‘Resolution’ ชวนเข้าชื่อ แก้รธน.พุ่งเป้าต้นตอปัญหา-หยุดระบอบประยุทธ์

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ทำการคณะก้าวหน้า อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ กลุ่ม Re-Solution แถลงข่าวกรณีรณรงค์เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในแคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ท่ามกลางกระแสการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งมุ่งไปที่การแก้ไขรายมาตราเน้นที่เรื่องระบบการเลือกตั้ง ขณะที่ทางกลุ่มเสนอแก้ไขใน 4 ประเด็น มุ่งขจัดต้นตอของปัญหาในการสืบทอดอำนาจ คือ 1.ล้มวุฒิสภา เดินหน้าสภาเดี่ยว 2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ 3.เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูป ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ และ 4.ล้างมรดกรัฐประหาร หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย

“ปิยบุตร” ชี้พิรุธแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แตะโครงสร้างต้นตอปัญหา – อัดไม่เห็นหัวประชาชนเอาแต่ตัวเองได้ประโยชน์

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ตัวแทนกลุ่ม Re-Solution กล่าวว่า รัฐธรมนูญ 2560 หรือฉบับสืบทอดอำนาจ ถ้ายังอยู่กับเรา ประเทศไทยจะไม่กลับมาปกติแบบนานาอารยะประเทศ ซึ่งเราเห็นว่าต้องมีการจัดทำใหม่ทั้งฉบับ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการนั้นได้ถูกคว่ำไปด้วยการเล่นแร่แปรธาตุของสมาชิกรัฐสภา และมีทีท่าว่าจะหันมาแก้รายมาตราแทน และกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ มันเป็นการเล่นละคร ตบตา ปาหี่ กันมาตั้งแต่ต้น เห็นชัดว่ารัฐบาลเสียงข้างมากในเวลานี้ รวมถึง ส.ว. ไม่ได้มีความจริงใจแก้ตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาทำราวกับว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือการจะทำใหม่ทั้งฉบับจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ท้ายที่สุด พอสถานการณ์การเมืองบีบงวดมากขึ้น พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มมีปัญหากันเองมากขึ้น คราวนี้เริ่มกลับมาคิดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ
.
“อยากชวนพิจารณา การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ ที่พรรคต่างๆ มีการเสนอมาหลายร่าง ตามแต่ละพรรคนั้นๆ จะออกแบบ แต่ความสำคัญอยู่ที่ วัตถุประสงค์ลึกๆ แล้วเขาต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งคิดว่าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านบางพรรค เขาต้องการเน้นไปที่ระบบเลือกตั้ง เรื่องอื่นเป็นเพียงองค์ประกอบ เป็นเพียงเครื่องประดับที่ตกแต่งเท่านั้นเอง และท้ายที่สุด ก็คาดการณ์ว่าการแก้ระบบเลือกตั้งครั้งนี้จะมีโอกาสสำเร็จด้วย และถ้าหากการแก้ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จ กลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2540 จริง นี่คือการเปิดทางให้ระบอบประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจอีกรอบ” ปิยบุตร กล่าว

“ไอติม พริษฐ์” ปลุกฝ่ายค้านคว่ำร่างพลังประชารัฐ ไม่ร่วมสังฆกรรมแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่แก้ต้นตอปัญหา

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายที่กำลังเตรียมยื่นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จากข้อมูลล่าสุด มีชุดข้อเสนอจาก 4 กลุ่ม จำนวน 14 ร่าง รวม 18 ประเด็น ประกอบด้วย (1) พรรคพลังประชารัฐ 5 ประเด็น (2) พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา 7 ประเด็น (3) พรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรค 5 ประเด็น และ (4) กลุ่ม Re-Solution ผ่านการรวบรวมรายชื่อจากประชาชน 4 ประเด็น ซึ่งตนขอแบ่งข้อเสนอเหล่านี้ออกเป็น 3 ประเภทตามความเร่งด่วน ได้แก่ ข้อเสนอที่ส่งเสริมประชาธิปไตย และแก้ต้นตอของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ต้องทำทันที ประเภทที่สอง คือข้อเสนอที่อาจส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับต้นตอของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องการสืบทอดอำนาจระบอบประยุทธ์ ข้อเสนอประเภทนี้ถ้าทำได้ก็ต้องทำทันที แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้เก็บไปคุยตอนมี สสร. มาร่างฉบับใหม่ และสุดท้ายคือข้อเสนอที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมประชาธิปไตย และอาจเอื้อประโยชน์ต่อบางพรรคการเมืองโดยไม่มีหลักการทางประชาธิปไตยมารองรับ ข้อเสนอประเภทนี้เป็นข้อเสนอที่ไม่ควรทำตอนนี้เด็ดขาด แต่ควรไปคุยตอนมี สสร. มาร่างฉบับใหม่
.
“สำหรับพรรคการเมืองและประชาชน มี 3 แนวทางที่ต้องร่วมกันทำเพื่อสกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการสืบทอดอำนาจ แนวทางแรกคือทุกพรรคต้องร่วมกันคว่ำข้อเสนอหรือร่างของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชัดเจนแล้วว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่มีส่วนไหนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของรัฐธรรมนูญเรื่องการสืบทอดอำนาจ แนวทางที่ 2 คือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ควรร่วมสังฆกรรมแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เพราะหากไม่ระมัดระวัง อาจเข้าทางระบอบประยุทธ์ แม้หลายร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีการเสนอประเด็นที่มุ่งไปที่ต้นตอของปัญหา แต่หากตั้งหลักไม่ดี มีโอกาสสูงที่ร่างเหล่านี้จะถูกบล็อกโดย ส.ว. และร่างเดียวที่จะผ่าน จะเป็นแค่เรื่องระบบเลือกตั้งที่ไม่แตะที่ต้นตอของปัญหา ส่วนแนวทางที่ 3 คือการเชิญชวนประชาชน มาร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของกลุ่ม Re-Solution ซึ่งเรายืนยันมาตลอดว่าจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเฉพาะประเด็นที่เป็นต้นตอของปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ” พริษฐ์ กล่าว

“มายด์ ภัสราวลี” ชวนประชาชนร่วมส่งเสียง ดันร่างแก้ รธน.ฉบับประชาชนเป็นวาระหลักในสภา

ด้าน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์” นักกิจกรรมประชาธิปไตย ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นดอกผลมาจากการรัฐประหาร ให้กำเนิดรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ ทำให้เราได้นายกรัฐมนตรีที่น่าจะไร้ความสามารถที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลไกประชาธิปไตยเป็นไปได้ยากเย็นแสนเข็ญและถูกขัดขวางมาโดยตลอด จนทำให้สงสัยว่าประเทศไทยจะยอมรับกันใช่หรือไม่ ว่าประเทศนี้เมืองนี้ จะแก้รัฐธรรมนูญได้เฉพาะอำนาจปลายกระบอกปืนของคณะรัฐประหาร หรือเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพื่อการพัฒนาประเทศที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกลับทำไม่ได้ คำถามใหญ่ก็คือสรุปว่าประเทศนี้เป็นของใครกันแน่?
.
“พวกเราหลายคนก็คงเชื่อเหมือนกัน ว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน และพวกเราประชาชนทุกคนก็จะไม่ยอมให้พวกเขามาทำอะไรตามอำเภอใจ จะไม่ยอมให้มีการสืบทอดอำนาจที่ยืดยาวต่อออกไปกว่านี้ เราทุกคนจะต้องส่งเสียงเรียกร้องลงมือทำ เข้าชื่อและผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ให้เป็นร่างหลักที่จะพิจารณาอยู่ในสภา เราต้องส่งเสียงและลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศนี้ ถ้ารัฐธรรมนูญ 60 ยังเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะเลือกตั้งอีกกี่ครั้งเราก็จะได้รัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชน” ภัสราวลี กล่าว

“เอกพันธุ์” ชี้ 4 ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 -ลั่นต้องเร่งแก้ไข คืนบรรยากาศประชาธิปไตยกลับมา

