1 ปี CARE : เก็บตกมุมมองหาทางออกสู่อนาคตประเทศไทย จากหลัง 150 วันอันตราย สู่เตรียมพร้อมกับอนาคตก่อนสาย

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 เมื่อเวลา 20.00 น. กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้จัดงานเสวนาแบบเสมือนจริงภายใต้ชื่องาน  CARE THE FUTURE ในวาระครบรอบ 1 ปี ของการก่อตั้งกลุ่มแคร์ นับเป็นการสรุปสิ่งที่กลุ่มแคร์ได้นำเสนอมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผ่านบุคคลหลายกลุ่ม หลายวงการที่มาร่วมปันความคิดเพื่อเป็นข้อเสนอและทัศนะให้คนไทยชวนได้ขบคิดเพื่อสร้างความตื่นตัวและร่วมทางออกให้กับประเทศไทยที่ต้องเผชิญความท้าทายใหญ่ในขณะนี้

โดยในช่วงแรก เริ่มในหัวข้อ “คนไทย ไร้จน” รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ยกระดับสวัสดิการเพื่อคนไทย ได้นักเขียนและพิธีกรชื่อดังอย่าง ลักขณา ปันวิชัย หรือในนามปากกา “คำ ผกา” มาร่วมชวนคิดกับความพยายามที่จะสร้างหลักประกันพื้นฐานให้กับมนุษย์ในภาวะที่ต้องอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีจนส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจดำดิ่งสู่ความมืดมิด?

ลักขณา ฉายภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยว่า ปี 2019 เรามีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.06 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน  5 ของจีดีพี ประชากรร้อยละ 10 ของประเทศ ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้หรือ 7 ล้านคน แต่จากสถานการณ์โควิด-19 หลายๆสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจคาดว่า ครึ่งปีหลังของปี 2564  ถ้าทุกอย่างเริ่มคลี่คลายจะทำให้เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 1.25 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศ 64,000  ล้านบาท ถ้าลองเอาตัวเลข 64,000 ล้านบาท เทียบกับตัวเลข 3.06  ล้านล้านบาทว่า รายได้ของประเทศหายไปเท่าไหร่

และอย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ยังไม่ได้พูดถึงภาคส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจ

หันมาดูหนี้ภาวะครัวเรือนไทย เมื่อปี 2549  ระดับหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ ร้อยละ 44.4  ของจีดีพี มาถึงปี 2564 ระดับหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งไปที่ ร้อยละ 89  และอาจไปได้ถึง ร้อยละ 92 คิดเป็นมูลค่า 14.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อบ้าน ร้อยละ 34 ที่เหลือ เป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภค และมาดูหนี้นอกระบบ ที่คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 3 เท่ากับ ร้อยละ 1,000  ต่อปี

ตามข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปี 2560 พบว่า คนไทยใน 10 ล้านครัวเรือนมีหนี้สิน โดย 91% เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียวเฉลี่ยประมาณ 1.5 แสนบาท/ครัวเรือน ขณะที่อีก 4.9% เป็นหนี้นอกระบบประมาณ 3,346 บาท/ครัวเรือน บางรายเป็นหนี้นอกระบบสูงกว่า 3.8 หมื่นบาท/คน และอีก 3.7% เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ และอาชีพกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจ แรงงาน จะเป็นกลุ่มคนที่มีหนี้มากที่สุด แต่ที่น่าตกใจคือ 79% เคยผิดช้ำระหนี้

แล้วเรามาดูตัวเลขคนยากจนในประเทศไทย แม้ไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนจากเดิมที่ร้อยละ 65.2 ในปี 2531 จนเหลือร้อยละ 9.85 ในปี 2561 แต่ว่าอัตราการลดลงนั้นค่อย ๆ ช้าลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2561 ประชากรที่ยากจนมีจำนวน 6.7 ล้านคน เพิ่มจากปี 2558 มา 1.8 ล้านคน (คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 7.21 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.85)

กรุงเทพฯ มีอัตราการลดลงของความยากจนเร็วที่สุด ในขณะที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีอัตราการลดความยากจนช้าที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่เปราะบาง รูปแบบเศรษฐกิจไม่หลากหลาย และพึ่งพาภาคเกษตรกรรมมากว่า ทำให้เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและภัยธรรมชาติ

จังหวัดที่มีคนยากจนมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน (ร้อยละ 49.13) ปัตตานี (39.27) กาฬสินธุ์ (31.26) นราธิวาส (30.10) และตาก (28.97) อัตราความยากจนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 2560 และในทางจำนวน พบว่าในปี 2558-2561 จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนคนในพื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

พอมาดูความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในไทย จำนวนสินทรัพย์ของคนทั้งประเทศไทยมากกว่า 77% ไปกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่สุดของไทยที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด ก็ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก

พอมาสำรวจปัจจัยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ จะพบว่า

  • คนไทยกว่า 31% ทำงานในภาคเกษตร แต่กลับเจอราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้การเติบโตของรายได้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น
  • ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งมิติโอกาสทางการศึกษา กลุ่มคนรายได้น้อยจะเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้น้อย สิทธิแรงงานอยู่ในระดับต่ำ ค่าแรงที่เติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจ นอกจากนี้นโยบายของรัฐยังซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ เช่น แรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง กำไรที่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ทำให้รายเล็กแข่งขันยาก และภาครัฐยังขาดมาตรการสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ
  • สถานการณ์โควิด-19 กระทบรายได้กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า ขณะที่แรงงานนอกระบบมีจำนวนมาก (54% ของแรงงานทั้งหมด) แต่ขาดรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง
  • ประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง

(ที่มา https://thestandard.co/4-causes-of-inequality-in-thailand/)

หมายเหตุ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยประเทศไทย คือ ปี 2012 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทย อยู่ที่ 6.85% (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 0.75% อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย อยู่ที่ 7.6% เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2555) ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.1%  แคนาดา 2.6 % เกาหลีใต้ 1.7%

ลักขณากล่าวอีกว่า เมื่อดูสารรูปประเทศไทยตอนนี้ ทั้งความเหลื่อมล้ำ,หนี้ครัวเรือน,เครื่องยนตร์ทางเศรษฐกิจดับทุกตัว,ความยากจนเพิ่ม และผู้ประกอบการรายย่อย กลายเป็นผู้ล้มละลายทางธุรกิจ จากคนชั้นกลางที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลายเป็นกลุ่มคนที่หมดหวังในชีวิต และหมดอาลัยตายอยากในชีวิต

การศึกษาของเราต้องการการปฏิรูปใหญ่เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ไม่ได้ทำ แล้วมาเจอสถานการณ์โควิด ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ระบบการศึกษาไทยนอกจากจะไม่เป็นเครื่องมือให้พลเมืองใช้เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ ยังเป็นตัวเหนี่ยวรั้ง เพิ่มความเหลื่อมล้ำ และปัดคนอีกค่อนประเทศให้เคว้งคว้างกับชีวิต

ประเทศไทยตกขบวนเศรษฐกิจโลก เปรียบไปก็คล้ายกับที่คนอื่นๆเขาใช้  smart toilet กันแล้ว เรายังนั่งส้วมหลุมกันอยู่ หรือคนอื่นเขาไปอวกาศ แต่เรายังพยายามจะประกอบเกวียนเพือใช้ในการเดินทาง

การบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาด บกพร่อง จะทำให้ประเทศไทยตกขบวนซ้ำซ้อน เพราะในขณะที่ประเทศอื่นๆ เริ่มเปิดประเทศ เราจะกลายเป็นประเทศที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวแต่ไม่สามารถสร้าง  herd immunity

“ภาพของประเทศไทยที่เราจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้คือ ประเทศที่คนร้อยละ 70  ถูกทำให้ยากจน อ่อนแอ สิ้นหวัง ขาดโอกาสในชีวิต ปราศจากความภาคภูมิใจในตนเอง ท้อแท้ หดหู่ ไม่สามารถจินตนาการได้ว่าตนเองจะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเครื่องมือใดบ้างระบบการศึกษาพังทลายไปทั้งระบบตั้งแต่ อนุบาล ยันมหาวิทยาลัย ไม่อาจเป็นทั้งเครื่องมือในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ไม่แม้แต่จะสามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะ ฝีมือเข้าสู่ตลาดแรงงาน” ลักขณา กล่าว

สังคมไทยต้องการ “ปลา” ไม่ใช่ “เบ็ด”

ลักขณากล่าวเน้นว่า บอบช้ำกันขนาดนี้ สำหรับดิฉัน ทางออกเร่งด่วนของประเทศไทยคือ การประกันรายได้ถ้วนหน้า (Universal Basic Income-UBI) หรือ บางทีเรียกว่า guarantee minimum income  การประกันรายได้พื้นฐาน บ้างก็เรียกว่า  citizen income  รายได้พลเมือง บ้างก็เรียกว่า basic income  รายได้พื้นฐาน แต่แนวคิด UBI ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักเศรษฐศาสตร์อย่างมิลตัน ฟรายด์แมน (Milton Friedman)  เสนอไอเดีย  negative income มาตั้งแต่ปี 1962 แนวคิด UBI ถูกนำมาทดลองใช้ในหลายประเทศทั่วโลกมาตั้งแต่ ปี 1982

โดยกรอบคิดหลักของ UBI  ไม่มีอะไรเลย เป็นสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดในโลก มาจากแนวคิดที่ว่า ทุกคนบนโลกใบนี้สมควรที่มีเข้าถึง / ได้รับมาตรฐานการดำรงชีวิตขั้นต่ำ ไม่ว่าเขาจะทำงาน หรือไม่ทำงาน จะขยันหรือ ขี้เกียจ จะโง่ หรือ ฉลาด – หากเราคิดว่า มนุษย์คนหนึ่งต้องมี เสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย – มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิ่งเหล่านั้นพื้นฐานที่ต่ำที่สุดเท่าที่ชีวิตของพวกเขาพึงมี เรียบง่ายกว่านั้น UBI ไม่ต้องการยืนยัน หรือ พิสูจน์ตัวตน ความยากจน ความขยัน ความมุ่งมั่นใดๆทั้งสิ้น ซึ่งมีข้อดี 2 ประการคือ

1.ลด paper work ลดความยุ่งยากการทำงานแบบราชการลงไปเกือบหมด ซึ่งหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายของงบประมาณ – ไม่ใช่ เอางบฯ มาเป็น UBI หมื่นล้าน แต่มีงบฯ สำหรับจัดงานเงิน UBI สามหมื่นล้าน

2.UBI ที่แท้ทรู ย่อมไม่เรียกร้องให้ผู้รับต้องเป้นคนดี ต้องขยัน ต้องประหยัด เพราะเราต้องไม่ลืมว่า UBI คือ การมอง “คุณภาพชีวิตขั้นต่ำสุดที่มนุษย์พึงมี” ให้แก่ พลเมืองดังนั้น keyword ของ UBI คือ No string attach

“นี่คือการแจกปลา และเป็นปลาที่ทอดสุกแล้ว พร้อมกิน  เพราะคนในสังคมของเราจำนวนมากไม่มีแรงแม้แต่จะเดินออกจากบ้านไปที่แม่น้ำเพื่อตกเบ็ด หรือ ต่อให้เราให้เบ็ดเขาไป  แม่น้ำก็อยู่ไกลจากเขาเกินไป และที่สำคัญ ในแม่น้ำนั้นก็ไม่มีปลาด้วย” ลักขณา กล่าว

เมื่อถามรัฐบาลจะริเริ่ม UBI ได้อย่างไร ลักขณากล่าวว่า

ก.จ่ายเงินเดือนให้คนที่จนที่สุดในประเทศ สองล้านคนแรก เดือนละ 2,000  บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน โดยไม่มีเงื่อนไข – ใช้งบประมาณประเทศ

ข.รัฐทำให้ บ่อน, หวยใต้ดิน, ธุรกิจใต้ดินทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมาย ขึ้นมาอยู่บนดิน และใช้ภาษีเหล่านั้นตั้งกองทุน เป็น  State Fund  บริหารเงินมาจ่ายเป็น  UBI  ให้ประชาชน

ค.รัฐเปิดโอกาสให้ เอกชน ทำ  crown funding  ทำ UBI  ของตนเองได้ เช่น ให้กลุ่มแคร์ ระดม ทุน และให้  UBI  กับกลุ่มคนที่กลุ่มแคร์ เห็นว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เช่น กลุ่มที่เปราะบางที่สุดของสังคม เป็นต้น

ง.ลดงบประมาณกองทัพ ความมั่นคง งบฯ ซื้อาวุธ งบฯ ป้าย งบฯ การจัดงาน สถานที่ ที่ไม่ก่อให้เกิดปรัโยชน์กับประชาชน – สะสางงบฯ เหล่านี้ออกมาได้ เราจะมีเงินทำ  UBI ให้คนทั้งประเทศ

จ.ในกรณ๊ที่จะจ่าย UBI  ให้คนทั้งประเทศ รัฐตั้งกองทุนสำหรับให้คนที่ “ไม่ลำบากทางการเงิน” โอนเงินเดือนตัวเองกลับไปที่กงอทุนนี้ แลกกับ  tax point  เป็นแต้มสะสมเพื่อประโยชน์ทางภาษีได้

นอกจากนั้น ลักขณากล่าวถึง อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ  UBI  คือ คนชอบคิดว่าคนที่ไม่ทำงาน ไม่ควรจะได้เงิน แต่  UBI  เชื่อว่า เสรีภาพทางการเงินจะปลดปล่อยศักยภาพของคน และ คนจำนวนมากในสังคมนี้ ถ้าให้เขาอยู่บ้าน รับเงินเดือนสำหรับยังชีพ เขาจะสร้างความเสียหายให้กับสังคมและตนเองน้อยกว่าการออกมาทำงาน

UBI เพิ่ม ความสุข ลดความเครีบยด เพิ่มความไว้วางใจของผู้คนในสังคมที่มีต่อกัน ลดปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากความยากจน ลดปัญหาทางสุขภาพ เพิ่มโอกาสในการศึกษา – ในระยะยาว สิ่งเหล่านี้คือ สุขภาวะของสังคมโดยรวมที่ประเมินค่าออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้ ด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้ ลักขณากล่าวว่า เราอ่อนแอเกินกว่าจะออกไปจับปลา และที่แม้น้ำนั้นก็ไม่มีปลาให้เราเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือ ปลา ไม่ใช่ เบ็ด และต้องเป็นปลาที่มากพอจะทำให้เราอิ่ม และสมองเราแจ่มใจ ดวงตาของเราสุกสกาวอีกครั้ง  ไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อยที่โยนมาหน้าบ้านแล้วทวงบุญคุณไปอีกสามชาติครึ่ง

“วันหนึ่งที่เราแข็งแรง และดวงตาของเราสุกสกาวเพราะเราได้กินอิ่ม ได้นอนอุ่น ได้อยู่ในสังคมที่ปลอดภัยและเคารพกันและกันอย่างไม่เงื่อนไข วันนั้นแหละ เราจะไม่ทำแต่เบ็ด แต่เราจะเป็นเจ้าของเรือประมงเองได้ หรือหากเราจะไม่กลายเป็นอะไรเลย  เราก็จะแค่กินอิ่ม นอนอุ่น และตายไปโดยไม่ต้องเป็นภาระของใครที่อยู่ข้างหลัง”

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี / ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ : จาก 150 วัน อันตราย ถึงวิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด-19

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 เมื่อเวลา 20.35 น. กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้จัดเวที Virtual Talk ในชื่อ CARE THE FUTURE ในวาระครบรอบ 1 ปี ของการก่อตั้งกลุ่มแคร์ โดยรอบนี้ นำเสนอถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการจัดการปัญหาเพื่อพาประเทศออกจากวิกฤต ในชื่อ จาก 150 วันอันตราย ถึงวิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อดีต-อนาคต การจัดการโรคระบาดและหุบเหวเศรษฐกิจ โดยได้ผู้นำเสนออย่าง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง  และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขและอดีตรองนายกรัฐมนตรี

นพ.สุรพงษ์ กล่าวนำเรื่องว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่สามารถรับมือโควิด-19 ได้ เทียบเท่ากับนิวซีแลนด์,เวียตนาม,ไต้หวัน

แต่คำถามคือ ทำไม? ประเทศไทยในปีนี้ วันนี้ เราถึงได้รับการจับตาว่าเรากำลังล้มเหลวในการควบคุมโรคโควิด-19 ในขณะที่อีก 3 ประเทศ ที่เมื่อปีที่แล้วควบคุมได้ดี วันนี้ก็มีผู้ป่วยสะสมอยู่หลักพันเท่านั้น ประเทศไทยวันนี้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมเข้าไป 2 แสนคนแล้ว แล้วในขณะที่ประเทศไทยจะสามารถควบคุมได้ดี ในปีที่แล้ว มีผู้ป่วยสะสมเพียง 3,000 คน แต่เศรษฐกิจของเรากลับมีปัญหามากมาย แม้จะมีเงินกู้เพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท ก็ยังไม่สามารถประคองเศรษฐกิจ และทำให้สภาวะทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกได้เลย ติดลบไปถึง 6% มาปีนี้ (2564) มีผู้ป่วยถึง 2 แสนคน เราจะหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างไร

วันนี้จึงคุยกับอ.ศุภวุฒิ ตอนเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงตั้งกลุ่มแคร์ อ.ศุภวุฒิเป็นคนเสนอว่า นี่เป็น 150 วันอันตราย ที่เราจะต้องมีการทำอะไรซักอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประเทศไทยจมดิ่งกับภาวะเศรษฐกิจ แล้วตอนนี้ 150 วันอันตราย ที่อ.ศุภวุฒิ เคยกล่าวไว้เป็นอย่างไรบ้าง?

เช็คอาการหลัง 150 วันอันตราย

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวถึงคำเตือนที่เคยพูดไว้ว่า ผ่านไปอย่างยากลำบาก และยังไม่ผ่านเลย จนกลัวว่าจะยังไม่ผ่าน เพราะว่า ถ้าดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ กำลังถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดรอบใหม่ แต่ถ้ากลับไปดูเรื่องของเดิมๆอยู่ เมื่อเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2564) ผมเห็น ได้มีการพูดในงานสัมมนา เจ้าของคือเลขาสภาพัฒน์ฯ(ดนุชา พิชยนันท์) เอง ได้ออกมายอมรับเองว่า ในช่วงนี้ 1 ปีผ่านมาที่ต้องเจอโควิด บางส่วนอย่างเอสเอ็มอี ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย แล้วก็รู้ด้วยว่า การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญ ก็น่าเสียดายมาก เวลาผ่านไป จากวันนั้นที่เราคุยกันเดือนมิถุนายนเนี่ย การช่วยเหลือฝ่ายที่สำคัญ ไม่ได้เกิดขึ้นเท่าไหร่ คราวนี้ ถ้ามาถามเรื่องตัวเลขวิกฤตเนี่ย สำหรับกลุ่มนี้ ผมได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมมาให้ดู ภาพคร่าวๆคือ ในช่วงภาวะปกติ ไตรมาส 4 ของปี 2563 มีการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ราว 5 ล้านล้านบาท และมีระดับ NPL อยู่ 8% พอมาโดนโควิดเนี่ย ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อเหลืออยู่ที่ 3 ล้านล้านบาทเอง ส่วนที่หายไปเยอะๆนั้น สงสัยว่าถูกดึงออกไปให้สถาบันการเงินของรัฐไปดูแล เราเห็นแค่ว่าตัวเลขการปล่อยสินเชื่อลงไปกว่าล้านล้านเลย อาจจะไปไว้ที่อื่นก็ได้

