กมธ.ป.ป.ช. เผยคืบหน้าสอบ “ธรรมนัส” ยกเคสต่างประเทศ ใช้ระบบละอายแก่ใจ

กมธ.ป.ป.ช. เผย ความคืบหน้าสอบจริยธรรม “ธรรมนัส” ชี้ ต่างประเทศใช้ความละอายใจ ไม่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ ฝากนายกฯ ควรจัดการเอง ในฐานะคนตั้ง

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมต่างๆ ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่า วันนี้ได้เชิญ ศจ.วิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบการการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ส่งรองเลขาธิการมาให้การชี้แจงแทน โดย ศจ.วิชาได้ให้ข้อเท็จจริงว่า

ประเด็นจริยธรรมในการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรจะเป็นบุคคลที่มีความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลซึ่งตามหลักสากล เช่น ประเทศเยอรมัน ใช้จริยธรรมโดยมีความละอายแก่ใจและเกิดมโนสำนึกเอง ไม่ต้องกระบวนการตรวจสอบ แต่ของประเทศไทยมีการตรวจสอบอย่างหลากหลายทั้งในสภาผู้แทนราษฎร ในกระบวนการ กมธ.หรืออื่นๆ

เราจึงต้องถือเรื่องนี้ฝากบอกไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีข้อสงสัยในจริยธรรมให้พิจารณาตนเองด้วย และฝากบอกถึงนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญควรคำนึงถึงจริยธรรม จำเป็นด้วยหรือที่ต้องให้ กมธ.มาตรวจสอบ แล้วถึงจะปลด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ควรตรวจสอบและจัดการเอง แต่กลับนิ่งเฉยแม้จะมีข้อมูล

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นในส่วนของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2525 ในการหารือผู้ต้องห้ามไม่ให้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 96 อนุ 5 ซึ่งเป็นเรื่องของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศจะมาใช้ในประเทศไทยได้หรือไม่ ในเรื่องยาเสพติดกรณีการสมัครเลือกตั้ง ส.ส. กฤษฎีกามีความเห็นว่าไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ 2521 ส่วนในเรื่องของการขอรับเครื่องราชฯ

เป็นระเบียบภายใน กรณีนี้จึงไม่ฟังคำพิพากษาต่างประเทศ อีกเรื่องคือเรามีอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศมากมาย ซึ่งกรณีการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองเราไม่ได้ยอมรับในคำบังคับคดีของศาลต่างประเทศ แต่ยอมรับแค่ข้อเท็จจริงมาประกอบว่าคนที่เคยต้องคำพิพากษาให้ต้องโทษจำคุกคดียาเสพติดหรือไม่ ยืนยันชัดเจนว่าเราไม่ได้อยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของศาลต่างประเทศ

นายธีรัจชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนเรื่องกระบวนการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยที่ 6/2564 มีตอนหนึ่งระบุไว้ชัดว่าเพื่อประโยชน์ของการพิจารณาอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 27 วรรค 3 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกสำเนาคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลล์และศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลล์ และเอกสารสำคัญจากผู้ร้อง

ผู้ถูกร้องและปลัดกระทรวงต่างประเทศเพื่อดำเนินการช่องทางการฑูต แต่ปลัดกระทรวงต่างประเทศชี้แจงว่าสำเนาพิพากษาศาลแขวง รัฐนิวเซาท์เวลล์เป็นข้อมูลทางราชการ ไม่อยู่ในความครอบครองของกระทรวงต่างประเทศที่จะส่งให้กระทรวงต่างประเทศได้ ประเด็นสำคัญคือกระทรวงต่างประเทศได้ติดต่อทางการฑูตหรือไม่ ปลัดกระทรวงต่างประเทศละเว้นหน้าที่โดยไม่ชอบหรือไม่ หากทำทำแค่ไหนต้องหาข้อเท็จจริง

“ประเด็นต่อมาเมื่อกระทรวงต่างประเทศบอกว่าไม่ได้อยู่ในครอบครอง ศาลรัฐธรรมนูญก็ยุติเลย คำพิพากษาเป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่นำมาพิจารณา ซึ่งเราพยายามจะตรวจสอบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีการติดตามตามหน้าที่หรือไม่ เราไม่สรุปในตอนนี้ว่าใครถูกใครผิด แต่เราจะตั้งประเด็นและสอบไปเรื่อยๆ และจะทำด้วยความซื่อตรงสุจริตเพื่อมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อมาตรฐานในการคัดสรรคนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและระดับสากล” นายธีรัจชัย กล่าว