ด้าน เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีปัญหา 4 กลุ่ม คือ 1. เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ข้อกำหนดต่างๆ ถูกลดทอนมาก คือถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นไปได้อยางไร ขณะที่เราก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญกลับกำหนดสิทธิเสรีภาพเราต่ำกว่าในอดีต 2.เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความยุติธรรรม การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ และแม้แต่วันนี้เรื่องการกระจายวัคซีนที่เป็นปัญหา ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากที่รัฐธรรมนูญ ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. อำนาจที่มาที่ไปของวุฒิสภา มีความเป็นหนึ่งเดียวกันมาก ไม่เคยมีที่ไหนในโลก ที่วุฒิสภา 250 คน ยกมือราวกับเป็นคนเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ สู้ไม่มีดีกว่า และ 4.สิ่งที่เปรียบเสมือนเนื้อร้าย เป็นมะเร็งร้ายจำนวนมากต้องตัดทิ้ง อาทิ บทเฉพาะกาล หรือ มาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.
.
“นี่คือเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็เพื่ออย่างน้อย ทำให้บรรยากาศประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ประเทศไทยบ้าง และเราต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ไม่ยอมรับรัฐประหารอีกต่อไป นี่คือหลักการและข้อเสนอกลุ่ม Re-Solution ที่ผมคิดว่าต้องสนับสนุน เพื่อทำให้สังคมเรามีความเป็นประชาธิปไตยมาขึ้น” เอกพันธุ์ กล่าว

“ธนาธร” ขอพลังประชาชนยุติ คสช. เนียนแก้ รธน. สืบทอดอำนาจรอบสอง เข้าชื่อดันร่าง รธน. #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า หากเราย้อนหลังกลับไปดูสถิติในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่พูดชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และการสืบทอดอำนาจรวมกัน 3 พรรค มีคะแนนเพียง 25.04% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่พรรคที่พูดชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเข้าไปด้วย ซึ่งวันนั้นแสดงจุดยืนชัดเจน พรรคต่างๆ เหล่านี้รวมกันมีคะแนนถึง 67.82% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ตอนนี้ เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี 9 เดือนเท่านั้น จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่าระบบประยุทธ์จะยังคงอยู่ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของระบบการเลือกตั้ง นี่คือความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจรอบที่สอง

“ในการนี้ตนจึงอยากจะเรียนเชิญประชาชนที่รักความยุติธรรม ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยทุกคน ช่วยสนับสนุนพวกเรากลุ่ม Re-Solution ผลักดันร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution ที่จะล้มศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ล้างมรดกรัฐประหาร ล้มวุฒิสภา นี่คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่มุ่งขจัดต้นตอของปัญหาในการสืบทอดอำนาจ ผมอยากจะขอเสียงจากทุกท่านร่วมลงชื่อไปกับพวกเรา หนึ่งเสียงของท่านมีความหมาย หนึ่งเสียงของท่านเป็นพลังสนับสนุนวาระที่สำคัญจำเป็นของสังคมไทยได้ ขอพลังจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution ในครั้งนี้ ร่วมกันกดดัน ส่งเสียงของพวกเราประชาชนดังๆ ว่าเราต้องการเห็นประชาธิปไตย ว่าเราไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์อีกแล้ว” ธนาธรกล่าว

เผย 20 รายชื่อผู้เชิญชวน นักการเมือง-นักวิชาการ -นักกิจกรรม- คนหลากวงการแห่ร่วมเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการรณรงค์เข้าชื่อของกลุ่มในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 ซึ่งเอื้ออำนวยให้สามารถเข้าชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชน แต่ต้องมีผู้เชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างน้อย 20 คน ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้เชิญชวนการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ของกลุ่มในครั้งนี้ได้แก่ 1. ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำกลุ่ม Re-Solution และเลขาธิการคณะก้าวหน้า 2.พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า 3. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า 4.ธิษะณา ชุณหะวัณ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า 5.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Pre-Doctoral Fellow, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6. เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า 7.ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน 8.ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน 9.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล. 10.ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พรรคก้าวไกล
11. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ 12.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 13. กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 14.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรม 15.อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน 16. เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการ 17.ชญาธนุส ศรทัตต์ นางแบบและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิชาติพันธุ์ 18. ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรม 19. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรม และ 20.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต​ปัตตานี