“แต่คราวนี้ ปัญหาคือว่า จากวันนั้นไตรมาส 3 ของปีที่แล้วที่เราเตรียม 150 วันอันตราย ปรากฎว่า สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้กับเอสเอ็มอี กลับไหลลงมาเรื่อยๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะพูดอะไรก็ตาม จะรู้เลยว่าเอสเอ็มอีนั้น ได้สินเชื่อน้อยลง เพราะปริมาณการให้สินเชื่อนั้นลดลงมาตลอด” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า ตัวเลขล่าสุดในไตรมาส 1 ปี 2564  ที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วงคือ แม้ตัวเลข NPLจะนิ่ง แต่ตัวเลขกลุ่มหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (Special Mention Loan-SM) คือ NPL เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ได้จ่ายติดต่อกัน 3 เดือน ตัวเลขนั้นดูเลี้ยงให้เหมือนนิ่ง แต่ตัวเลขที่ไม่นิ่ง กระโดดขึ้นมา คือกลุ่ม SM เป็นตัวเลขที่ลูกหนี้เริ่มจ่ายดอกเบี้ยไม่ได้เดือนแรก แล้วธนาคารรู้ว่าจะมีปัญหา ตอนนี้ตัวเลขเด้งขึ้นมาเลย ฉะนั้นกลุ่ม SM และNPL คิดเป็นร้อยละ 20 ของสินเชื่อ ที่ให้กับเอสเอ็มอี (นพ.สุรพงษ์กล่าวเสริมว่า แค่ NPL 3-4% ถือว่าน่ากลัวแล้ว) เห็นชัดเลยว่า เอสเอ็มอี มีปัญหามากๆ แล้วขนาดของปัญหา เอา 2 ตัวเลขนี้มารวมกัน คือ 7 แสนล้านบาทโดยประมาณ

ทีนี้ ตัวเลข 7 แสนล้าน มีความน่าสนใจที่ว่า เรามาเปรียบเทียบกับมาตรการที่รัฐบาลช่วยเหลือเอสเอ็มอี ตอนนั้นออกมามีซอฟต์โลน 5 แสนล้าน ปีที่แล้ว ปรากฎว่าปล่อยไม่ออก เพราะธนาคารบอกว่าเงื่อนไขแบบนี้ และสถานการณ์แบบนี้ วัคซีนไม่มีแบบนี้ เอาไปแค่ 1.3 แสนพอ

นพ.สุรพงษ์กล่าวเสริมอีกว่า จำได้ว่าปีที่แล้ว ตอนนั้น อ.ศุภวุฒิเสนอไว้ว่า ธนาคารคงไม่กล้าปล่อย ก็ต้องพยายามรักษาตัวเอง และอาจารย์ยังเสนอว่า ควรจะต้องให้ซอฟต์โลน 2 ล้านล้านบาท แล้วให้รัฐบาลค้ำประกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อได้ ถ้าเกิดมีปัญหาหนี้เสีย รัฐบาลก็ให้แค่พันธบัตร ให้ธปท.ซื้อ ในอายุ 100ปี

ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่ออีกว่า คือประเด็นเป็นแบบนี้ เรื่องของโควิด-19 ไม่ใช่ความผิดของเอสเอ็มอี เป็นอะไรที่รุนแรงมาก ตอนนั้นที่เราคุยกัน อยากให้รัฐบาลสร้างสิ่งที่เหมือนสะพานให้ทุกคนข้ามโควิด-19  แล้วพอข้ามไปแล้ว วันนั้นค่อยมาคุยกัน แต่วันนี้สะพานพาไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง ทุกคนร่วงหมด เพราะสะพานราคา 5 แสนล้านนั้นก็ไม่พอ แล้วสะพานปล่อยมาได้ 1.3 แสนล้านอีก

ล่าสุดคราวนี้มาบอกว่า รัฐบาลขอปรับมาตรการ ส่วนที่ปล่อยไม่ได้ ที่เรียกว่า Asset Warehousing 1 แสนล้าน ใช้ชื่อว่า พักสินทรัพย์ พักหนี้ เอาไปพักไว้แล้วเอาเงินมาหมุน ปรากฎว่า เวลาผ่านมา 1 เดือน นับตั้งแต่ประกาศ มีคนยื่นขอได้แค่ 4 รายเอง มูลค่ารวม 900 ล้านบาท แม้เพิ่งเริ่มต้น แต่สังเกตได้ว่ายังไม่พอ และสถานการณ์นั้นวิกฤตขนาดไหน นั้นทำให้ผมสงสัยว่าหลายคนถอดใจ เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 1 ปี แม้จะมีอีกส่วนที่เขาบอกว่าจะปล่อยเงื่อนไขการปล่อยกู้ให้ง่ายขึ้น อันนี้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ก็ปรากฎว่าปล่อยได้แค่ 3 หมื่นล้านบาทเอง ถ้าคิดเลขเร็วๆ มาตรการรัฐที่ช่วยนี้ได้แค่  1.3 แสนล้านบาทในตอนแรก บวกกับ 3 หมื่นล้าน คราวนี้อีก 900 กว่าล้านบาท ก็แค่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท เท่านั้นเอง เทียบกับวงเงินในกลุ่ม SM และ NPL ที่ 7 แสนล้านบาท บอกได้เลยว่า รับมือไม่ไหวแน่ อย่าว่าแต่ทำให้ มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้แข็งแกร่งเลย

พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ตกลงยังไง?

นพ.สุรพงษ์ ได้ตั้งคำถามว่า แล้วอย่างนี้ เช่น พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านออกมา ก็ไม่ได้ให้ทิศทางที่จะช่วยเอสเอ็มอีใช่หรือไม่

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า อ้างว่า จะเริ่มทำในสิ่งที่เราเคยคุยไว้เมื่อปีที่แล้ว วิธีช่วยนั้นช่วยยังไง นั้นคือช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเอสเอ็มอี เพราะว่าเราอย่าให้เงินกับผู้ประกันตน อันนั้นต้องสั่งให้ปิดกิจการเสียก่อน แล้วถึงจะได้ตามประกันสังคม สิ่งนี้ถือว่าเพิ่งเริ่มคิดว่า ครั้งนี้อาจต้องให้เงินเอสเอ็มอีช่วยคงการจ้างงานไว้  เข้าใจเพิ่งจะมีแนวคิดอย่างนี้

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า แต่เอสเอ็มอีก็ปิดกิจการไปไม่น้อย ล่าสุดฟู้ดเดลิเวอรี่แห่งหนึ่งระบุว่า ร้านอาหารที่อยู่ในเครือข่ายปิดตัวแล้วกว่า 25,000 ร้าน แล้วแบบนั้นจะทันการณ์หรือไม่

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า แบบนี้ถึงเป็นห่วงครับ เพราะว่าตอนนั้นเราเตือน 150 วันอันตราย เวลาผ่านมาเร็วมาก มาถึงวันนี้ ผมชักเป็นห่วงมากแล้วว่า ตรงนี้ทำอะไรได้ยากแล้ว อีกส่วนคือ ดีไม่ดี เราอาจต้องคิดใหม่ เพราะเดิมที ก็นึกเหมือนที่ทุกคนพูดว่า โควิด-19 ซักปีหรือปีครึ่งคงจบ

แต่พอมาวันนี้ ดูจะมีเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้มีความเป็นห่วงว่าอาจจะมีโควิดอยู่กับโลกเราไปอีก 4-6 ปีหรือเปล่า ถ้าเป็นกรณีนั้น จะต้องคิดใหม่หรือเปล่า “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” “ปรับโครงสร้างธุรกิจ” ให้อยู่กับโควิดได้อย่างไร

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน เมื่อการคุมโควิดเกิดผิดแผน?

นพ.สุรพงษ์ กล่าวเสริมคำอธิบายว่า ใช่แล้ว มาถึงตรงนี้ สถานการณ์โควิดอาจจะไม่ใช่แล้ว ผมจำได้ตอนคุยกันเมื่อปีที่แล้ว ยังตั้งความหวังว่า อยากให้เหมือนโรคซาร์สที่จู่ๆหายไป ไม่กลับมาอีกเลย แต่สถานการณ์โควิดไม่เหมือนกันแล้ว กลายเป็นโรคระบาดระดับโลก แม้เราจะควบคุมได้เหมือนปีที่แล้ว แต่กลับเกิดที่อื่นอย่างสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย สุดท้ายแล้วเกิดการกลายพันธุ์ ถ้าหากการดูแลโรค        ไม่ดี สุดท้ายก็ทะลักเข้ามา เชื้อกลายพันธุ์จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งทุกคนบอกว่าเราจะพึ่งวัคซีน แต่ก็เห็นได้ว่า พอมีการเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างสายพันธุ์เดลต้าก็บอกแล้วว่าวัคซีนโควิดรุ่นแรกจะไม่ได้ผลจนต้องคิดถึงวัคซีนรุ่นที่ 2แล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าจะกลายพันธุ์ไปถึงเมื่อไหร่

ในแง่ระบาดวิทยา อาศัยแค่วัคซีนอย่างเดียว ไม่น่าจะเพียงพอ อาจต้องพูดถึงการตรวจหาเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะที่เราปิดเมืองก็เพื่อทำให้การตรวจหาเชื้อได้อย่างกว้างขวาง และสามารถเฝ้าติดตามคนที่ได้รับเชื้อ สามารถดูแลไม่แพร่เชื้อไปที่อื่นต่อ แต่มาวันนี้ วัคซีนก็เป็นปัญหาของไทยที่ว่า เราฉีดช้าและอาจได้ไม่ครอบคลุมากนัก เรื่องการตรวจหาเชื้อก็พึ่งพาแบบ PCR  ซึ่งจะทำให้เกิดตรวจอย่างกว้างขวางได้ยาก

ตอนนี้หลายคนต้องพึ่งตัวเอง ไปทดสอบ Rapid Test เอง หรือควบคุมโรค มีอาสาสมัคร อย่างปีที่แล้วที่อาศัย อสม. ในต่างจังหวัดอาจทำได้ดี แต่พอเกิดการระบาดในกรุงเทพฯ หนักเลย เพราะมีพื้นที่ชุมชนแออัด ไซต์งานก่อสร้าง ไม่มีอสม.เข้าไป ฉะนั้น จึงไม่เหมือนกับที่เราคาดการณ์ไว้ว่า เราจะควบคุมโควิดไว้ได้ใน 1-2 ปี แต่อาจจะนานกว่านั้น

ถ้าเช่นนั้น ทางออกของเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร?

