‘เพื่อไทย’ ตั้งวงถกเปิดเศรษฐกิจ แนะรัฐลดอุปสรรค ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อก’ หวังฟื้นท่องเที่ยวไทยโดยเร็ว

เพื่อไทยแนะรัฐลดอุปสรรคภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์โมเดล ปลดล็อคการท่องเที่ยวไทย หวังฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาโดยเร็ว

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 เมื่อเวลา 10.30 น. พรรคเพื่อไทยจัดงานเสวนา “ภูเก็ต sandbox ปลดล็อกการท่องเที่ยวไทย?” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

นายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่พบการระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 เมื่อปลดล็อคดาวน์ในเดือนพฤษภาคม 2563 ภาคธุรกิจได้ปรับตัวออกโปรโมชันลดราคาเพื่อกระตุ้นรายได้ แต่นักท่องเที่ยวกลับมาได้เพียง 20% เท่านั้น เมื่อเกิดการระบาดระลอก 2 และระลอก 3 ได้สร้างความเสียหายให้กับจังหวัดภูเก็ตหลายแสนล้านบาท เอกชนและภาครัฐของจังหวัดจึงได้เสนอภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าภูเก็ตในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยต้องกักตัว 7 วัน โดยใน 5 วันแรกจะมีการสว็อปตรวจเชื้อ

หากไม่พบเชื้อสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดได้ แต่เมื่อ ศบค.กลับเพิ่มการกักตัวเป็น 14 วัน สร้างความสับสนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลและฝ่ายค้านสร้างระบบสั่งการคนเดียว (Single command) เหมือนกรณีหมูป่าในเชียงราย ไม่อย่างนั้นจะติดหล่มการฟื้นตัว พร้อมยืนยันหากคนภูเก็ตไม่ได้ฉีดวัคซีนถึง 70% จะไม่เปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแน่นอน นอกจากนี้ภาครัฐต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และทุกฝ่ายต้องระดมสรรพกำลังทำให้โมเดลนี้สำเร็จ เพื่อให้จังหวัดท่องเที่ยวอื่นนำไปดำเนินการต่อได้

ทั้งนี้ในปี 2562 จังหวัดภูเก็ตสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 400,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 300,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวไทย 70,000 ล้านบาท

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ทีมนโยบายสาธารณสุข พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาจากการบริหารที่ล้มเหลวผิดพลาดของรัฐบาล มีกุญแจ 2 ดอก ได้แก่ 1.ต้องใช้หลักการระบาดวิทยาหรือมาตรการด้านสาธารณสุข ทุกคนในเมืองท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 2.การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทุกคนต้องได้รับการตรวจ ลงทะเบียน หรือสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันอย่างไร พร้อมเสนอให้ภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ตตั้งคณะทำงานพิเศษ ยกร่างแผนการบริหารจัดการด้วยเอง และนำเสนอให้พลเอกประยุทธ์ให้ดำเนินการตามแผนนี้ เพื่อให้ได้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่กลับไปกลับมาเหมือนที่เป็นอยู่

ทั้งนี้เห็นว่ามาตรการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รัฐบาลลงทุนน้อยมาก ซึ่งเมืองรองอื่น เช่น หนองคาย อุบลราชธานี จะต้องขยับตามด้วย เพียงแค่รัฐบาลลงทุนแค่ซื้อวัคซีนไม่กี่หมื่นชุดต่อหนึ่งเมืองหลัก ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้

นางสาวชนก จันทาทอง โฆษกคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และแม้จังหวัดภูเก็ตพร้อมรับทุกเงื่อนไข แต่ปัญหาเดียวคือ ความชัดเจนและการจัดการของ ศบค. รวมถึงปัญหาการสื่อสารเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว การใช้คำ “กักตัว” อาจไม่เหมาะสม หากเปลี่ยนเป็น “จำกัดพื้นที่เพื่อความปลอดภัย” อาจจูงใจการท่องเที่ยวมากกว่า จึงอยากให้ ศบค. พิจารณาว่าหลักการท่านหรือหลักปากท้องประชาชนมีความสำคัญกว่ากัน หากภูเก็ตแซนด์บ็อกโมเดลเปิดได้ จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ของประเทศไทยก็มีความหวังจะพลิกฟื้นกลับมาทำมาหากินได้เช่นกัน

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากเรียกร้องภาครัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาภาคการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก เพราะเมื่อดูจากงบประมาณปี 2565 เป็นงบสำหรับการท่องเที่ยวเพียง 0.2 % ของงบทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวของโลก

“การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาเร็วที่สุด พาสปอร์ตวัคซีนเล่มแรกอยู่ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ภูเก็ตและจังหวัดท่องเที่ยวบอบช้ำมามากแล้ว หากเกิดการระบาดระลอก 4 ท่านจะรับมืออย่างไร ” นายจักรพลกล่าว