“จาตุรนต์” แนะหนทางเพิ่มรายได้ จี้เปลี่ยนแนวทางรีบหาวัคซีนให้เร็ว ก่อนศก.ทรุดหนัก-ฟื้นช้า

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ว่า

เราอยู่กับการที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก แล้วต้องเยียวยามานานเกินไป พอเศรษฐกิจทำท่าจะฟื้นขึ้นก็กลับมาเจอโควิดรอบ 3 โจทย์เวลานี้จึงต้องก้าวข้ามการเยียวยาเป็นหลัก มาเป็นการสร้างรายได้ สร้างโอกาสทำมาค้าขาย ให้การท่องเที่ยวกลับมามีชีวิต จนกระทั่งรัฐมีรายได้มากขึ้น พอที่จะมีแพ็กเกจขนาดใหญ่ในการฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประเทศต่างๆที่เขาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็ว ในช่วงล็อกดาวน์หรือปิดกิจการจะใช้มาตรการเยียวยาอย่างเพียงพอ และพอเริ่มเปิดกิจการได้ก็กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณหรือรายจ่ายภาครัฐจำนวนมาก ที่เป็นแพ็กเกจขนาดใหญ่มาก ซึ่งเทียบกับประเทศไทยแล้ว เราใช้งบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเทียบเป็นสัดส่วนต่อ GDP น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ หลายเท่า

เมื่อมองไปที่ 5 แสนล้านที่กำลังจะกู้เพิ่ม ปรากฏว่าส่วนใหญ่ใช้เพื่อการเยียวยาเท่านั้น

ที่สำคัญตอนนี้เรายังมีข้อจำกัดด้านวินัยการเงินการคลัง เพราะรายได้ของประเทศต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ และวันข้างหน้าก็จะต่ำกว่าที่ประมาณการอีก ทำให้เราไม่สามารถใช้เงินมากๆ การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงจะมีผลน้อยมาก…

ดังนั้นเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อเพิ่มรายได้?

 

1. ส่งเสริมให้การส่งออกเติบโตมากขึ้นและต่อเนื่อง

ในระยะหลังนี้พบว่าการส่งออกเติบโตขึ้นเพราะว่าประเทศต่างๆเขากลับมาผลิตจึงต้องการสินค้าจากประเทศไทย ดังนั้นเราต้องหาตลาดใหม่ๆ และทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น

รวมถึงดูว่าการผลิตเพื่อการส่งออกกำลังเจอกับปัญหาอุปสรรคอะไรหรือไม่? เช่น เรื่องแรงงานที่ขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ยังมีปัญหาในการจัดการ จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การส่งออกสามารถเติบโตต่อเนื่องไปได้

 

2. ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ในหลายปีมานี้การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยน้อยมาก ถ้าเราจะฟื้นเศรษฐกิจในรอบนี้จำเป็นต้องดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศให้มากขึ้นให้ได้ โดยการสร้างความน่าเชื่อถือในปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

●︎ ระบบกฎหมายและการแก้ปัญหาการคอรัปชั่นต้องทำอย่างจริงจัง

●︎ โครงสร้างพื้นฐานซึ่งเราหยุดชะงักมาในรอบ 5 – 7 ปีนี้ต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ

●︎ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ที่เป็นแรงงานที่มีอยู่แล้วและแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบ ซึ่งขณะนี้การพัฒนาทักษะต่างๆก็หยุดชะงักในระหว่างมีการแพร่ระบาดของโควิด

 

3. ฟื้นการลงทุนในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวด้วยวัคซีน

ขณะนี้ผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายสายป่านจะหมดแล้ว ทั้งลดการจ้างงานลง และกำลังจะต้องปิดกิจการกันไปมากกว่า 20,000แห่ง อย่างแรกแรกจึงต้องส่งเสริมให้พวกเขาอยู่ได้ยาวๆ อย่าให้ล้มกันไปมากๆ แต่การจะทำให้เกิดการลงทุนในประเทศ ทำมาค้าขาย หรือท่องเที่ยวเป็นปกติได้ หนีไม่พ้นเรื่องวัคซีน

จึงต้องจัดลำดับการกระจายวัคซีนใหม่ นอกจากบุคลากรทางสาธารณสุข, ผู้สูงอายุ, และผู้มีโรคประจำตัว ยังต้องรวมบุคลากรด้านหน้าในภาคบริการต่างๆไปด้วย เพื่อทำให้ธุรกิจหลายๆอย่างเปิดได้

ที่สำคัญต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการจัดหาและกระจายวัคซีน ไม่ใช่เวลายืดไปเป็นถึงสิ้นปีอย่างที่ทำกันอยู่ ต้องรีบระดมวัคซีนเข้ามาและฉีดให้ทั่วถึงรวดเร็วที่สุด ทำให้ธุรกิจต่างๆกลับมาได้ คนทำมาหากินกลับมาได้ เกิดการสร้างรายได้ไปพร้อมๆกันทั้งเศรษฐกิจ

ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่โดยต้องเยียวยาที่จำเป็นและทำให้เกิดการสร้างรายได้ เพื่อรัฐสามารถสร้างแพ็กเกจขนาดใหญ่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต้องอย่าลืมว่าเศรษฐกิจประเทศไทยก่อนโควิด เราเติบโตช้าที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว เมื่อมาเจอโควิดเราก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่น

ถ้าเราพลาดในช่วงนี้อีก เศรษฐกิจไทยจะถดถอยหนักและกว่าจะฟื้นตัวจะใช้เวลายาวนานมาก

ชมคลิปได้ ที่นี่