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ถึงตรงนี้ คงต้องมานั่งคิดใหม่แล้ว  ในความเห็นของผม กลายเป็นว่า คุณมาบอกว่า  วัคซีนเป็นวาระแห่งชาตินี่ ผิดเลยนะครับ เพราะทำให้ทุกคนนึกว่า มีวัคซีนแล้วคือจบ ไม่ได้ไปนึกถึงอย่างอื่นเลย ทุกคนคิดแต่วัคซีน พอได้อ่านข่าวรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่ดูแลเรือนจำ ต้องรีบฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขังทุกคน เหมือนกับว่าทำแล้วจบ ทั้งที่เราก็รู้ว่า ฉีด 1 โดสไป แทบจะป้องกันการระบาดไม่ได้ โดยเฉพาะซิโนแวค ทำไมไปนึกอย่างนั้น ว่าฉีดแล้วทุกอย่างจบ ตรงกันข้าม กรณีบางประเทศอย่างสิงคโปร์ เขาฉีดได้เร็วมาก ราว 70% ของประชากร เป็นชาติแรกในกลุ่มอาเซียนที่ฉีดเยอะขนาดนั้นเทียบเท่ายุโรปและสหรัฐฯเลย สิงคโปร์พูดชัดเจนว่า จริงๆมี 3 องค์ประกอบอย่างที่นพ.สุรพงษ์พูดไว้ คือ การตรวจหาเชื้อ การเฝ้าติดตามและกักกัน และการฉีดวัคซีน ต้องทำไปพร้อมกัน

ผมเกรงว่า การอยู่กับโควิด จะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เดินไปอย่างนั้น ยกตัวอย่าง การตรวจหาเชื้อ ดีไม่ดีจะต้องมี Proactive Testing ให้ทุกคนตรวจกันปกติ เช่น ชุดตรวจแบบพกพาส่งถึงบ้าน แล้วเราตรวจเองไม่ต้องไปหาใคร หรือหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงสูง คนที่ต้องทำงานพบปะประชาชน เครื่องตรวจพกพาอาจต้องราคาถูกมาก ตรวจกันบ่อยๆ เด็กนักเรียนต้องตรวจกันบ่อยๆ คงไม่ใช่แบบ PCR Test ซึ่งจะลำบากเกินไป จะต้องคิดแบบว่า ตรวจหาเชื้อกันเป็นประจำ หรือสมมติว่า เราจะมีงานแต่งงาน ก่อนเข้างาน ให้ทุกคนทำ Rapid Test แล้วรู้ผลในเวลาไม่ถึง 10 นาที ผ่านก็เข้ามางานได้ เพราะโอกาสติดเชื้อน้อยมาก

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจ ให้สอดรับกับวิธีนี้จนเป็นปกติ หรือถ้าทำจากบ้านแล้วมีการรับรองได้ เป็นปรับวิถีให้อยู่กับโควิด ระบบตรวจเชื้อที่ต่อเนื่องและกว้างขวาง จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่วัคซีนอย่างเดียว

ต่อมาคือการเฝ้าติดตามและกักกัน ว่าระบบนี้ต้องทำยังไง เพราะประสบการณ์เราบอกว่า ถ้าผมติดเชื้อ คนรอบข้างก็ติดเชื้อด้วย โอกาสมีสูง อาจต้องมีการกักตัวอัตโนมัติของคนในบ้านเลยหรือไม่ อาจทำให้คนในบ้านลำบากที่ต้องกักตัวและทำการตรวจหาเชื้อทั้งแบบ Rapid และ PCR เลย จะเป็นระบบแบบนั้น เพื่อควบคุมการระบาด ให้รู้ว่าถึงจะขึ้นก็จะลงอยู่กับโควิดแบบสโลฟ แล้วไม่มีใครต้องเป็นห่วงมากในภาพใหญ่ แต่อาจห่วงในบางพื้นที่ อย่างนั้นเศรษฐกิจจะเดินได้ ซึ่งตรงนี้ ผมอยากมีแนวคิดเพิ่มเติมว่า สมมติเราบอกว่า เอสเอ็มอีที่เข้าระบบภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วรัฐบาลสนับสนุนการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับให้รองรับการป้องกันโควิดได้ไหม ถ้าเกิดเอสเอ็มอีนั้นเป็นร้านอาหาร อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ แล้วต้องปิดร้านเนี่ยเงินช่วยเหลือของรัฐบาลที่จ่ายให้พนักงานครึ่ง คนละครึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเลย จนกว่าจะเปิดกิจการใหม่ได้ นี่แหละคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้อยู่กับโควิด แล้วก็ช่วยเอสเอ็มอีไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า แม้เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การบริหารจัดการแบบนี้ ผมไม่เห็นอนาคตเลยว่าจะทำยังไง ขนาดแค่เรื้องพื้นฐานอย่างการตรวจ หรือเงินกู้ที่บอกว่าจะให้กับคนซื้อของ ไม่เน้นที่จะอุ้มเอสเอ็มอี คนซื้อได้เงินไปใช้ 1-2 เดือนก็หมดแล้ว แต่เอสเอ็มอีทยอยปิดตัว แล้วจะเห็นทางออกยังไง

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ผมถือว่าต้องคิดใหม่ ถ้ามาบอกผมว่า วัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ก็จะมัวแต่คิดกับวัคซีน แต่จริงๆภาพใหญ่ ทั้งตรวจหาเชื้อ เฝ้าติดตาม ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มีหลายอย่างต้องคิดให้ครบ แต่การทำสิ่งที่ทำให้เราตกต่ำอย่างนี้ หนี้ครัวเรือนก็พุ่งอย่างรวดเร็ว (90% แล้ว) และจะพุ่งขึ้นไปอีก เพราะว่าที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาปีละ 5% แต่จีดีพีปีที่แล้วติดลบ ดังนั้น สัดส่วนนี้จึงพุ่งขึ้นแรงมาก วิธีที่ควรทำคือ ทำให้จีดีพีขึ้น เพราะตัวหนี้ของประชาชน ก็เหมือนรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินอยู่แล้ว แต่จะให้สัดส่วนลดลงเนี่ยต้องทำให้จีดีพีหรือรายได้โตกว่า ซึ่งตัวเลขที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ก็รู้ การสำรวจภาวะสังคม เขายอมรับว่า จำนวนคนที่มีงานทำในไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ น้อยกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กว่า 3 หมื่นตำแหน่ง ทั้งๆที่จะมีบัณฑิตจบใหม่หางานทำอยู่ 4.5 แสนคน แค่นี้ก็เห็นปัญหาแล้ว แล้วคนที่ทำงานอยู่ 37 ล้านคน ชั่วโมงทำงานลดลงต่อเนื่องมา 6-7 ไตรมาสแล้ว และคนทำงานต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ทำงานต่ำกว่าเกณฑ์มา 4-5 ไตรมาสแล้ว  รู้ว่าแม้มีคนทำงานอยู่ ชั่วโมงน้อยลง ทำงานต้อยต่ำลง หรือทำงานได้น้อยลงซึ่งเป็นปัญหามาก ก็ต้องดูว่าจะสร้างงานที่มีคุณภาพกับแรงงานของไทยได้อย่างไร ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตัวเลขมันฟ้อง ที่ผ่านมาเราทำอะไรไม่ได้ตามเกณฑ์เลย

นพ.สุรพงษ์ถามต่อว่า เมื่อสภาพัฒน์ฯรู้ตัวเลขเช่นนี้ เรามีเงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่สภาพัฒน์ฯดูแลอีกกลับไม่เห็นโครงการที่จะตอบสนองการแก้ไขปัญหาในตัวเลขที่เขารู้อยู่แล้ว หรือที่ล่าสุดตัวเล 4.5 หมื่นล้านบาท ในเงินกู้ 1 ล้านล้าน ให้กับกระทรวงสาธารณสุขมาใช้ปรับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการควบคุมโรคระบาด ปรากฎว่าได้เล็กน้อย ที่เหลือไม่ผ่านในชั้นสภาพัฒน์ฯ แล้วแบบนี้จะมีทางออกยังไง

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ถ้าเราดูประสบการณ์ของพรก.เงินกู้เมื่อปีที่แล้ว ที่ออกมาในส่วนของรัฐบาล จะมีส่วนที่เยียวยา 6 แสนล้านและส่วนงบกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้น ที่เหมาปรับโครงสร้างหนี้ด้วย 4 แสนล้าน ปรากฎว่าโครงการที่นำเสนอแทบไม่ได้อนุมัติ พบว่าเป็นโครงการที่หน่วยงานราชการคิดไว้ก่อนโควิดแล้ว มาแทรกแล้วเขียนเพิ่มว่า เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ทำให้เงิน 4 แสนล้านกลายเป็นเงินเยียวยาทั้งหมด แล้วถึงออก พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านตามมา

“ปัญหาที่เห็นคือ อันนั้นไม่เคยมีการมองภาพแบบ Top-down จากภาพใหญ่ว่าจะสร้างประเทศ คือหน่วยงานอยากเสนออะไรก็เสนอเข้ามา เลยไม่มีภาพใหญ่ว่า คุณจะพาประเทศไทยไปในทิศทางไหน? ปรับโครงสร้างยังไง ถ้าไม่มีภาพใหญ่คือ เบี้ยหัวแตก ผมคิดว่า ปัญหาในวันนี้ ปีนี้ และเงินกู้ 5 แสนล้าน มีเงินกระตุ้นอีก 1.7 แสนล้าน ตราบใดที่คุณไม่มีภาพบนลงล่างให้บอกคนไทย บอกหน่วยงานของรัฐว่า จะให้พาเศรษฐกิจไปในทางไหน ดีไม่ดี เงิน1.7 แสนล้านกลายเป็นเงินเยียวยาอีก ผมเป็นห่วงไว้อย่างนั้น” ดร.ศุภวุฒิ กล่าวด้วยความกังวล

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เรา มีศบค.มาดูแลเรื่องโควิด และศบศ.มาดูเรื่องเศรษฐกิจ ทั้ง 2 หน่วยนี้แทบไม่มีโอกาสมองในแง่ภาพเชิงโครงสร้างทั้งสาธารณสุขและเศรษฐกิจ แล้วทางออกเห็นหรือไม่?

