วอชเชอร์ : ‘รัฐประหารพม่า’ เผยรอยร้าวใหญ่ของอาเซียน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ สมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ มีมติเสียงข้างมากต่อกรณีสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในพม่าถึง 119 เสียงจากชาติสมาชิก ทำการประณามรัฐบาลทหารพม่าในการก่อรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์และใช้อำนาจจับกุม ใช้อาวุธสังหารประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก และสนับสนุนการห้ามส่งขายอาวุธให้กับพม่า

แม้มตินี้จะไม่มีผลผูกมัด แต่ก็สะท้อนท่าทีและจุดยืนของการที่ประชาคมระหว่างประเทศได้ว่า ชาติใดไม่เอาวิธีเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและนำไปสู่การเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดร้าย

อย่างไรก็ตาม กลับมีชาติสมาชิกที่เลือกจะวางเฉยและงดออกเสียงถึง 36 เสียง (เบลารุสเป็นประเทศเดียวที่เลือกคัดค้านการประณาม) โดยจำนวนนี้ มีชาติสมาชิกอาเซียนถึง 4 ประเทศที่ไม่แสดงท่าทีอย่าง บรูไน กัมพูชา สปป.ลาวและ ไทย

ในขณะที่ ทูตพม่าประจำยูเอ็นที่อยู่ฝ่ายต้านรัฐประหาร อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และเวียตนาม ยกมือสนับสนุนมติ

กลายเป็นว่า มตินี้ สะท้อนให้เห็นว่า อาเซียน ได้มาถึงจุดตกต่ำของตัวเองแล้ว

สถานการณ์ในพม่า ได้เผยถึงความป่วยของอาเซียน หลังการรัฐประหารในพม่า 1 กุมภาพันธ์เกิดขึ้นได้ไม่นาน ในขณะที่อาเซียนขยับตัวช้ามาก คนที่ออกมาแสดงท่าทีในเวลาอันรวดเร็ว กลับเป็นชาตินอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างสหรัฐฯและบางประเทศในยุโรป

ไม่่เพียงความตื่นตัวต่อความรุนแรงในพม่าที่ช้าเท่านั้น ในช่วงที่พม่าส่อเค้าใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ชาติสมาชิกอาเซียน ก็มีจุดยืนแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งประณามการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน กับอีกฝั่งที่มองว่าเป็นเรื่องภายใน ไทยเลือกฝั่งอย่างหลัง

และเป็นการตอกย้ำท่าทีของไทยที่ไม่ดูดำดูดีชีวิตชาวพม่าที่ออกมาประท้วงรัฐบาลทหาร ด้วยการเปิดบ้านต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า ก่อนที่ต่อมารัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียจะบินมาพบเพื่อหารือ ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นเพียงได้เนื้อหาเพื่อหารือต่อในที่ประชุมอาเซียน

ไม่นับการไม่ให้ผู้ลี้ภัยความรุนแรงจากพม่าเข้าไทย ปมข่าวฉาวการสนับสนุนเสบียงให้ทหารพม่าในแม่สามแลบ ที่สะท้อนท่าทีอันไม่เป็นทางการว่า ไทยสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า

หรือล่าสุดที่ โทนี่ วูดซัม พูดในคลับเฮ้าส์ว่า ที่ปรึกษาของปธน.สหรัฐฯ มาเปิดเผยว่า ไทยเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในการรัฐประหารและทหารมาเล่นการเมือง จนพม่าเอาเป็นแบบอย่าง

หลังผ่านการรัฐประหารมาได้ 2 เดือน และชาวพม่าถูกจับกุม สังหารโดยกองทัพพม่าแล้วหลายร้อยราย อาเซียนผ่านฉันทามติ 5 ข้อ พม่าจะต้องยุติความรุนแรงผ่านการเจรจา โดยอาเซียนจะเป็นตัวกลางให้กับกระบวนการเจรจา

แต่การเมืองในพม่าช่วงนั้น แบ่งออกเป็นหลายฝ่ายมาก นอกจากสภาบริหารแห่งรัฐหรือรัฐบาลพม่า ยังมีฝ่ายประชาชนผู้ประท้วง กองทัพชาติพันธุ์ และรัฐบาลคู่ขนานของฝ่ายประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้ง (ต่อมาได้รวมตัวกับกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี))

ในภาวะแบ่งขั้วหลายฝ่ายชัดเจนแบบนี้ อาเซียนจะต้องวางตัวอย่างระมัดระวัง หากเข้าหาฝ่ายไหนมากกว่า ย่อมถูกมองจากหลายฝ่ายว่าไม่เป็นกลาง ทว่าอาเซียนได้แสดงท่าทีไม่แข็งกร้าวแถมถ้อยทีถ้อยอาศัยกับ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำก่อการรัฐประหาร ต้องการประณีประนอม

ทั้งๆที่การกระทำและจุดยืนของรัฐบาลทหารพม่านั้นชัดเจนคือ การสร้างการเมืองแบบยุคนายพล เต่ง เส็ง ที่ทหารมีบทบาททางการเมือง กำหนดทิศทางความเป็นไปของพม่า ในนามการพิทักษ์รักษาเสถียรภาพและความมั่นคง และรักษาผลประโยชน์กับธุรกิจที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดก่อนที่ชาติสมาชิกอาเซียนจะร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นคือ ตัวแทนอาเซียนได้เข้าพบมิน อ่อง หล่ายที่พม่า เพื่อหารือคลี่คลายสถานการณ์พม่า ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของชาวพม่าที่ต้องการให้อาเซียนเข้าหายูเอ็นจีในฐานะรัฐบาลที่ได้รับความชอบธรรมจากประชาชนพม่ามากกว่า

แต่การที่อาเซียนเลือกพบมิน อ่อง หล่ายก่อนนั้น กลายเป็นวิกฤตศรัทธา และทำชาวพม่าจำนวนมากผิดหวัง ถึงขั้นรุมเหยียบย่ำและเผาธงอาเซียนอย่างโกรธแค้น

และยิ่งตอกย้ำอีกกับมติในเวทียูเอ็นล่าสุดนี้ ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า อาเซียนไม่มีน้ำยาที่จะแสดงความเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่จะตัดสินใจอย่างกล้าหาญ แต่กลับยิ่งเห็นผลประโยชน์ของชาติ มากกว่าเห็นค่าของชีวิตพลเมืองอาเซียนแม้อยู่คนละประเทศ

และที่สำคัญ หลักการที่ยึดถือกันอย่าง ฉันทามติของชาติสมาชิก กลับพังทลายและพาอาเซียนเข้าใกล้อวสาน