ในเมื่อภาพฝันที่จะทำให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรายังสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้จากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แล้วทำไมเราจะทำให้คนไทยมีหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าไม่ได้
.
ถึงเวลาสานต่อมรดก 2475 สานต่อภารกิจรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า คืนความสุขสมบูรณ์ให้แก่ประชาชน และสร้างสังคมใหม่ที่จะทำให้ “ไทยไร้จน”ไปด้วยกัน
.
.