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ไม่เห็นครับ เพราะงั้นต้องบอกว่าความรับผิดชอบ อยู่กับ ศบศ. เพราะตั้งหน่วยงานมารวบอำนาจด้านเศรษฐกิจไว้ตรงนั้น ก็ต้องรับผิดชอบเอง มาบอกประเทศ ประชาชนคนไทยว่า คุณจะพาประเทศ ปรับโครงสร้างกันยังไง ตรงนี้ ศบศ.จะต้องบอก แบบคิดว่าโลกในยุคหลังโควิด หรือโลกที่อยู่กับโควิด หน้าตาเป็นยังไงเราต้องวาดภาพให้เห็นก่อน  แล้วถึงบอกว่าประเทศไทยจะอยู่ในโลกนี้ แบบที่อยู่ดีขยายตัวได้อย่างไร พอวาดภาพไม่ได้ก็จะอยู่กันแบบนี้ ปีที่แล้วพรก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ปีนี้มาพรก.เงินกู้ 5 แสนล้าน เดี๋ยวปีหน้าก็มีอีก สมมติเรารู้ว่าต้องอยู่อีก 4-5 ปี จะอยู่กันอย่างไร ธุรกิจไหนน่าจะรุ่งและพัฒนาไปได้ เช่น ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น สิ่งที่โลกขาดแคลนตอนนี้คือ Semiconductor และประเทศชั้นนำที่ผลิตคือไต้หวัน เราอยากจะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นไหม ทำผลิตออกมายอมรับว่ายาก ลงทุนเยอะ และใช้ทรัพยากรเยอะมาก เราจะทำอย่างนั้นไหม ในเมื่อโลกทั้งโลกรู้ว่าขาดแคลน Semiconductor ที่หมายถึงคือทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง สำหรับรถยนต์ แต่ถ้าจะไปสู่อนาคต 5จี 6จี อาจต้องใช้ Semiconductor ที่เล็กลงขนาด 3 นาโนมิเตอร์ เราจะทำไหม? ผมรู้ว่าสิ่งหนึ่งที่โรงงานผลิต Semiconductor ใช้คือ น้ำ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้น้ำอยู่แล้วสำหรับภาคเกษตรกรรม จะไปลงทุนด้านน้ำไหม เพื่อเพียงพอทั้งทางการเกษตรและการผลิต semiconductor นี่แค่ตัวอย่างให้เราคิดว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไรให้ประเทศเราอยู่กับโควิดได้ แต่นี่เป็นการคิดแบบเบ็ดเสร็จไหม ก็ยังอีก แต่ก็ต้องคิดแบบนี้ คนอื่นอาจมีความคิดอื่นก็ได้ หรือถ้าประเทศไทย ก๊าซธรรมชาติหมดแล้ว จะหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นยังไง รู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมา จะอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่อุปทานนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์อยู่แล้ว ก็ปรับเสียเลยและคิดถึงโควิดไปด้วย

เยาวชนกลุ่มแคร์ : อนาคตที่ฝันใฝ่ คนรุ่นใหม่กับเป้าหมายชีวิต

กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทยยังได้ขยายพื้นที่ในการให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันข้อเสนอที่เป็นการสร้างโอกาสและความหวังถึงอนาคตของพวกเขาว่าจะมีหน้าตาอย่างไร โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่อยู่ร่วมกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันอีกจำนวนมาก และในวาระครบ 1 ปี ก็มีสมาชิกกลุ่มแคร์ที่เป็นกลุ่มเยาวชนมาร่วมขับเคลื่อนกับแคร์ด้วย โดยในหัวข้อ อนาคตที่ฝันใฝ่ คนรุ่นใหม่กับเป้าหมายชีวิต จะได้พบกับมุมมองของทั้ง 4 เยาวชนกลุ่มแคร์ ว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการและเป้าหมายของตัวเองอย่างไรบ้าง

ความฝันถึงประเทศไทยในอนาตต

เต้ สมาชิกเยาวชนกลุ่มแคร์ ได้เปิดเรื่องด้วยมุมมองที่ว่า เด็กไทยหลายคนถูกทำลายความฝันและทำร้ายอนาคตของตัวเอง จริงๆไม่ใช่แค่เด็ก แต่รวมถึงผู้ใหญ่ ที่มีบัตรประชาชนสัญชาติไทย ก็มองไม่เห็นอนาคตของตัวเองที่เฮงซวย เลยทำให้เราโหยหาถึงอดีตที่เคยเป็นมา มากกว่ามองเห็นอนาคตที่จะเป็นไป

แชมป์ :อยากได้สังคมที่ไม่ใช่แบบนี้ ถ้าจะให้ตอบว่าสังคมไทยที่อยากให้เป็นนั้นเป็นอย่างไร คงตอบไม่ได้ เพราะจินตนาการไม่ถึง แต่พูดได้ว่าสังคมแบบไหนที่ไม่อยากได้ และสังคมที่ไม่อยากได้ คือสังคมตอนนี้ สังคมที่เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน ต้องเคารพธงชาติหน้าจอทีวี ทำไมต้องตัดผมทรงนักเรียน ทำไมผู้ใหญ่ชอบพูดนักหนาว่า เด็กไทยต้องเรียนวิทยาศาสตร์ ฉลาดขึ้นไปเรียนหมอ แล้วมาด้อยค่า เหยียดสายสังคม ผมจบสายวิทย์แต่เรียนรัฐศาสตร์ แล้วมาพูดว่าสายนี้ไม่มีอนาคต จบไปไม่มีงานทำ แล้วพูดว่าสายสังคมไม่ได้พัฒนาประเทศ อยากจะบอกว่า ที่ประเทศเป็นแบบนี้ เพราะรัฐไปอุดหนุนสายสังคม เลยมีตุลาการแบบนี้ นักการเมืองแบบนี้ รัฐหรือเปล่าที่ทำให้เกิดสังคมแบบนี้ขึ้น  หรือคนรุ่นไหนก็ตามที่ทำให้สังคมกลายเป็นแบบนี้ ไม่ชอบประโยคที่ว่า “เยาวชนเป็นอนาคตของชาติ” คือไม่ใช่ เราคือปัจจุบัน ทุกคนมีส่วนร่วมในสังคมไม่ต้องคาดหวังเรา และกรุณาคาดหวังกับตัวเอง ว่าจะทำอะไรให้ดีกว่านี้

เต้ : สังคมไทยอยู่กับความวุ่นวายทางการเมืองมาตลอด 15 ปี คนที่อยู่กับช่วงเวลานั้น เป็นรุ่นที่โศกเศร้าและน่าสงสารที่สุด แบบว่าทำไมเราต้องเกิดมาในสังคม ที่ดูพังทลาย ถ้าย้อนกลับไป 15 ปีก่อน ประเทศไทยดูมีอนาคตมากกว่า แต่ปัจจุบัน เราฝันอะไร ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอนาคตจะเป็นยังงั้นไหม ไม่ต้องไกลถึง 10 ปี แค่พรุ่งนี้ มะรืนนี้ คนบางคิดว่าจะกินอะไรก็ไม่รู้แล้ว

เข้ม : สังคมไทยในอนาคตที่อยากเห็น คือสังคมที่ไม่ต้องมาบ้ากับ “ความดี” “ความงาม” เข้มเป็นคนหนึ่งที่เคยผ่านยุครุ่งเรืองมา แล้วมาอยู่ในยุคที่ร่วงโรย เข้ากรุงเทพมาได้เพราะมีรัฐบาลที่เก่ง ไม่ใช่รัฐบาลคนดี ทุกวันนี้ มาอยู่ในยุครัฐบาลที่เรียกร้องหา “คนดี” เอาคนไม่ดีออกไป เอาคนดีเข้ามา เป็นไง ติดหล่มความดีมา 7 ปีแล้ว ไม่มีอะไรจะกิน เยาวชนคิดจะออกนอกประเทศกันหมดแล้ว เพราะว่าไม่มีอนาคต เห็นหลายครั้งทั้งในข่าวหรือสังคมทั่วไป ชอบแบบว่า อะไรก็ได้ที่เป็นคนดี กลายเป็นเงื่อนไขต่างๆ ที่แบบต้องมารุมล้อมที่เรา เป็นกะเทยไม่ได้นะ เป็นกะเทยแล้วต้องเป็นคนดี คือขอเป็นคนได้ไหม ตรวจสอบได้ ทำงานได้ดี ไม่ต้องดีเลิศแบบพระเจ้าประทาน ไม่ใช่แค่ในแง่รัฐบาลแต่ทุกองคาพยพและตัวบุคคล หรือเห็นตามข่าว ลูกไปทำความผิด แม่จะออกมาปกป้องว่า ไม่ได้ ลูกฉันเป็นคนดี

เป๊บซี่ : อยากเห็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำลดลง เรากระจายทรัพยากรให้สังคมอย่างเท่าเทียม ผมเชื่อมั่นอย่างลึกๆว่า ทรัพยากรที่จะกระจายออกไป สามารถถูกจัดการด้วยเรื่องการเมือง ยังไงๆการเมืองก็ต้องวิ่งมาหาเรา ไม่ว่าจะวิ่งหนียังไงก็ไม่พ้น เพราการเมืองเป็นเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ ผลประโยชน์นั้นชั่วร้ายยังไง อยากให้ยอมรับว่า สังคมปัจจุบัน มีทรัพยากรอยู่ก้อนหนึ่ง คือภาษีที่เราต้องจัดสรร ซึ่งต้องใช้หลักผลประโยชน์ จะทำยังไงให้ก้อนทรัพยากรนี้กระจายให้ทุกคนได้สูงที่สุด ไม่ใช่อยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่าไม่สามารถแก้ได้ด้วยปัจเจก ไม่งั้นจะผลิตซ้ำเดิมๆ เช่น ทำไมเราไม่บริจาคให้ชุดนักเรียน ทำไมเราต้องทำ

“ผมเชื่อว่าเรื่องใหญ่ๆ ต้องถูกแก้ด้วยการเมือง การที่พยายามกันตัวเองออกจากการเมือง เหมือนกับเราพยายามปิดหูปิดตาแบ่ง หรือบางที เราแสร้งปิดตาแต่แบ่งเค้กก้อนใหญ่ให้ตัวเอง”

หรือก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่แล้ว ที่มีแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ปัญหาต่างๆจะถูกแก้ยังไง คนรุ่นผมมีความเกลียดกลัวการเมืองลดลง  มองปัญหาระดับโครงสร้างมากขึ้น เป็นการแก้ไปที่ต้นตอ เช่น ระบบสาธารณสุข ถ้าไปแก้ถูกจุด ก็ไม่ต้องบริจาคให้กับโรงพยาบาลทุกปี พวกจัดวิ่งการกุศล เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ

เต้ : อีกอย่างคือ อยากให้ประเทศที่รัฐไม่โทษประชาชน ที่ชอบว่าประชาชนไม่มีวินัย คนไทยเป็นคนขี้เกียจ แล้วเรามาโทษกันเอง ล่าแม่มด หาแพะรับบาป โดยที่เราลืมไปเลยว่า ใครคือตัวละครที่สำคัญที่สุด นั้นคือ รัฐบาล! ตัวอย่างง่ายๆเช่นการจราจร มักชอบพูดว่า คนไทยไม่มีวินัย เราเลยขับรถกันเร็ว เราไม่ข้ามทางม้าลาย เลยโดนรถชน มีอุบัติเหตุมากที่สุดในโลก ถ้าเราไปเปรียบเทียบ เราชอบญี่ปุ่นใช่ไหม ชอบพูดว่าคนญี่ปุ่นมีวินัย พวกเขาก็ไม่ได้มีวินัยด้วยกมลสันดาน แต่รัฐบาลเป็นคนสร้างสังคมให้คนญี่ปุ่นมีวินัย ไม่ใช่บอกให้ประชาชนด้วยกันเองเป็นคนสร้าง เราสร้างความเป็นวินัยได้ ด้วยการออกแบบถนนหนทาง ให้ปลอดภัย ให้รู้สึกว่าคนที่ทำตามกฎกติกา แล้วตัวเองได้ผลประโยชน์ สะดวกสบาย สนุก ไม่เดือดร้อน แต่คนไทยชอบบอกว่า เดินข้ามถนนผิดกฎหมาย ขับรถไม่ดีเลยรถชนตาย ซึ่งทำไมคนไทยถึงไม่คิดว่า บอกรัฐบาลว่า ต้องออกแบบเชิงวิศวกรรมจราจรให้ดีกว่านี้ ให้ถนนเหมาะสมกับความเร็วรถ แต่เรากลับไปโทษคน ถ้าเราอยากให้คนในกรุงเทพฯหันมาใช้จักรยานมากขึ้น สิ่งที่ กทม.ทำคือ สร้างเลนจักรยานขึ้นมาแล้วจบ แต่คนไทยไม่ขี่ เดี๋ยวโดนสิบล้อชน แล้วมาโทษว่าคนไทยไม่ปั่นจักรยานกันเอง แต่ต้องออกแบบสภาพแวดล้อมทั้งหมดให้ปลอดภัยกับคนปั่นจักรยาน

เป๊บซี่ : คือต้องออกแบบให้คำนึงถึงคน อยากขับรถเร็ว แต่ถ้าถนนบังคับให้ ต้องโค้งต้องเลี้ยว ก็ต้องชะลอ มีบางประเทศออกเป็นกฎหมาย

เต้ : เห็นไหมว่า นี่คือหน้าที่ของรัฐบาล แต่คนมักไม่มอง กลับบอกว่า ถ้าเราช่วยคนละไม้คนละมือ ประเทศเราต้องชนะนะ ทั้งที่เราควรชี้นิ้วไปที่รัฐบาลว่า คุณต้องเป็นคนทำให้เรา สิ่งที่ผมจะบอกคือ ทำไมเราไม่เพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง ในฐานะที่เราเป็นประชาชน เราเป็นมนุษย์ เราเป็นเจ้าของอำนาจนี้ แทนที่เราจะชี้นิ้วใส่กันเอง ลองไปบอกรัฐบาลสิ ว่าทำไมถึงไม่ทำให้ประชาชน ที่จ่ายเงินภาษีให้คุณ เพราะสุดท้ายรัฐกลับลอยนวลในทุกๆเรื่อง ให้ประชาชนจัดการเอง โดยไม่รู้ว่าภาษีที่จ่ายไปอยู่ตรงไหน

คนดีแบบไทยๆ

เต้ : แนวคิดเรื่องคนดี นี่ถกเถียงกันกว้างมาก เพราะคำว่าคนดี อาจหมายถึงดีสำหรับบางคน ขนาดลูกกระทำความผิดแต่สำหรับบางคนมองว่าเป็นคนดี

เข้ม : นี่ไปเกี่ยวกับเรื่องที่แชมป์พูดไปเรื่องเคารพธงชาติ ก็เกี่ยวกับคนดี การสวดมนต์ ใส่ชุดนักเรียน ก็บ่งบอกถึงความเป็นคนดีทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็น แต่อยู่ที่ความสามารถของนักเรียน และครูมาคาดหวังอะไรแบบนี้ มีความเป็นคนดีมากน้อยแค่ไหน?

แชมป์ : ครูที่คาดหวังให้นักเรียนเป็นคนดี ต้องถามว่าครูเองเป็นคนดีแล้วหรือยัง?

เต้ : แต่ระบบแบบนี้ก็อยู่กับเรามาหลายทศวรรษ แต่ไม่เห็นทำให้ประเทศพัฒนาเลย เผลอๆถอยหลังแล้วด้วยซ้ำ ถ้าเราเชื่อมโยงแนวคิดว่าด้วย “คนดี”  เข้ากับ “การเมือง” ก็จะต้องการ “นักการเมือง” ไม่ใช่ “นักการบุญ” ไม่ใช่ผู้มีบุญอะไร เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ต้องการนักการเมืองที่เป็นคนดีบริสุทธิ์ เราต้องการนักการเมือง ผู้นำทางการเมืองที่มีความรับผิดชอบ ทำผิดก็กล้ายอมรับและขอโทษ ไม่ใช่หน้าด้านทู่สี้

แชมป์ : แล้วพูดคำว่า “ขอโทษ” แบบเป็นขอโทษจริงๆ ได้ไหม ไม่ใช่พูดแบบ เอ่อ ขอโทษก็แล้วกัน

เต้ : ผมอาจพูดเหมารวมกันเกินไป คือคนรุ่นใหม่ พร้อมจะยอมรับได้ ถ้าเกิดคุณขอโทษ ไม่มีใครขาวจ๋าและดำจัด แต่เป็นเทาหลายเฉด แต่ขอเป็นคนที่ยึดหลักคุณค่าประชาธิปไตยสากล

เข้ม : เอาง่ายๆว่า มองเขาเป็น “คน” ก็พอ และปฏิบัติในฐานะมนุษย์อย่างเท่ากัน นี่คือคนในสังคมที่เราอยากเห็น

สังคมไทยที่ปรับ-เปลี่ยนรูปได้

เต้ : ในอนาคต เราอาจเห็นคนรุ่นใหม่ ที่ยอมรับบางด้านได้ แต่ต้องเคารพกติกา กล้าขอโทษเวลาทำผิด คนรุ่นเราน่าจะยอมรับได้ และพร้อมให้อภัย

เข้ม : และกติกาที่ต้องเคารพคือ กติการ่วมกันกับประชาชนด้วย ไม่ใช่เอาเขียนคนเดียว แล้วมาบังคับคนอื่น

ความคิดว่าด้วย “การเมือง” ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป

เต้ : ก่อนหน้านี้ คนรุ่นก่อนมีความคิดว่า การเมืองเป็นเรื่องชั่วร้าย เต็มไปด้วยนักการเมืองขี้โกง ทำให้ต้องคิดหาคนดีมาปกครอง และระหว่างนี้ถ้าเกิดไม่มีนักการเมืองดี ก็เอาคนดีมาปกครองชั่วคราวก่อน จนกว่าจะมีนักการเมืองดีเข้ามา แล้วถึงจะมีประชาธิปไตยที่ดีได้ ทั้งที่จริง ประชาธิปไตยไม่ได้เพรียกหา “คนดี”  แต่เรียกหา การตรวจสอบถ่วงดุล มีวาระชัดเจน ไม่มีใครถือครองอำนาจไปตลอด อย่าเอาคำว่า “คนดี” มาบอกคนอื่นว่า คุณต้องเป็น “คนดี” ก่อน ถึงจะมีประชาธิปไตยได้

แชมป์ : การเมือง “คนดี” แบบที่เต้บอก การเมืองไม่ใช่เรื่องของ คนดี แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องของคนไม่ดีนะ แต่เป็นเรื่องของ “คน” เท่านั้น อย่ามององคาพยพต่างๆเหมือนละคร ต้องมีพระเอก ผู้ร้าย เพื่อนผมมักชอบถามว่า “คนนี้เป็นคนดีไหม?” นี่คือคน ที่มีทั้งดีและไม่ดี ไม่ใช่ละคร คนทุกคนเท่ากันและมีส่วนร่วมในการเมืองนั้น และก็ไม่ใช่เรื่องสกปรก

ทุกคนบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ ก็ใช่! 100% เพราะอะไร ทรัพยากร งบประมาณ ระบบสาธารณสุขก็คือผลประโยชน์ จะรังเกียจไปทำไม?

