‘พงศกร’ หนุน ระบบสัดส่วนผสมแบบเยอรมันดีจริง แต่มีชัยเอามาใช้ผิด ทำของดีๆมีมลทิน

วันที่ 21 มิ.ย. พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตส.ส.และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เขียนข้อความทางเฟสบุ๊กแสดงความเห็น กรณีวิวาทะ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแนวคิดเรื่องจำนวนบัตรเลือกตั้ง โดย ระบุว่า เรื่องบัตรสองใบแบบ 40 ของ พปชร.และ พท. กับ บัตรใบเดียวแต่ 2 แบบหรือพูดแบบชาวบ้านว่า 2 ใบของ ก้าวไกล

ว่าถึงที่สุดแล้วไม่ได้มีผลอะไรกับการเป็นประชาธิปไตยมากหรือน้อยกว่าเดิม เพราะไม่ได้แก้ไขสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเช่นการยกเลิก ส.ว. เป็นต้น  นอกจากนั้นยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดย พปชร. เป็นผู้เสนอก่อนเสียด้วยซ้ำ

ทำไม พปชร. ถึงเสนอแบบปี 40 ก็เพราะพรรคใหญ่จะได้ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อเป็นของตัวเองทั้งหมด จบปัญหาพรรคเล็ก พรรคน้อยที่มาจากบัตรเขย่งซึ่งกวนใจอยู่ทุกวัน

และไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะเสนอระบบของเยอรมนีอย่างไรพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคย่อมไม่ฟังอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการที่มาโจมตีกันเองว่าใครเหนือกว่าไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร และการลงคะแนนแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะออกมาเป็นแบบปี 40  แน่นอนอยู่แล้ว

สิ่งที่ประชาชนควรทำคือยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยคือการปกครองด้วยเสียงส่วนใหญ่ (ในที่นี้คือบัตรแบบ 40) และรับฟังเสียงส่วนน้อย (บัตรแบบเยอรมนี) ด้วยการทำความเข้าใจว่าคืออะไร เหตุผลก็คือการนำเสนอทั้ง 2 แนวทางจะถูกบันทึกไว้ทั้งในรัฐสภาและความเข้าใจของประชาชนเพื่อประโยชน์ของทุกคน

ในกาลข้างหน้าเมื่อผลของบัตรแบบ 40 ถูกใจประชาชนก็รักษาแนวทางนี้ต่อไป แต่ถ้าเริ่มเห็นปัญหา ข้อบกพร่องก็จะสามารถคิดได้ทันทีว่าที่เสียงส่วนน้อยเขาท้วงติงไว้นั้นมีเหตุผลและเมื่อคนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วยก็จะหันกลับมาใช้สิ่งที่เคยเป็นเสียงข้างน้อย

สิ่งที่ไม่ควรทำคือการปิดปาก ด้อยค่าเสียงข้างน้อยว่า “ตัวเองเสียงข้างน้อยอย่ามาเถียงเสียงข้างมาก” หรือ “อยากมี ส.ส.เหลืออยู่ละสิ” เพราะเท่ากับปิดหู ปิดตาตัวเอง โดยเฝ้าแต่สะกดจิตตัวเองว่า จะมาแย่งคะแนนของตัวเองไป ทั้ง ๆ ที่ผู้เสนออาจมีเจตนาอื่นก็ได้

ระบบสัดส่วนผสมของเยอรมนีไม่ใช่การบังคับแบบของคุณมีชัยฯที่ผ่านมาทำให้มีบัตรเขย่งได้

การที่คุณมีชัยฯ อ้างระบบเยอรมนีทำให้ของดี ๆ มีมลทินมัวหมอง

ผมเองเป็นคนแรกๆ เสียด้วยซ้ำที่คลั่งไคล้รัฐธรรมนูญเยอรมนีในยุคปี40 สมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เนตให้ค้นง่าย ๆ ต้องวิ่งไปขอเอกสารจากสถานทูต ตอนนั้นไปสถานทูตเยอรมนี สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ถ้าจำไม่ผิด
สิ่งที่ผมเสนอแล้วเข้าไปสู่การร่างฯสมัยนั้นซึ่งมาจาก รธน.เยอรมนีนอกจากระบบการเลือกตั้งแล้วก็คือ หากจะอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วต้องเสนอชื่อนายกฯคนใหม่มาประกบด้วย คิดว่าคงจำกันได้ ส่วนบัตรเลือกตั้งไม่ได้ใช้ของเยอรมนีเต็มรูป เอามาใช้แบบหยาบ ๆ แค่เลือก2  แบบเท่านั้น สมัยนั้นคงไม่ชอบคิดเลขกัน

ทำไมต้องเป็นเยอรมนี ที่จริงผมนิยม รธน.ทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่น ที่เป็นรัฐธรรมนูญเกิดใหม่ เพราะจะปิดจุดอ่อนรูปแบบของอังกฤษเดิมไปได้มากและคนเยอรมันเป็นต้นธารของปรัชญาการเมืองมากกว่าชาติใด ๆ ในโลก ระบบกฎหมายไทยส่วนใหญ่คือระบบเยอรมัน วิธีการต่อสู้ทางกฎหมายในศาลของเยอรมันคือการสืบสาวมาตั้งแต่ระบบปรัชญามาจนถึงข้อมูลแวดล้อมอย่างละเอียดเสมอ

จากการช่างคิด ช่างสร้างสรรค์ของชาวเยอรมันนี่เอง ระบบการลงคะแนนของเยอรมนีจึงใช้สูตรคำนวณเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด และไม่ใช่มีสูตรเดียวตั้งแต่ต้น เมื่อพบสูตรที่เป็นธรรมกว่าเก่า ก็เปลี่ยนมาเป็นสูตรปัจจุบัน ที่ในไทยก็ยังไม่มีใครพูดถึงแบบความคลั่งไคล้ในความเป็นธรรมขนาดนั้น