สหภาพคนทำงาน จี้ รัฐบาลจ่ายชดเชย ทุกอาชีพ จนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สหภาพคนทำงาน จี้ รัฐบาล จ่ายชดเชยทุกกลุ่มอาชีพ จนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แนะ ปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เพื่อเอามาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายฉัตรชัย พุ่มพวง ตัวแทนสหภาพคนทำงานยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เรียกร้องให้การพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2565 นำมาใช้เพื่อลดภาระความเดือดร้อนของประชาชนและกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โควิด- 19

โดยเห็นว่า รัฐบาลจะต้องพิจารณาปรับลดงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็น เพื่อนำมาชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้เพียงพอและครอบคลุมทุกกลุ่มคนทำงานที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยเสนอให้ชดเชยรายได้พื้นฐานแก่แรงงานทุกคนในประเทศตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป จนกว่าจะยกเลิกการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และชดเชยรายได้คนทำงานที่ต้องหยุดตามมาตรการของรัฐ ทั้งการปิดชั่วคราว และขาดรายได้จากการเลิกจ้างงาน ทั้งแรงงานสัญชาติไทยและแรงงานข้ามชาติ

รวมไปถึงคนทำงานไร้สัญชาติ นอกจากนี้ยังเสนอชดเชยรายได้สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีนายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โดยให้รัฐบาลจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีกร้อยละ 25 ชดเชยเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 โดยรัฐต้องสมทบเงินทุนเข้ากองทุนประกันสังคมแทนผู้ประกันตน เต็มอัตรา เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน

พร้อมให้ชดเชยเงินสมทบในกลุ่มแรงงานภาคการเกษตรกลุ่มคนทำงานอิสระและกลุ่มคนทำงานกลางคืนที่ไม่ได้อยู่ในหลักประกันสังคม และชดเชยเงินสมทบแก่กลุ่มธุรกิจส่งอาหาร ส่งพัสดุ พนักงานทำความสะอาด ชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขอใบอนุญาต หรือดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทํางานวีซ่า การตรวจสุขภาพและค่าธรรมเนียมอื่นของแรงงานข้ามชาติ

รวมไปถึงชดเชยการพักหนี้กองทุนเพื่อการศึกษาหรือกยศ ชดเชยการพักหนี้ให้กับประชาชนอย่างน้อย 1 ปี และชดเชยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก และการศึกษาของเด็กในครัวเรือนแบบทั่วหน้าและมีมาตรการพิเศษสำหรับบิดามารดาที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหรือผู้สูงอายุแต่เพียงลำพัง และชดเชยรวมไปถึงควบคุมราคาสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน