‘สุรเชษฐ์’ แนะยึดเป้าใหญ่ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ ก่อนถกระบบเลือกตั้ง ยันเอาระบบเยอรมนี

‘สุรเชษฐ์’ แนะยึดเป้าใหญ่ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ ก่อนถกระบบเลือกตั้ง ชี้ เสน่ห์ ปชต.ต้องเห็นต่างกันได้ ยืนยัน บัตร 2 ใบ แบบเยอรมัน สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนได้ถูกสัดส่วน

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ  ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แสดงทัศนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติ่มรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่ควรจะเป็นในประเทศนี้ว่า ความจริงแล้วตอนนี้ประเด็นสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายควรพุ่งเป้าให้ชัดร่วมกันไปที่การต่อสู้กับเผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจผ่านกลไก ส.ว. หรือการแก้มาตรา 272 เพื่อ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ ไม่ให้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หากฝ่ายรัฐบาลจับมือกับ ส.ว. โหวตคว่ำการแก้ไขมาตรานี้ของพรรคร่วมฝ่ายค้านไป เชื่อว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านก็คงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องไปรับข้อเสนอหรือโหวตผ่านญัตติใดของพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน
.
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นรองลงมาคือเรื่องระบบเลือกตั้งที่ดูเหมือนยังไม่เป็นที่ตกผลึกกันเสียทีเดียว เรื่องนี้หากจะบอกว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 40 หรือแนวคิดระบบจัดสรรปันส่วนผสมเป็นระบบ ‘กลายพันธุ์’ หรือเป็นการเลือกตั้งที่พวกสมุนนิยมเผด็จการต้องการนั้นก็ดูจะเป็นความคิดคับแคบไปสักหน่อย หรือจะว่ายังไม่ขานรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆจากสถานการณ์ที่เป็นจริงของปัจจุบันก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพูดถึงความจำเป็นของการมีระบบเลือกตั้งและกระบวนการที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้ได้มากที่สุดนั้น ทำไมจึงไม่มองให้เป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ว่าระบบที่ว่านั้นคืออะไร แน่นอนว่าตอนนี้ทุกคนเห็นตรงกันหมดสำหรับระบบจัดสรรปันส่วนแบบมีชัยที่ใช้บัตรใบเดียวว่าไม่ควรนำมาใช้ต่อแน่ แต่หากจะบอกว่า ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบจะต้องเป็นระบบตามรัฐธรรมนูญ 40 เท่านั้น ที่สะท้อนเจตนารมณ์ได้มากที่สุด ตรงนี้ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ทั้งในทางวิชาการและสภาพการณ์ของปัจจุบัน เพราะเอาเข้าจริงระบบจัดสรรปันส่วนผสมไม่ใช่เรื่องกลายพันธุ์แต่ถุูกทำให้กลายพันธุ์ไปก่อเพราะมีชัย การปรับกลับมาให้ถูกต้องจึงไม่ใช่ระบบสมุนนิยมเผด็จการแน่ และระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบ 2 ใบ หรือ MMP ก็เป็นระบบสากลแบบหนึ่งที่มีหลายประเทศยอมรับ นำไปใช้และสามารถสร้างเสถียรภาพมีความมั่นคงต่อเนื่องทางนโยบายได้เช่นกัน
.
“ผมคิดว่าระบบเลือกตั้งที่เป็นข้อถกเถียงกันเวลานี้กำลังเดินอยู่บนทางแยกระหว่าง การเมืองเก่ากับ การเมืองใหม่ มากกว่า ซึ่งความแตกต่างในแนวร่วมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเลือกคือ เสน่ห์ของระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็มีสิทธิ์เสนอแนวทางและเหตุผลของตน แม้ว่าจะมีแนวทางที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด เช่น พรรคก้าวไกล เห็นต่างจากพรรคเพื่อไทย ในกติกาการคำนวณคะแนน แต่เราเห็นตรงกันว่าควรใช้บัตร 2 ใบ “เลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ” เหมือนกัน จุดต่างคือ พรรคก้าวไกลต้องการใช้ระบบแบบเยอรมัน หรือ MMP ในการคำนวณให้ได้จำนวน ส.ส. ในสัดส่วนที่ถูกต้องตามที่ประชาชนเลือก แทนที่ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 40 ที่ทำให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมาก และได้สัดส่วน ส.ส. โดยรวมมากกว่าที่ควรจะเป็น และมีคะแนนตกน้ำหรือคะแนนที่ไม่ถูกนำมาคิดอยู่มาก หากมองในแง่นี้ ระบบ MMP ก็จะตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่มากกว่าในความคิดของพรรคก้าวไกลและในทางวิชาการ”
.
สุรเชษฐ์  กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าสำหรับระบบเลือกตั้งคือการโหวตให้ญัตติของพรรคพลังประชารัฐ โดยที่ยังไม่ได้แก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจของ ส.ว. และมาตราอื่นๆที่เป็นมรดกอำนาจของ คสช. บางคนอาจมองว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะถึงยังไงก็กำขี้ดีกว่ากำตด หากมองในมุมกลับกันถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ ‘ระบอบประยุทธ์’ เดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแรงขึ้นผ่านการฟอกตัวด้วยการเลือกตั้งที่ถูกยอมรับ โดยการประชามติแก้ ม.256 เพื่อตั้ง สสร.อาจไม่มีโอกาสได้เกิดเพราะอาจมีการเลือกตั้งแทรกขึ้นก่อนและเมื่อได้รัฐบาลก็สามารถอ้างต่อได้ทันทีว่า มาตามระบบเลือกตั้งที่ชอบธรรมแล้วไม่มีความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญอีก สิ่งที่อันตรายในเรื่องนี้คือ ต่อให้พรรคเพื่อไทยชนะ สิ่งที่เคยหวังว่าจะขับเคลื่อนนโยบายหรือเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งได้ก็จะถูกทั้งกรอบยุทธศาสตร์ศาสตร์พันแข้งพันขา ในด้านกฎหมาย ส.ว.ก็ยังมีบทบาทในการพิจารณากฎหมายสำคัญ หรือกระทั่งองค์กรอิสระทั้งหมดก็พร้อมที่จะฟันทุกเรื่องจนกระดิกตัวไม่ได้ ในอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นไปได้มากกว่าคือ การจะได้เสียงจำนวนมากพอที่จะชนะพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. 250 คนได้ในสถานการณ์ที่รัฐบาลคุมทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุนและอิทธิพลในพื้นที่เป็นเรืองที่ยากมากหรือโอกาสแทบไม่มีเลย ในระบบนี้พรรคเพื่อไทยจึงอาจแค่กลายเป็นฝ่ายค้านที่มีเสียงมากขึ้น แต่เพื่อนมิตรพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เคยจับมือสู้กันมา หรืออดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่แยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ซึ่งต่อต้านเผด็จการเช่นกันก็คงไม่อาจเข้าสู่สภาเพื่อไปร่วมต่อสู้ได้เหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น หากไม่ปิดสวิตช์ ส.ว.เสียก่อน แล้วมองว่าเรื่องระบบเลือกตั้งแบบไหนค่อยไปว่ากันต่อใน สสร. โดยไปโหวตรับเพื่อให้มีการเลือกตั้งเสียก่อนก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้ระบอบประยุทธ์ ‘ยุคที่สาม’เกิดขึ้นและมีความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม