‘ชำนาญ’ ย้ำ ‘รัฐ’ ต้องรับบทนำจัดซื้อวัคซีน แบ่งท้องถิ่นซื้อ ‘ยี่ห้อทางเลือก’ ตามใจคนในพื้นที่

‘ชำนาญ’ ย้ำ ‘รัฐ’ ต้องรับบทนำจัดซื้อวัคซีน แบ่งท้องถิ่นซื้อ ‘ยี่ห้อทางเลือก’ ตามใจคนในพื้นที่ เผย ‘ประยุทธ์’ พูดเองไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดของ ชี้ ประกาศ ศบค. ข้อ 5 ยิ่งมัดมือ ‘อปท.’ แน่นขึ้น

วันที่ 11 มิถุนายน นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวแสดงความเพิ่มเติมกรณีไม่เห็นด้วยที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดซื้อวัคซีนเอง ว่า สรุปความเห็นตน คือ 1.การเข้าถึงวัคซีนประชาชนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2.กรณีอปท. ที่จะเข้ามาจัดซื้อวัคซีนด้วยเงินสะสมท้องถิ่นของตัวเองนั้น ต้องเข้ามาเป็นหน่วยงานเสริมหรือผู้ปฏิบัติ โดยบูรณาการกับรัฐในการจัดหาวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่จะจัดหาโดยท้องถิ่นนั้นต้องเป็นวัคซีนทางเลือก มิใช่วัคซีนหลักที่รัฐจัดหาอยู่แล้ว

โดยวัคซีนทางเลือกนี้ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นว่าอยากได้วัคซีนอะไร และรัฐบาลค่อยจ่ายเงินชดเชยคืนให้ท้องถิ่นทีหลัง และ 3.การที่ท้องถิ่นจะจัดซื้อวัคซีนนั้น มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะตลาดเป็นของผู้ขาย ต้องจ่ายเงินไปก่อนจึงจะได้ของมา ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ทำไม่ได้ ต้องแก้หรือขอยกเว้น และยังต้องแก้หรือขอยกเว้นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้เงินฯ ด้วย ส่วน กทม. ไม่ต้องเพราะมีระเบียบการใช้เงินเอง

นายชำนาญ กล่าวว่า ความจริงก็คือรัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน เหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงสภาฯ ในการพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน​ 5 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ยังบอกอีกว่าจะสั่งอีก 150 ล้านโดส แต่ตอนนี้ซัพพลายของวัคซีนไม่เพียงพอ โดยท้องถิ่นเล็กๆ ก็จะรับเคราะห์ เพราะไม่สามารถซื้อได้เหมือนท้องถิ่นใหญ่ๆ

แม้ท้องถิ่นได้มาก็ต้องเอามาใส่ตะกร้ารวมกัน เพราะไม่อย่างนั้นจะมั่ว และยิ่งเละเทะ ทั้งนี้ เมื่ออ่านประกาศศบค.ล่าสุด ข้อ 5 แล้วแทนที่จะเป็นการปลดล็อก เพราะท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนได้อยู่แล้วตามพ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จึงฟันธงว่าบางทีท้องถิ่นสั่งอาจได้ทีหลังที่รัฐบาลสั่งเพราะติดล็อกข้อ 5 ที่ว่านี้