เป๊บซี่ : เพราะฉะนั้น แบบนี้ต้องคุย ถ้าไม่คุย ยิ่งไม่เปิดเผย ไม่ตรวจสอบ ยิ่งไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ในกระบวนการจัดสรรตรงนั้น

เต้ : อย่าลืมว่าเราเป็นมนุษย์ขี้เหม็น เป็นมนุษย์ที่กระพร่องกระแพร่ง ไม่สมบูรณ์แบบ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์อย่างเรา จะอยู่ร่วมกันยังไงอย่างสันติมากที่สุด

บทส่งท้าย

แชมป์ : อย่างที่บอกไปว่า เราไม่ใช่อนาคตของชาติ เราทุกคนคือปัจจุบันของชาติ ดังนั้น เราไม่ใช่แค่เด็ก แต่เป็นทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนวัยทำงาน วัยเกษียณ ทุกคนคือปัจจุบันของชาติ และเราทุกคนควรตั้งคำถาม สงสัย พูดคุย หาคำตอบ มาช่วยระดมความคิด อยากให้ทุกคนอย่าหยุดตั้งคำถาม และอย่าหยุดขับเคลื่อนประเทศนี้ อย่า! หมดความหวังกับประเทศนี้

ปาฐกถา CARE โทนี่ วู้ดซัม : Care the Future

จากนั้น ในช่วงสุดท้าย กลุ่มแคร์ ได้มีปาฐกถาพิเศษ จากโทนี่ วู้ดซัม หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มากล่าวถึงภาพรวมตลอด 1 ปีของกลุ่มแคร์และทิศทางต่อไปเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ โดยเนื้อหาทั้งหมดมี ดังนี้

สวัสดีครับ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดี กับกลุ่มแคร์นะครับ ซึ่งประกอบด้วยทั้ง นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และรวมทั้ง นักเรียน นักศึกษา ที่เข้ามาร่วมเป็นคลังความคิด (Think Tank)

จริงๆแล้วก็เหมือนกลุ่มคลังความคิดในต่างประเทศ แต่ว่าบ้านเรายังไม่ค่อยจริงจัง ในเรื่องการตั้งคลังความคิด

ที่สหรัฐอเมริกา จะมีคลังความคิดต่างๆ ประเภทพลังงาน ความมั่นคง ประเภทเรื่องผู้อพยพ(immigration) เราอยากจะรู้เรื่องอะไร เราก็แวะนั่งคุยกับเขา เขาจะให้ข้อมูล และเขาจะมีหัวข้อประเด็น(Article) ต่างๆออกมาเป็นระยะๆ เพื่อให้เราได้รับความรู้

ทีนี้ ทางกลุ่มแคร์ ซึ่งได้มารวมตัวกันว่า เราจะตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดให้สังคมไทย ในยามที่เศรษฐกิจถดถอยมาก และมีวิกฤตโรคระบาด โควิด-19 ทางกลุ่มแคร์จึงรวมตัวกันขึ้นมา เพื่อเสนอทางออกให้กับประเทศไทย

ซึ่งกลุ่มนี้ได้เคลื่อนไหวไปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การเสนอแนวคิดต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเงินประเทศ แนวทางการช่วยเหลือประชาชน เรื่องความยากจน เรื่องของรัฐธรรมนูญ กลุ่มแคร์ก็ได้ทำไปหลายอย่าง ซึ่งขอชื่นชมนะครับ เห็นว่าตอนนี้เนี่ย จะรวมพวกนักการศึกษา เข้ามาช่วยกัน คิดในด้านการศึกษาอีก ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมครับ

และผมก็ได้รับเชิญมาออกรายการในคลับเฮ้าส์อยู่ในช่วงวันอังคาร เว้นอังคาร ซึ่งผมก็ยินดีเต็มใจ ที่จะให้ความคิด ความหวังกับประชาชนในยามนี้ เราต้องยอบรับว่า ในยามนี้ บ้านเมืองเรา ค่อนข้างจะไม่มีทางออกที่ชัดเจน แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างการจัดการวัคซีน เราก็ทำให้เรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก แล้วก็สับสนวุ่นวาย จนไม่สามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้

แม้กระทั่งเรื่องของผลข้างเคียงต่างๆของวัคซีน ก็ไม่พิสูจน์ ไม่อธิบายให้ประชาชนชัดเจนว่าเกิดขึ้นน้อยมากหรือเกิดมาก เพราะว่าข่าวที่ออกมา เลยทำให้คนสับสน เกิดความไม่มั่นใจ แล้วก็วัคซีนที่เราใช้ ต้องยอมรับว่า น่าจะมีวัคซีนทางเลือกมากกว่านี้ แต่ก็มาทำช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร มาช้าดีกว่าไม่มานะครับ

แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากคือว่า ชาวบ้านไม่มีจะกิน ตลาดทุกตลาดมีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ กลุ่มแคร์เลยชี้ว่า 150 วัน อันตรายที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้ววันนี้  ต่อไปนี้เป็นยังไง ซึ่งก็มีข้อเตือนใจว่า “กลางปีนี้ หนี้สินต่อจีดีพี เราจะขึ้นมาทะลุ 60% ซึ่งเป็นการกำหนดตามวินัยการคลังไว้ก็จะเกิน ทางรัฐบาลก็คงจะแก้เพื่อไม่ให้ผิด แต่ว่าที่ผิดคือ ผิดในเรื่องวินัย เอาไปแก้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเรายังไม่มีวินัยแล้วไปแก้ตัวเลข

สิ่งเหล่านี้ กลุ่มแคร์ ก็ได้พยายามพูดถึงตลอดเวลา กลุ่มแคร์ที่ผ่านมาก็ทำไปเยอะ แต่เน้นในกรุงเทพฯ ทีนี้เรามาพูดถึง เรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของทั้งประเทศ โดยเฉพาะปัญหาของผู้ที่อยู่ เรียกว่า ไกลปืนเที่ยงก็ได้ครับ ทางด้านต่างจังหวัด ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ แล้วก็เรายังไม่ได้รับฟัง ปัญหาหรือทุกข์สุขของเขาเท่าที่ควร

วันนี้เราต้องยอมรับว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ก็จะสนใจเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนน้อยมาก และเข้าใจปัญหาประชาชนน้อยมาก ใครถามมากก็จะดุเอา เป็นสิ่งที่กลุ่มแคร์จะต้องสะท้อน ปัญหาในต่างจังหวัด ปัญหาของคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกร อาชีพค้าขายเล็กๆน้อยๆ อาชีพที่เขากำลังคิดว่าจะปรับตัวยังไงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ  ก็เลยเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มแคร์ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องไปพบปะ กับคนในต่างจังหวัดบ้าง เพราะว่าการรับฟังปัญหาจากคนที่เจอปัญหาจริงๆแล้วมานั่งประชุมกันกับกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้มีประสบการณ์ทั้งหลาย เพื่อหาทางออก ให้กับประชาชน และบางที รัฐบาลก็อาจจะฟัง แล้วทำเป็นได้ยิน แต่ไม่พูด แล้วเอาไปทำ ก็ยังดี เป็นประโยชน์ เราไม่หวังหน้าตาอยู่แล้ว หวังแค่ ขอให้ได้ช่วยแก้ปัญหาให้บ้านเมือง แล้ววันนี้ ถ้าหากว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหา แต่คิดไม่เป็นหรือคิดไม่ออก เราก็ช่วยกันคิด ช่วยกันสะท้อน

ทีนี้กลุ่มแคร์เนี่ย ควรจะไปเยี่ยมเยียนพี่น้องในอีสานบ้าง ทางเหนือบ้าง ทางภาคกลางบ้าง ภาคตะวันออก ตะวันตกบ้าง ภาคใต้บ้าง เพื่อที่จะได้รู้ว่า ปัญหาแต่ละแห่ง ไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันแน่นอนในวันนี้คือ ข้าวยากหมากแพง เงินไม่มี หนี้สินเยอะ เพราะว่าหนี้ต่อจีดีพี ทะลุ 90% แล้ว หนี้ครัวเรือนน่ะครับ เพราะฉะนั้น วันนี้ที่เราจะต้องไปรับฟังปัญหา และหาทางออกให้กับประชาชน และก็สะท้อนไปให้รัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลมีหน้าที่ทำ

วันนี้ถ้าเราไม่ปรับ รัฐบาลไม่ปรับในการดูแลประชาชน ไม่ใช่ถึงเวลาแล้วก็แจกเงิน รัฐบาลวันนี้ ก็อาจจะถนัดเรื่องใช้เงินไปตามงบประมาณ ใช้หมด ไม่พอก็กู้ กู้แล้วทะลุเพดาน ก็แก้เพดาน แล้วกู้มาก็ไม่รู้จะคิดยังไง ก็แจกเงิน เป็นสิ่งที่อยากที่ผมพูดไปในคลับเฮ้าส์ ว่าเราก็จะจมอยู่ในกับดักหนี้ ซึ่งก็ทำให้ประเทศลำบาก พอไปเปรียบเทียบกับสากล สากลในที่นี้ก็เปรียบเทียบกับเวเนซุเอลา เป็นประเทศที่มีน้ำมัน แต่วันนี้ หนี้ประเทศทะลุไป 100% ต่อจีดีพี แล้วประชาชนก็อดอยากลำบาก เงินเฟ้อสูง เราจะเป็นอย่างนั้นหรือ? เพราะฉะนั้น เราต้องรีบปรับปรุงเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศโดยเร็ว และเปิดโอกาสให้ประชาชนมากๆ

ดังนั้น กลุ่มแคร์ ก็ควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องรับรู้ปัญหา แล้วหาทางออก และแนะนำรัฐบาล

วันนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือว่า โลกเขาพัฒนามาก เขาแข่งขันกันมาก แม้แต่วันนี้ที่ยุโรป เรื่องของโควิดเนี่ย ยังแก้ไม่หายแต่เขาจะเปิดประเทศแล้วนะครับ บางประเทศเปิดไปแล้วเมื่อ 9 มิถุนายน บางประเทศส่วนใหญ่เลย ก็จะเปิดวันที่ 1 กรกฎาคม โดยเขาเน้นเรื่องของวัคซีนพาสปอร์ต ก็คือ คุณได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม เกิน 14 วันแล้ว ก็ยินดีต้อนรับทุกที่ หรือบางที่ก็ขอหน่อย ขอแถมเรื่องการตรวจพีซีอาร์ ถ้าผลเป็นลบ ก็ให้เข้าได้ ดังนั้นก็ เขาเริ่มแล้ว เขามองว่าทนไม่ไหวแล้ว กับภาวะที่ประชาชนลำบาก ภาวะเศรษฐกิจที่แย่ แล้วภาวะของการที่หยุดชะงักในการเจริญเติบโต การคิดค้นงานวิจัย ยกตัวอย่างง่ายๆว่า มหาวิทยาลัยต่างๆปิด มหาวิทยาลัยเขาต้องทำงานวิจัย เขาก็อาศัยนักเรียน นักศึกษา เวลาปิดเนี่ย นักเรียนนักศึกษาไม่มาช่วยทำงาน การทำวิจัยก็อาจช้า ไม่คล่องตัว เขาก็เริ่มเปิดล่ะ จะเปิดล่ะ ไม่ไหวแล้ว

แล้วก็เรื่องท่องเที่ยว เขาก็เริ่มจะเปิดแล้ว ร้านอาหารต่างๆ ก็แย่ลง การเก็บภาษีของรัฐก็แย่ลง เขาเตรียมเปิดแล้ว

