ไม่ใช่ของทุกคน? “อรุณี” ห่วงระบบการศึกษาไทย ไม่เป็นพื้นที่ยอมรับ-ปลอดภัยต่อ LGBTQ+

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะท่าทีเชิงลบต่อการเคลื่อนไหวประเด็นคุณค่าของสิทธิและชีวิตของนักเรียนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างกรณีกลุ่มนักเรียนเลวที่จัดแอ๊คชั่นที่กระทรวงศึกษาธิการว่า
หรือระบบการศึกษาไทยไม่ใช่ที่สำหรับทุกคน?
.
.
ทุกคนคิดว่าระบบการศึกษาที่ดีต้องเป็นอย่างไรคะ?
ต้องทำให้เด็กนักเรียนทุกคนมีความรู้ความสามารถ
ต้องทำให้เด็กมีงานทำ
ต้องทำให้เด็กในระบบการศึกษากลายเป็นพิมพ์เดียวเหมือนกันหมด
สมกับที่ครูถูกเรียกว่า ‘แม่พิมพ์ของชาติ’
หรือต้องทำให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?
.
สำหรับหญิงแล้วการศึกษาที่ดีควรมีที่ทางให้สำหรับทุกคนได้เรียนรู้ ได้ค้นหาตัวตน ได้เตรียมพร้อมเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เลือกว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร มีเงิน ไม่มีเงิน พ่อแม่เป็นใคร หรือจะเป็นอย่างไรก็ตาม หรือครูผู้อบรมบ่มเพาะจะมีความแตกต่างอย่างไร ถ้าเขาสามารถใช้ความรู้และความเข้าอกเข้าใจทำให้เด็กได้รับการศึกษาและเติบโตขึ้นอย่างดีที่สุดได้
.
แต่หญิงคิดว่าระบบการศึกษาไทยไม่ได้มีที่ทางสำหรับทุกคนค่ะ
.
“โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย”
.
เราชอบบอกกันว่าครูคือแม่พิมพ์ของชาติ และพิมพ์ที่ดีจะต้องทำให้เด็กออกมาเป็นคนดีเหมือนกันหมด ต้องมีความคิดความอ่านเหมือนกัน ต้องมีนิสัยใจคอเหมือนกัน ต้องจบมามีลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่ระบบการศึกษาไทยต้องการเท่านั้น ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นเด็กเก่ง เป็นเด็กดี เป็นอนาคตของชาติที่ชาติไทยต้องการ
.
ระบบการศึกษาไทยพยายามสร้างเด็กให้เหมือนกันหมด ต้องถูกผลิตออกมาแบบเดียวกันหมด เด็กคนไหนที่ ‘ไม่เหมือน’ ที่ระบบกำหนดจะถูกทำให้กลายเป็นความผิดและถูกทอดทิ้งจากระบบการศึกษา ไม่เว้นแม้แต่เรื่อง ‘เพศ’
.
ปัจจุบันสิทธิของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้มีการคุ้มครองอย่างชัดเจนไว้ในกฎหมายใด ๆ จึงทำให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมาก ถูกปฏิบัติด้วยความไม่เข้าใจในเพศวิถีของนักเรียน เราจะเห็นได้ว่าในหลายโรงเรียนยังมีการเลือกปฏิบัติจากครูต่อนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องมาจากอคติหรือไม่เข้าใจในความหลากหลายทางเพศ
.
ครูในหลายโรงเรียนมีการบูลลี่เด็กนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศว่า “ตุ๊ด” “กะเทย” “อย่าเป็นตุ๊ดนะลูก” “ใครทำให้เพื่อนหายเป็นตุ๊ดได้จะให้คะแนนพิเศษ” หรือทำท่าวี๊ดว๊ายเวลาพบนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อล้อเลียน หรือปล่อยให้มีการบูลลี่นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง โดยไม่ปกป้องและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของครู ที่ต้องปกป้องนักเรียนทุกคนจากความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ?
.
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เด็กจำนวนมากรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเขา หลายคนไม่อยากไปโรงเรียนเพียงเพราะไม่ต้องการไปเจอกับความรุนแรงทางความรู้สึกเหล่านี้ที่ทำให้พวกเขารู้สึกอับอาย รู้สึกว่าเพื่อนไม่ยอมรับที่พวกเขาเป็นแบบนี้ ซ้ำร้ายที่สุดครูที่มีหน้าที่ปกป้องพวกเขากลับเป็นคนทำซะเอง
.
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการศึกษาไทยยังคงมองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นความผิดปกติ เห็นได้จากแบบประเมินพฤติกรรมของนักเรียนที่ระบุว่าการเบี่ยงเบนทางเพศเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เด็กคนไหนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องถูกตัดคะแนน หรือปรับทัศนคติเพื่อให้กลับมาเป็นชายจริงหญิงแท้ตามเพศกำเนิด ที่โรงเรียนมองว่าเป็นความถูกต้อง นี่ยังไม่นับรวมเรื่องชุดนักเรียนอีกนะคะ ที่เป็นหนึ่งในบรรทัดฐานในการกำหนดเพศของเด็กนักเรียน ซึ่งควรจะถูกตั้งคำถามอย่างมาก และควรจะยกเลิกมันไปได้แล้ว
.
“ระบบการศึกษาไทย ระบบราชการไทย ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ”
.
ไม่ใช่แค่นักเรียนที่มีความหลากหลายเพศนะคะ ที่ถูกทำร้ายจากระบบการศึกษาไทย แม้แต่ครูในระบบการศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศเองก็ไม่ได้รับการยอมรับและถูกกีดกันจากระบบการศึกษาและระบบราชการไทยเช่นกัน
.
