แอลจีบีทีเผชิญศึกหลายด้าน ‘ตกงาน-สมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน’

แอลจีบีทีเผชิญศึกหลายด้าน ‘ตกงาน-สมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน’

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศวิถี หรือัตลักษณ์ทางเพศ แห่งสหประชาชาติ กล่าวในการบรรยายเรื่อง การผลักดันสิทธิ LGBTQI  (ความหลากหลายทางเพศ) ในระดับสากลและสถานการณ์ในประเทศไทย : มุมมองด้านกฎหมาย จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า ว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคนหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีทีไอ ที่ชาวแอลจีบีทีกำลังเผชิญกับการถูกเลิกจ้าง ความยากจน โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์และการเทกฮอร์โมน

เนื่องจากโรงพยาบาลโฟกัสการให้บริการโควิด-19 ในสถานการณ์เช่นนี้ยังพบทิศทางของกฎหมายที่เกี่ยวกับเพศ ถอยหลังไปอีก เช่น ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ….ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่ถูกภาคเอ็นจีโอไม่เห็นด้วยอย่างมาก ทราบว่าถูกเด้งกลับมาที่กระทรวงยุติธรรมผู้นำเสนอกฎหมาย ส่วนประเด็นสมรสเท่าเทียม ที่เสนอให้แก้ไข ป.แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 นั้น พบว่าในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก เพราะเสนอโดยฝ่ายค้าน แม้จะเป็นร่างแก้ไขกฎหมายที่หลายคนเห็นด้วยก็ตาม ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย ไม่อยากให้นำมาเป็นเรื่องการเมือง

ศ.วิทิตกล่าวอีกว่า แต่มีอีกหนึ่งร่างกฎหมายที่เป็นความหวัง ค้างคามา 10 กว่าปี ซึ่งผมอยากเห็นและเรียกร้องคือ ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ที่ให้คนข้ามสามารถสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพได้ อยากให้ผลักดันร่างกฎหมายนี้ด้วยใช้แนวทางว่า ไม่บังคับให้ผ่าตัดแปลงเพศ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสภาพจิตใจ

ตามทิศทางของสหประชาชาติ ที่ให้มีกฎหมายรับรองเพศสภาพ โดยให้เปลี่ยนเอกสารราชการที่รับรองเพศสภาพได้ เพียงคนผู้นั้นยืนยัน ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่ อย่างประเทศที่ใจกว้างๆ เช่น มอลตา ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา ที่ไม่บังคับผ่าตัด นอกจากอยากผ่าตัดเอง และเป็นไปตามศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ที่สั่งให้เคารพการตัดสินใจ ไม่ให้บังคับผ่าตัดอวัยวะ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ในประเทศไทยอยู่ที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกำลังถกเถียงอยู่ว่า ต้องผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่