‘มิน อ่อง หล่าย’ บินไปรัสเซียร่วมประชุมความมั่นคงมอสโคว์ พม่าเมินมติยูเอ็นห้ามค้าอาวุธ

พม่าไม่สนข้อมติยูเอ็นห้ามค้าอาวุธ อ้างใช้ข้อมูลด้านเดียว ผู้นำรัฐประหารบินเดี่ยวไปรัสเซียร่วมประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศ

กระทรวงต่างประเทศของสภาบริหารแห่งรัฐหรือเอสเอซี หรือรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อมติของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการระงับการขายอาวุธให้กับเมียนมา รวมถึงประณามการยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ข้อมติดังกล่าวถูกทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อกล่าวหาเพียงด้านเดียวและสมมุติฐานแบบผิดๆ และจะมีการส่งจดหมายคัดค้านข้อมตินี้ไปยังเลขาธิการสหประชาชาติรวมถึงประธานสมัชชาสหประชาชาติด้วย

ข้อมติที่ผ่านการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาฟื้นคืนประชาธิปไตยในประเทศและประณามการใช้ความรุนแรง พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศช่วยกันป้องกันไม่ให้มีการนำอาวุธเข้าไปในเมียนมา

ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ประธานาธิบดีวิน มินต์ และนักโทษทางการเมืองอื่นๆ ทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยปราศจากกฎเกณฑ์ ผู้ที่ถูกตั้งข้อหา และผู้ที่ถูกจับกุม

ข้อมติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก 119 ประเทศ โดยมีเบลารุสเป็นเพียงประเทศเดียวที่ลงมติไม่รับรอง ขณะที่อีก 36 ประเทศงดออกเสียง ซึ่งรวมถึงจีน อินเดีย รัสเซีย กัมพูชา สปป.ลาวและไทย

นายจอ โม ตุน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ซึ่งเคยประกาศท่าทีต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา และชู 3 นิ้วกลางที่ประชุมเพื่อแสดงจุดยืนดังกล่าว ลงมติรับข้อมตินี้ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินมาตรการที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อยุติการยึดครองอำนาจของกองทัพเมียนมา

ขณะที่แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศพม่าระบุว่า นายจอ โม ตุน ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งไปแล้ว และเขายังถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏทรยศต่อประเทศชาติ

“เมียนมาพร้อมที่จะน้อมรับคำแนะนำที่สร้างสรรค์จากประชาคมระหว่างประเทศ ในการรับมือกับความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ ขณะที่ความพยายามใดๆ ที่จะเข้ามาละเมิดอำนาจอธิปไตย และแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาจะไม่ได้รับการยอมรับ” แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ สำนักข่าวทาสซ์ของรัสเซีย รายงานโดยอ้างของสถานทีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวีของรัฐบาลทหารพม่าว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้เดินทางไปยังรัสเซียในวันนี้ เพื่อเข้าร่วมประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศที่กรุงมอสโคว์ซึ่งจัดในวันที่ 22 ถึง 24 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้ รัสเซียมีความสัมพันธ์อันดีกับพม่าตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหาร ก่อนที่พม่าจะเข้าสู่ยุครัฐบาลพลเรือนนาน 4 ปี ซึ่งทำให้ชาติตะวันตกเข้าเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ แต่แล้วการรัฐประหารของกองทัพพม่าที่โค่นรัฐบาลพลเรือนของพรรคเอ็นแอลดี ได้ทำให้ชาติตะวันตกและญี่่ปุ่นมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับรัฐบาลทหารพม่าที่ขาดความชอบธรรมทางการเมืองและกระแสแรงกดดันต่อภาคธุรกิจ ทำให้บริษัทต่างชาติบางแห่งที่ร่วมลงทุนกับธุรกิจที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของต่างประกาศถอนทุนออกจากพม่า อย่างกรณีบริษัทคิรินของญี่ปุ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พม่าแม้ต้องเผชิญมาตรการกดดันอย่างหนักจากชาติตะวันตก แต่ก็ถูกปกป้องจากชาติมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย แม้จีนจะเข้ามามีอิทธิพลต่อพม่ามาก แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ได้รักษาระยะความสัมพันธ์โดยกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียเพื่อคานกัน

ซึ่งแสดงออกได้ชัด ทั้งก่อนหน้านี้ที่ อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมรัสเซีย ได้เดินทางร่วมพิธีสวนสนามวันกองทัพพม่าที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือเมื่อกุมภาพันธ์ที่แล้ว พม่าได้นำเข้าระบบเรดาร์มูลค่ากว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากรัสเซีย ซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนอุปกรณ์เรดาห์ โดรนสอดแนมและ “แพนเซีย” ระบบจรวดป้องกันจากพื้นที่สู่อากาศ