แพทย์เทียบ ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้า “อังกฤษ vs ไทย” ชี้บ้านเรายังห่างไกล จับตาแนวโน้ม 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์​แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธ์ุอินเดีย ที่กำลังลุกลามระบาดมากขึ้นในไทย เช่นเดียวกับสถานการณ์ในอังกฤษที่ต้องเลื่อนการประกาศเปิดเมืองออกไป หลังพบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าจำนวนมาก ว่า

Delta variant เรียนจาก UK แล้วหันมามองบ้านเรา

คนที่ตามข่าวสาร COVID นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก Delta variant การระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน UK พุ่งสู่ระดับ 9,000-10,000 รายมาอย่างน้อย 5 วันติดต่อกัน จนรัฐบาลต้องเลื่อนการเปิดเมืองขั้นสุดท้ายออกไปอย่างน้อย 4 สัปดาห์ พร้อมกับเร่งปูพรมวัคซีนให้เร็วขึ้นทั้งเข็มแรกและเข็มสอง

บางคนได้เห็นข้อมูลข้างต้นแล้วก็อดเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะจำนวนประชากรของไทยใกล้เคียงกับ UK มาก หลายคนอาจดีใจว่าบ้านเรายังติดเชื้อไม่หนักหน่วงเท่าเขาเพราะยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่แม้จะเพิ่มขึ้นแต่อยู่ระดับ 3,000 รายต่อวันเท่านั้น

แต่ถ้าดูข้อมูล 2 ชุดนี้ดี ๆ จะเห็นความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์บ้านเรา

แม้ยอดผู้ติดเชื้อใน UK สูงกว่าก็จริง แต่ด้วยปริมาณการตรวจหาผู้ติดเชื้อต่อวันของเขาสูงมากกว่า 1 ล้าน tests ทำให้อัตราการตรวจพบเชื้อ (positive rate) ไม่สูงนักคือราว ๆ 0.9-1% (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://coronavirus.data.gov.uk/ เขาทำ data dashboard ได้ละเอียดและเข้าถึงง่ายมาก)

หันมามองบ้านเรา จะพบว่า positive rate ของการระบาดรอบนี้พุ่งขึ้นพร้อมการระบาดคือตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน และดูเหมือนจะทรงตัวอยู่ในระดับ 3-4% กว่า 1 เดือน จนปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า positive rate เริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดในเดือนมิถุนายนยืนระยะอยู่เหนือ 7% แทบทุกวัน ข้อมูลวันสุดท้ายคือ 20 มิถุนายนมี positive rate ราว 7.4%

เมื่อแยกพื้นที่ตามเขตสุขภาพจะเห็นชัดว่า เขต กทม (13) มี positive rate สูงสุดคือ 8.7% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของเราขยับขึ้นเหนือ 3,000 รายต่อวันมาหลายวันติดต่อกัน

ในขณะที่เรามีมาตรการสวนทางกับ UK คือเริ่มผ่อนคลายวันนี้เป็นวันแรก และการฉีดวัคซีนของเรายังน้อยมาก แถม Delta variant ก็น่าจะกำลังขยายตัวในพื้นที่อยู่ทุกวัน

คงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ว่าจะเป็นอย่างไร โดยยังไม่ต้องมองไกลถึง 120 วันข้างหน้าครับ