แต่ของเรา(ไทย)เนี่ย ต้องจริงจังได้แล้ว เพราะไม่งั้น นานกว่านี้ ประชาชนจะลำบาก ไปแจกเงินก็ไม่พอหรอก ไม่พอกินจริง ฉะนั้นก็รีบ ผมก็จะย้ำอีกว่า ต้องรีบเตรียมตัว เปิดเศรษฐกิจของประเทศได้แล้ว

โควิดไม่ไปไหนหรอก แต่จะอยู่กับเราเหมือนไข้หวัด แต่ว่าวันนี้ เขากำลังรอ วัคซีนที่ได้ผล ตอนนี้วัคซีนที่ได้ผลก็เยอะหลายตัว แล้วก็เรื่องของ ยารักษาโรค วันนี้ที่อิสราเอล ก็มียาฉีด อาการหนักๆฉีดเข้าไป 5 เข็ม ออกจากโรงพยาบาลเฉยแล้วหายนะครับ ยากิน เมิร์กส(บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติเยอรมนี) ก็เริ่มทำแล้ว ไฟเซอร์ก็เริ่มทำแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้ามียากิน มียาฉีด มีวัคซีน ตอนนี้เราถือว่า โควิดเนี่ย ก็เชื่องลงแล้ว แล้วก็มีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนหรือคุมคนป่วยเยอะๆเนี่ย ก็จะเหมือนไข้หวัดแล้ว

ฉะนั้นวันนี้เราต้องเตรียมตัวว่า ไม่นานโควิดก็จะเหมือนไข้หวัด ที่มียารักษา มีวัคซีน แล้วก็มีภูมิคุ้มกันหมู่ เศรษฐกิจก็ต้องเตรียมตัวเปิดไปพร้อมๆกัน ถ้ายังไม่เตรียมตัว เปิดปุ๊บปั๊บก็สู้คนอื่นไม่ได้ ดังนั้นวันนี้ ต้องเตรียมตัวแล้ว

ดังนั้นกลุ่มแคร์ก็ ต้องมานั่งวิเคราะห์ว่า จะแนะนำรัฐบาลอย่างไร ในการเตรียมตัวเปิดเศรษฐกิจ แล้วจะให้ประชาชนเขา อยู่รอดได้อย่างไร กับสิ่งที่กำลังมาท้าทาย กำลังมาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา

ไม่ว่าเรื่องของในโลกวันนี้ ขณะนี้เราแข่งขันกันหลายเรื่อง เศรษฐกิจดิจิตัล แพลตฟอร์มต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ เรื่องอินเตอร์เน็ตที่ไม่เกิน 5 ปี ก็จะมาใช้เรื่องของอินเตอร์เน็ตควอนตัม เราเตรียมตัวพร้อมยังไง เรื่องของอินเตอร์เน็ตควอนตัม ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของความเร็วและความปลอดภัยของข้อมูล จะไม่มีการแฮกได้มาต่างๆเหล่านี้ ก็จะเข้ามาแล้ว เรื่องของทางด้านการเงิน ฟินเทค ต่อไปนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

อย่างวันก่อน มีคนมาชวนผม ไปลงทุนว่า เราลงทุนในบริษัที่เกี่ยวกับเรื่อง “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับมาสเตอร์การ์ด หรืออเมซอน ถามว่า ตรงนี้กำลังจะมา จะมาแย่งลูกค้า การซื้อจากบ้าน ไปร้านค้าปลีก ก็จะถูกแข่งขันกันหมด คนไทยจะเตรียมตัวยังไง เราจะบอกเขาได้ไหม สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจที่เขาเคยทำมาจนปัจจุบัน จะต้องแก้ไขแล้ว จะต้องทำยังไง

อันนี้ผมคิดว่า คงเป็นการบ้านสำคัญให้กับคนเป็นรัฐบาล แต่คนที่เป็นคลังความคิดอย่างกลุ่มแคร์ จะช่วยคิด ช่วยให้รัฐบาล พูดให้รัฐบาลได้ยินหน่อย ถ้าเขาเอากลับไปคิด ไปทำต่อ ก็ได้เป็นประโยชน์ อีกไม่กี่ปี หรือปีกว่าก็จะเลือกตั้งแล้ว เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ก็กำลังคิดว่า ประชาชนจะเลือกยังไง แล้วจะเอาใครมาแก้ไขปัญหาให้เขา นั้นก็เป็นสิ่งปกติในระบบการเลือกตั้ง ถึงแม้เราเป็นประชาธิปไตยเพียงเสี้ยวเดียว ไม่เต็มที่ ก็ยังดีกว่าไม่เป็นเลย

ดังนั้น วันนี้ การเตรียมตัวข้างหน้าของเรา เราไม่ได้เตรียมตัวเลย ผมยังดีใจที่กลุ่มแคร์เนี่ย จะเอามีความชำนาญในด้านการศึกษา ระบบการศึกษา เพราะการศึกษาแบบเราเนี่ย ไปไม่ได้แล้ว ไปไม่ทันโลกแล้ว ต้องปรับระบบการศึกษาครั้งใหญ่เลย ตั้งแต่ชั้นประถม มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย

แล้ววันนี้เนี่ย สิ่งที่เคยเป็นกำแพงระหว่าง “วิชา” ระหว่าง “คณะ” เนี่ย ถูกพังทลายลง หมายความว่าข้ามกันหมดแล้ว วิชาการได้ผูกรวมกัน รวมกันได้ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นในโลก อย่างรวดเร็วมาก

ถ้าเรายังไม่ตาม เรื่องเหล่านี้ จะปล่อยให้ประเทศไทย ไปแบบนี้ เดินแบบนี้ แล้วถอยไปโบราณแบบนี้

ปัญหาก็คือ เศรษฐกิจจะพัง..แล้วคนไทย..จะจน กำลังซื้อของคนไทยจะตกต่ำ ระบบการจัดเก็บภาษี เราก็เก็บไม่ได้ เราจะทำให้หนี้สินเราลำบากขึ้น

ดังนั้น วันนี้เราต้องคิด แก้ปัญหาปัจจุบันที่หมักหมม แก้ไม่จบ แล้วไม่ได้มองอนาคตไปพร้อมๆกัน ต้องมองปัจจุบันแล้ววางทางแก้ปัญหาเผื่อในอนาคตด้วย เราจะได้ทำให้ประเทศเจริญขึ้น ถ้าเรายังเป็นอย่างนี้ ไม่คิดทางวิชาการ ไม่คิดจะพัฒนาให้ตัวเองทตามทันโลก เราก็ไม่สามารถที่จะดูแลประชาชนของเราได้ เพราะว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ในโลกนี้มีผลต่อทุกประเทศ เพราะความเชื่อมโยงไม่เหมือนเมื่อก่อน แล้ววันนี้ไม่ใช่ว่า การมาเป็นรัฐบาล ใครๆก็เป็นได้ การเมืองแบบเดิมๆ เดี๋ยวเอาทหารมา นั้นไม่เพียงพอ สมัยก่อนที่เพียงพอ เพราะระบบราชการแข็งแรง และโลกไม่เชื่อมโยงกันมากขนาดนี้ แต่วันนี้โลกเชื่อมโยงกันมาก

แต่ระบบราชการเราอ่อนแอลงเยอะ เพราะเราขาดการพัฒนา แล้วในโลกของทุนนิยม คนก็เยอะหาเงินมากๆ ก็จะไปอยู่ภาคเอกชน คนเรียนหนังสือเก่งๆ ไปอยู่ภาคเอกชน ภาคราชการก็จะมีคนที่เรียนเก่งน้อยลง ดังนั้น ความเก่งในระบบราชการล้าหลัง ดังนั้น คนที่มาเป็นรัฐบาล ถ้าไม่เอาความรู้ติดตัวมา เอามาแค่คะแนนเสียงนั้นก็ไม่เพียงพอ ต้องเอาความรู้ติดตัวมา ที่จะมาแก้ปัญหาบ้านเมือง

ดังนั้น ผมก็เลยฝากกลุ่มแคร์ไว้ว่า ขอให้ช่วยกัน เอาประเด็นต่างๆ ที่เราไปรับฟังจากชาวบ้านมา แล้วลองมารวมกันว่า เขาทุกข์เรื่องอะไร แล้วการแก้วิธีไหนแก้ให้เขาได้ แล้วระยะยาว ประเทศต้องเดินหน้าไปทางไหน ระบบการศึกษาจะเป็นยังไง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะว่ายังไง ระบบเศรษฐกิจจะว่ายังไง ระบบการเงินประเทศจะไปยังไง จะปรับปรุงยังไง

อย่าลูบหน้าปะจมูก เราต้องเดินหน้าด้วย หลักการที่ถูกต้อง แล้วเราถึงจะ นำพาประเทศไทยไปได้

วันนี้ ผมก็อยากจะฝากข้อคิดให้กับกลุ่มแคร์ว่า ที่ทำมาแล้ว ทำได้ดีมาก แล้วก็ขอขอบคุณทุกคน ที่เข้ามา ร่วมคิด ร่วมทำกับกลุ่มแคร์ แล้วก็ขอให้กลุ่มแคร์ เดินหน้าต่อไป ในเชิงของการรับรู้ปัญหา ให้ทั่วประเทศ แล้วก็เสนอทางออก ให้กับรัฐบาล ส่งเสียงดังๆ อย่างน้อยๆรัฐบาลไม่เอาไป ภาคประชาชนก็จะได้ตื่นตัวว่า นี่ข้างหน้าจะเกิดขึ้นนะ โอกาสคืออะไร อะไรคือสิ่งที่จะคุกคาม ความอยู่รอดของธุรกิจตัวเอง จะได้ปรับตัวได้ทัน ถ้าไม่ปรับตัวก็พัง นะครับ

สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่กลุ่มแคร์ ได้ตั้งใจจะทำแล้ว ขอให้ทำต่อไป ขอให้กำลังใจ และขอขอบคุณ ทุกๆคนที่มาร่วม แล้วก็ ขอขอบคุณ กำลังใจที่ให้กับกลุ่มแคร์ และก็ขอขอบคุณข้อมูลที่ให้กับกลุ่มแคร์มาศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ

ขอขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