พรก.เงินกู้ : ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ติง! รุมสับ-อัดไม่ยั้ง วอนเน้นแก้ปัญหาก่อนคิดหาเสียง

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ‘กรวีร์-วทันยา-สาทิตย์’ อัดยับ! อย่าเอาเงินไปกับโครงการไร้ประสิทธิภาพ ทุ่มเพื่อแก้ปัญหาด่วน มีเหน็บกู้หน้านายกฯก่อน

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน วาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

นอกจากพรรคฝ่ายค้านที่ออกมาแสดงความกังวล อภิปรายวิจารณ์ในลักษณะสะท้อนท่าทีคัดค้าน พรก.แล้ว แม้แต่ส.ส.บางคนของพรรคร่วมรัฐบาลก็ออกมาตั้งคำถาม เสนอแนะ แสดงความเห็นคัดค้านด้วย

เหน็บ! กู้หน้านายกฯก่อนกู้เงิน

เริ่มจาก นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีราชชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ขึ้นอภิปรายเมื่อเวลา 11.20 น.ว่า หากฟังรมว.คลัง ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นถึงพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท จะเห็นว่ามีความจำเป็นและสำคัญหลายอย่าง เพราะมีงบประมาณบางอย่างไม่ถูกบรรจุไว้ในงบประมาณประจำปี 2565

ดังนั้น พ.ร.ก.นี้จะทำให้ประเทศเดินหน้า ทั้งนี้ ในส่วนของส.ส.มีหน้าที่สะท้อนปัญหา และข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้รัฐบาล และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับทราบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เราคาดหวังว่าจะไม่ซ้ำรอยเดิมกับการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมา และรัฐบาลต้องทำ 3 เรื่อง ได้แก่

การจริงจังแก้ไขปัญหาสาธารณณสุข โดยอย่านำเป็นข้ออ้างในการกู้เงิน รวมถึงต้องไม่เยียวยาแบบเดิม ถ้าเรายังคิดกรอบแบบเดิม และใช้วิธีการแบบเดิม วันนี้เราคงไม่ต้องมากู้เงินอีกรอบ พรรคภูมิใจไทยขอเสนอให้มองการสร้างงาน อาชีพและรายได้ ให้กับชาวบ้านมากกว่าการแจกเงิน ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประเทศในอนาคต รัฐบาลบอกว่าเราจะไม่กลับไปแบบเดิมแล้ว แต่ที่ผ่านมาเงินฟื้นฟูแบบเดิมวางไว้ก็กลับโอนไปใช้เยียวยา และใช้โครงการต่างๆแทน เราต้องจริงจังในการสร้างอนาคตให้กับประเทศเราด้วย

ทั้งนี้ ขอย้ำ รมว.คลัง และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าการกู้เงินนาทีนี้ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ต้องกู้หน้านายกฯ และรัฐบาล รวมถึงต้องกู้ความเชื่อมั่น หากกู้ความเชื่อมั่นกลับมาไม่ได้ ต่อให้กู้เงินอีกกี่ล้านๆก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หากจำเป็นต้องตั้งกมธ.วิสามัญติดตามการใช้จ่ายเงินเราก็ยินดีดำเนินการ และขอให้การกู้เงินครั้งนี้ไม่ซ้ำรอยเดิม

อย่าเอาไปทำโครงการไร้ประสิทธิภาพ!

เวลา 11.40 น. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เงินจาก พ.ร.ก.นี้ไม่ควรเอาไปทำโครงการไร้ประสิทธิภาพอย่างอื่นเลย เพราะไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าการระบาดรอบที่สี่จะเกิดเมื่อไหร่ และคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้ว จะต้องฉีดเข็ม 3 เข็ม 4 หรือไม่ นี่คือหนี้ก้อนสุดท้ายก่อนชนเพดาน ขอให้รัฐทุมเทเรื่องวัคซีน จัดการกระจายให้ดี และอย่าเอาการเมืองมาบริหารวัคฉีน อย่าเอาการเมืองนำการแพทย์ ต้องเอาการแพทย์นำการเมือง ต้องไม่มีโควต้าพรรคการเมือง เอาคนไปฉีนวัคซีนคนชาวบ้านคนจนคนอื่นได้ และการซื้อขายคิวฉีดวัคซีนต้องไม่มี

