‘วรภพ’ จี้รัฐจริงใจ เยียวยาธุรกิจรายย่อย หลัง “ฟู้ดแพนด้า” เผยร้านอาหาร 2.5 หมื่นรายปิดตัว

จงใจปล่อยเจ๊งหรือเปิดทางทุนใหญ่กินรวบ ? ‘วรภพ’ กังขามาตรการรัฐหลัง ‘ฟู้ดแพนด้า’ ประกาศร้านอาหาร 25,000 รายปิดตัว จี้ ภาครัฐแสดงความจริงใจเยียวยาผู้ประกอบการเร่งด่วน เเนะหนุนตรงทดแทนรายได้ร้านอาหาร พยุงการจ้างงานให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 โดยระบุว่า จากกรณีผู้บริหารบริษัทฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) ชี้แจงล่าสุดว่า มีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มต้องปิดตัวเพราะพิษ Covid-19 ทั้งชั่วคราวและถาวร ถึง 25,000 ราย หากเฉลี่ยร้านอาหารจ้างงานกัน 3 คน เท่ากับว่ามีคนตกงานไปแล้ว 75,000 ซึ่งในประเด็นนี้ หากไปคุยกับผู้ประกอบการรายย่อย ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การระบาดรอบที่ 3 หนักที่สุดและสภาวะการระบาดก็ยังดูไม่มีที่ท่าว่าจะสิ้นสุด
.
“ตั้งแต่ระบาดรอบแรกจนถึงรอบสาม ปีกว่าแล้วที่รัฐบาลไม่เคยเหลียวแล ธุรกิจของรายย่อยเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบเต็มๆจากการลดลงการเดินทางและต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่พวกเขาเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐเลย มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs ที่ไม่เคยมีสินเชื่อมาก่อน เข้าถึงได้เพียง 81 ราย วงเงินรวมปล่อยไปได้เพียง 20,839 ล้านบาท เพียง 8% จาก วงเงิน 250,000 ล้านบาท มีแววว่าจะซ้ำรอยมาตรการ Soft Loan เหมือนปีที่แล้ว ที่คนต้องการกู้ไม่ได้ คนกู้ได้ไม่ใช่คนที่ต้องการ ความช่วยเหลือจากรัฐในตอนนี้ควรจะเป็นมาตรการเยียวยาทางตรงไปที่ร้านอาหารเพื่อทดแทนรายได้และพยุงการจ้างงานของลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง เพราะรอบนี้ชัดเจนว่า มาตรการของรัฐกระทบกิจการ ร้านอาหารโดยตรง รวมถึงร้านเหล้า ร้านนวดสปา หรือผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ถูกคำสั่งปิดด้วย”

วรภพ กล่าวต่อไปว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น SMEs ที่รายได้หายไปมากกว่า 50% ของเดือนเดียวกันเทียบกับปีก่อนที่จะมีการระบาด SMEs สามารถไปขอเงินเยียวยาชดเชยรายได้ที่หายไปได้จากรัฐบาลได้เลย โดยมีวงเงินสูงสุดให้ ประมาณ 6 แสนบาท ขณะที่สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน หลังรับตำแหล่งสองเดือน ออกมาตรการมาว่า หากธุรกิจร้านอาหาร หรือ ผับ บาร์ ร้านเหล้า มีรายได้ที่หายไปจากโควิด สามารถขอเงินเยียวยาชดเชยรายได้ได้ โดยวงเงินสูงสุดที่ร้านอาหารจะได้รับจากการเยียวยาคือ ประมาณ 320 ล้านบาท
.
“นี่คือวิธีคิดของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของชีวิตผู้ประกอบการรายย่อยหรือคนตัวเล็กที่แสดงถึงความจริงใจที่อยากให้ร้านอาหารรอดจากวิกฤตนี้ไปได้เยอะที่สุด ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรมแบบรัฐบาลไทย คงต้องเรียกร้องว่า พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ต้องออกมาตอบรับปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อยว่าจะมีมาตรการเยียวยา อุดหนุนรายได้ทางตรงถ้วนหน้าให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเหล่านี้อย่างไรบ้าง หรือรัฐบาลตั้งใจจะปล่อยให้รายย่อยจะเจ๊งกันถ้วนหน้า ให้เหลือแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ให้กินรวบเศรษฐกิจโดยรายย่อยได้แต่มองธุรกิจของตัวเองพังไปต่อหน้าต่อตาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้”