ครูที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคน ถูกมองว่าเป็นคนวิปริตที่จะส่งต่อความวิปริตนี้สู่นักเรียน ครูที่เป็นทอม เป็นตุ๊ด เป็นกะเทย เป็นคนข้ามเพศ ถูกมองว่าจะสั่งสอนเด็กให้เป็นตุ๊ดรึเปล่า เด็กนักเรียนจะเลียนแบบพฤติกรรมของครูไหม จะกลายเป็นตุ๊ด เป็นกะเทยตามครูหรือไม่ และครูหลายคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้รับการเคารพจากระบบการศึกษาไทยเพียงเพราะเป็นคนข้ามเพศ แม้เขาจะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ต่างจากครูหญิง ครูชายที่มีความตั้งใจ
.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวของครูคนหนึ่งค่ะ เธอชื่อครูกอล์ฟ ครูคนนี้เป็นครูมากว่า 15 ปี เธอต้องการช่วยเหลือเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่มาขอร้องให้เธอเซ็นต์รับรองเพื่อให้เข้าถึงสิทธิกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ แต่ครูคนนี้ไม่สามารถเซ็นต์รับรองให้ได้ค่ะ เนื่องจากเธอไม่มีบัตรข้าราชการ เธอไม่ได้รับสิทธิจากการเป็นข้าราชการครู เพราะไม่มีเอกสารที่แสดงถึงการรับรองคุณวุฒิและวิชาชีพติดตัว และในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพียงเพราะเธอเป็น ‘คนข้ามเพศ’
.
สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเขต 2 ปฏิเสธที่จะให้เธอทำบัตรข้าราชการและขอร้องให้เธอเปลี่ยนรูปถ่ายใหม่ เนื่องจากรูปที่ได้ยื่นคำขอขัดต่อระเบียบการแต่งกาย ด้วยเหตุผลที่ว่า คำนำหน้านามตามเพศกำเนิดเป็น “นาย” จึงต้องแต่งกายให้สอดคล้องกับคำนำหน้านาม
.
แม้ว่าครูกอล์ฟจะอุทิศตนให้กับลูกศิษย์อย่างสุดหัวใจ แม้ว่าเธอจะมีความรู้ความสามารถมากแค่ไหน แต่ระบบการศึกษาไทยเลือกที่จะไม่ยอมรับและปฏิเสธความเป็นครูของเธอ เพราะเธอมีเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิดที่ระบบมองว่าเป็นความถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่ไม่ว่าจะมีเพศสภาพแบบไหนก็ไม่สามารถมาวัดประสิทธิภาพของคนและคุณค่าความเป็นมนุษย์ได้
.
และที่น่าเจ็บปวดที่สุด ครูกอล์ฟได้เล่าว่า “คำที่เจ็บที่สุดและจำจนถึงทุกวันนี้ เขาบอกว่าที่นี่ไม่ได้ต้องการคนอย่างเธอ พ่อแม่จะรู้สึกยังไงที่มีลูกเป็นกะเทย”
ปัญหาเรื่องความหลากหลายทางเพศก็เรื่องนึง แต่เรื่องที่ไม่ควรมีตั้งแต่แรกคือการที่เด็กต้องกู้เงินมาเรียน ซึ่งนี่เป็นต้นตอปัญหาสำคัญที่มากกว่าค่ะ
.
“ความหลากหลายทางเพศคือความสวยงาม”
.
หญิงอยากจะบอกทุกคนว่าความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่น่ารังเกียจ แต่ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติและเป็นความสวยงามของมนุษย์
.
ตอนนี้ศตวรรษที่ 21 แล้ว เราควรยอมรับกันได้แล้วว่าโลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 เพศ แต่เต็มไปด้วยความหลากหลายมากมาย การมีเพศสภาพอื่นนอกจากชายหญิงไม่ใช่ความผิดปกติ การเป็น LGBTQ+ ไม่ได้ทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ลดน้อยลง ทุกคนควรได้รับการยอมในฐานะที่เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายอย่างเข้าอกเข้าใจ
.
เนื่องในโอกาส #pridemonth เดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ หญิงอยากให้การศึกษาไทยเคารพ ยอมรับ และเข้าอกเข้าใจในคนที่มีความหลากหลายเพศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน หรือผู้ปกครอง ระบบการศึกษาไทยควรจะมีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น คุ้มครองสิทธิของทุกคนทุกเพศในระบบการศึกษาให้เท่าเทียมกัน
.
การศึกษาไทยควรโอบกอดและโอบรับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นเพศอะไร ให้เป็นระบบการศึกษาที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น และไม่ทิ้งใครให้หลุดออกจากระบบการศึกษาเพียงเพราะว่าเขาไม่ใช่ผู้ชายผู้หญิงตามหลักสรีรศาสตร์ (Physiology) ระบบการศึกษาไม่ควรจะมีแม่พิมพ์แบบเดียว แต่ควรจะส่งเสริมให้นักเรียนได้เป็นตัวของตัวเอง ได้เติบโตในเส้นทางที่พวกเขาเลือก ได้มีความสุขในแบบที่เขาเป็น
.
ถ้าระบบการศึกษาคือด่านแรกที่สร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดี การศึกษาไทยก็ควรสร้างการยอมรับความแตกต่างในสังคมและการเคารพสิทธิความเสมอภาคของเพื่อนร่วมสังคม และนี่แหละค่ะคือสิ่งที่หญิงอยากจะเห็นจากระบบการศึกษาไทย
.
ดร.อรุณี กาสยานนท์
โฆษกพรรคเพื่อไทย
21 มิถุนายน 2564
.