“วันนี้เรื่องพรรคการเมืองได้โควต้าไปฉีดวัคซีนหนาหูมาก และไม่ใช่พรรคการเมืองเดียวด้วย ผมไม่ทราบเรื่องนี้เท็จจริงอย่าไร ประชาธิปัตย์ไม่มี แต่รัฐบาลจะต้องสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ให้ชัดเจน อย่าเอาเรื่องวัคซีนไปทำฐานการเมือง แต่ต้องฉีดตามหลักระบาดวิทยา ใครต้องได้ก่อนได้ไป มันต้องไม่มีข่าวว่าโค้ดรุ่งเรือง ที่พูดกันอยู่ถึงปัจจุบัน จะต้องไม่มีข่าวว่าเอาวีไอพีบางคนไปฉีดก่อนคนจน ถ้าเราใช้เงินกู้นี้มาฉีดวัคซีนให้ชาวบ้านทั่วประเทศเพียงพอ ไม่จำเป็นเลยที่ต้องมีวัคซีนทางเลือก ถ้าวัคซีนหลักยังไม่พอ แล้วมีวัคซีนทางเลือก เรากำลังสร้างชนชั้น อภิสิทธิ์ชนขั้นมาในประเทศนี้ซึ่งรัฐบาลไม่ควรทำ” นายสาทิตย์กล่าว

งบฯล่าช้า เร่งทีหลังตอนปัญหาบานปลาย

ต่อจากนั้น เวลา 12.40 น. น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า จากวันแรกที่ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มาจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ตนไปขอข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง เป็นระยะเวลา 1 ปีพอดี ซึ่งระยะเวลา 1 ปีนี้ เราผ่านเหตุการณ์โควิดระลอกที่ 3 แต่ตัวเลขที่กรมบัญชีกลางประกาศออกมาถึงการใช้งบฯพ.ร.ก.ในส่วนของงบฯสาธารณสุขจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทนั้น กลับพบว่ามีวงเงินที่ตั้งเพื่อขออนุมัติเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 57% ของวงเงินดังกล่าว โดยผลของการเบิกใช้จ่ายจริงมีเพียง 7,000 ล้านบาท

น.ส.วทันยากล่าวว่า เมื่อไปดูในรายละเอียด งบฯที่ถูกจัดสรรไปใช้ในเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนโดยเฉพาะ กลับพบว่ามีเพียง 2.7 พันล้านบาท หรือ 6% ของเม็ดเงินทั้งหมด จากวงเงินด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ประชาชนและรัฐสภาแห่งนี้หวังให้กระทรวงสาธารณสุขมีอาวุธไปต่อสู้กับโรคร้ายให้เราทุกคน แต่เม็ดเงินที่จะต้องนำไปใช้กับวัคซีน แต่กลับถูกนำมาใช้เพียง 6% เท่านั้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีการใช้เงินในการจัดซื้อวัคซีนกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท สิงคโปร์ใช้เงินจัดซื้อวัคซีนกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาโควิดคือการเตรียมเครื่องมือ ความพร้อมทางการแพทญ์ และระบบโครงสร้างสาธารณสุขที่จะกระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็วที่สุดเมื่อวัคซีนมาถึง แต่ในโครงการเหล่านี้ที่ขออนุมัติกลับมีเม็ดเงินเพียง 6000 ล้านบาท หรือ 13% ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทด้านสาธารณสุข

น.ส.วทันยากล่าวอีกว่า ล่าสุด วันที่ 8 มิถุนายน ครม.ได้อนุมัติโครงกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบฯกลุ่มสาธารณสุขโดยตรง แต่ที่น่าแปลกใจคือวงเงิน 4.5 หมื่นล้านจากวันที่ 5 พฤษภาคม ยังเหลือเม็ดเงินอีก 1.9 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน) เหลือเงิน 236 ล้านบาท หรือให้เงินไปแล้ว 99% คำถามคือในช่วงเวลากว่า 393 วันที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เตรียมความพร้อมให้กับประชาชนไทยไว้อย่างไร จึงใช้เม็ดเงินเพียง 57% ของเม็ดเงิน 4.5 หมื่นล้าน ขณะที่ 33 วัน หลังจากที่เกิดปัญหากลับสามารถมีโครงการขออนุมัติได้ถึง 1.9 ล้านบาท

“ข้อเท็จจริงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการใช้งบฯที่ล่าช้า และมาเร่งเอาทีหลังในวันที่สถานการณ์ลุกลามบานปลาย แสดงให้เห็นว่าในการทำงานไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า การวางแผนการทำงานที่ไม่มีการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ จนเป็นสาเหตุให้คนไทยทุกคนต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง

“ถ้าวันนั้นเราทำงานเชิงรุก การมีอาวุธถึง 4.5 หมื่นล้านบาทตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 63 จะทำให้เรามีเงินจัดซื้อวัคซีนทันต่อการสู้กับโควิด จะมีการเงินไปสร้างโรงพยาลสนาม และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วย ดังนั้น การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทในวันนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเงินจำนวน 3 หมื่นล้านบาทที่จะถูกจัดสรรเพื่อใช้ในด้านสาธาณสุขอีกครั้งหนึ่ง คณะทำงานจะวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ ไม่ประมาท เพราะสิ่งที่สูญเสียไปนอกจากจะเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจมหาศาล ยังมีผู้ที่ต้องสูญเสียชีวิตที่อาจจะเป็นคนที่รักของใครสักคนด้วย” น.ส.วทันยากล่าว