‘จิราพร’ ชี้ งบฯปี 65 มีความเสี่ยงทางการคลัง แนะปฏิรูปโครงสร้าง สร้างฐานรายได้ใหม่

‘จิราพร’ ชี้ งบ 65 มีความเสี่ยงทางการคลัง แนะปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณ ลดรายจ่าย สร้างฐานรายได้ใหม่

เมื่อวานนี้ (2 มิถุนายน 64) จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระที่ 1 ว่า เป็นการจัดงบประมาณที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้รู้สึกสะทกสะท้านกับวิกฤตของประเทศ และยังไม่รู้ถึงสถานการณ์ความเสี่ยงทางการคลังที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งในงบประมาณจำนวน 3.1 ล้านล้านบาท มีจ่ายประจำสูงถึง 76.1% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมด และมีแนวโน้มที่รายจ่ายประจำนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปเบียดงบลงทุน สถานการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ รัฐบาลต้องกู้มากกว่างบลงทุน นั่นหมายความว่า เงินกู้ส่วนหนึ่งนั้น ถูกกู้มาเพื่อจ่ายงบประจำ ซึ่งส่วนใหญ่คือเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการ

จิราพรกล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ในการจัดการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณประเทศใหม่เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น อัตรานายพลในกองทัพซึ่งมีมากเกินความจำเป็น และต้องเร่งสร้างฐานรายได้เพิ่มในอนาคต ซึ่งเป็นฐานรายได้ใหม่ที่เป็นบริบทของประเทศไทยไม่ใช่เพียงการเป็นฐานรับจ้างผลิต ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ของไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70% แต่การส่งออก 10 อันดับแรกของไทย มีอย่างน้อย 7-8 รายการในทุกๆ ปี เป็นสินค้าที่มีบริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของ สินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร กลับแทบไม่มีที่ยืนในรายการสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทยเลย ที่ผ่านมาในกลุ่มบริษัทส่งออกสินค้าจากประเทศไทย 50 บริษัทแรก พบว่ากว่า 80% เป็นของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งในปี 2562-2563 GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 15-16 ล้านล้านบาท แต่กลับสามารถจัดเก็บภาษีได้เฉลี่ยเพียง 15% ของ GDP ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก นั่นหมายความว่า การส่งออกจากประเทศไทยที่กินสัดส่วนถึง 70% ของ GDP ประเทศนั้น แทบจัดเก็บภาษีไม่ได้เลย

ทั้งนี้ งบประมาณที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ใช้ไปกว่า 20.8 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้เพื่อปรับโครงสร้างประเทศให้รองรับสถานการณ์ภายในประเทศและสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนไป แต่ยังเป็นการใช้งบประมาณส่วนใหญ่เพื่อรอคอยการลงทุนแบบเดิมเหมือน 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 65 ก้อนนี้เพื่อทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็ง และทำให้สินค้าไทยที่มีศักยภาพได้รับการยกระดับขีดความสามารถจนกลายเป็นสินค้าส่งออกหลัก มีโอกาสขึ้นแท่นเป็นสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของประเทศ แทนที่จะเป็นสินค้าของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเมื่อไหร่บริษัทเหล่านั้นย้ายฐานการผลิต ประเทศไทยก็จะประสบปัญหาทันที

“รัฐบาลเคยบอกว่าจะชูอุตสาหกรรมภาคการเกษตร ผลักดันสู่ตลาดโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในการสร้างฐานรายได้เพิ่ม แต่การจัดสรรงบประมาณไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปรากฏว่าแม้เอางบประมาณทั้ง 4 กระทรวงรวมกันแล้วยังได้น้อยกว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียวเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงกลาโหมยังเป็นกระทรวง/หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรกของปีงบประมาณ 2565 อีกด้วย สรุปแล้วงบประมาณที่จะผลักดันการส่งออกสินค้าของไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ได้รับการจัดสรรน้อยกว่างบประมาณสำหรับการนำเข้าอาวุธยุธโธปกรณ์เสียอีก” จิราพรกล่าว