ส.อ.ท.โพลมองโควิดซัดเอสเอ็มอีโคม่า หวังเงินกู้ 5 แสนล้าน ฟื้นเข้าภาวะปกติกลางปี 65

ส.อ.ท.โพลมองโควิดซัดเอสเอ็มอีพินาศ หวังเงินกู้ 5 แสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติกลางปี’65

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ส.อ.ท.โพล (FTI Poll) ครั้งที่ 6 ในเดือนพ.ค. 2564 เกี่ยวกับ “มาตรการเยียวยาแบบไหนถูกใจ SME” จากผู้บริหาร 170 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าส่วนใหญ่ 89.4% มองว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ มากกว่าการเมื่อต้นปี 2563 เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ และการขาดสภาพคล่องทางการเงิน รองลงมา 5.3% มองว่าได้รับผล กระทบเทียบเท่ากับปี 2563 และ 4.1% มองว่ากระทบน้อยกว่าปี 2563

ในส่วนของมุมมองเรื่องผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. 91.2% มีความเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงจากการติดเชื้อของแรงงานในสถานประกอบการ รองลงมา 74.1% เป็นเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจจากการหยุดกิจการ และ 67.1% เรื่องความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง รวมถึงการชะลอการรับสินค้า

ส่วนกรณีที่ภาครัฐเตรียมจะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 นั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. 74.1% เห็นควรนำไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รองลงมา 70.6% เป็นการช่วยเหลือ เยียวยาให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และ 65.9% แก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

“ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังประเมินแผนการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่ง 37.1% คาดว่าจะสามารถช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2565 รองลงมา 23.5% เป็นช่วงปลายปี 2565 อีก 21.8% มองว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 17.6% คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2564”

โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. 59.4% ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบการ เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30% รองลงมา 55.3% ต้องการให้ลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการและค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า พื้นที่เช่าโรงงาน 50% โดยผู้ให้เช่าสามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไปได้ และ 53.5% ให้ขยายระยะเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และเร่งคืนเงินภาษีแวตให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ส่งออก ภายใน 15 วัน และการอนุญาตให้นิติบุคคลที่เป็นเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่ามาตรการเยียวที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของเอสเอ็มอีได้ 3 อันดับแรก คือ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่น คนละครึ่งเฟส 3, เราชนะ, ม.33, ขยายวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นต้น 71.2% รองลงมาเป็นมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือฝั่งละ 2.5% เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็น 64.7% และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 คิดเป็น 61.8%