เปิดแผนวัคซีนโควิดไทย ปี’ 64 ครบ 100 ล้านโดส สธ.ยันตลอด มิ.ย.กระจาย รพ.5-6 ล้านโดส

เปิดแผนวัคซีนโควิดไทย ปี’ 64 ครบ 100 ล้านโดส สธ.ยันตลอด มิ.ย.กระจาย รพ.5-6 ล้านโดส

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ในการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ บรรยายเรื่อง การกระจายวัคซีนในประเทศไทย โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย นั้น

นพ.นคร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย สถาบันวัคซีนฯ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกันจัดหาวัคซีนซิโนแวค โดยกระจายไปตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา และมีการเจรจาสั่งซื้อเพิ่มเติมต่อไปอีกตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ในวันนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก็ได้ส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้น จะมีวัคซีนแอสตร้าฯ ทยอยเข้ามา และกระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ ตามแผน

นพ.นคร กล่าวว่า วัคซีนแอสตร้าฯ ที่สั่งซื้อไว้ราว 61 ล้านโดส ขึ้นอยู่กับบริษัท แอสตร้าฯ จะจัดการส่งมอบให้ แต่เชื่อว่าเกือบทั้งหมดมาจากไซต์การผลิตในประเทศไทย เพราะข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับแอสตร้าฯ ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อความยืดหยุ่นในการรับวัคซีนจากทุกแหล่งผลิตของบริษัท แอสตร้าฯ เพราะเราเจาะจงจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ขาดความยืดหยุ่น ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนก็จะไม่เป็นผลดี

นพ.นคร กล่าวว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนชนิดอื่นๆ ตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข (สธ.) ที่หารือร่วมกับคณะกรรมการวิชาการ สธ.เพื่อจัดหาวัคซีนในเป้าหมายปี 2564 รวม 100 ล้านโดส ขณะนี้จัดหาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ วัคซีนซิโนแวค ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม และจะมีเป้าหมายอีก 10-15 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยส่งมอบเดือนละ 2-3 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

นพ.นคร กล่าวว่า ขณะที่วัคซีนแอสตร้าฯ อีก 61 ล้านโดส ที่จะทยอยส่งมอบเช่นกัน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ กับ วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนเดียวกันคือ การเจรจาเงื่อนไขสัญญา แต่จำนวนที่สั่งซื้อวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้ผลิตจะจัดหาวัคซีนให้ได้

“ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เราอยากไป แต่เป็นตัวเลขมากที่สุดที่เขาจะจัดการให้เราได้ในปี 2564 โดยไฟเซอร์ จะสามารถส่งให้เราได้ในไตรมาส 3 ราว 20 ล้านโดส และ จอห์นสันฯ จะส่งให้เราช่วงปลายไตรมาส 3 หรือ 4 ราว 5 ล้านโดส ขณะนี้รวมที่เรามีวัคซีนแล้ว คือ วัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคอีก 6 ล้านโดสที่ส่งมอบแล้ว และที่จัดหาจากผู้ผลิตอื่น คือ วัคซีนซิโนแวค 15 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส วัคซีนจอห์นสันฯ อีก 5 ล้านโดส ดังนั้นปี 2564 ก็จะมีวัคซีนราวๆ 100 ล้านโดส” นพ.นคร กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลไทย คือ ให้คนไทย คนชาติต่างๆ ในประเทศเข้าถึงวัคซีนได้ ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เราก็ได้ฉีดวัคซีนกันมาเรื่อยๆ เพียงแต่วันที่ 7 มิถุนายนนี้ เป็นวันที่จะมีการเริ่มต้นฉีดจำนวนมากในทุกพื้นที่ ดังนั้น การเตรียมการสำหรับวันคิกออฟ สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเป็นที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนต่างจังหวัด จะเริ่มในโรงพยาบาล (รพ.) ประจำจังหวัด รพ.ประจำอำเภอ รพ.เอกชน และ รพ.รัฐในสังกัด ทั้งนี้ ในการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ที่ได้ทดสอบระบบตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 7 มิถุนายนนี้ ก็จะเริ่มในกลุ่มที่ 2 สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่จองคิวฉีดเข้ามาในระบบหมอพร้อมและแพลตฟอร์มอื่นๆ

นพ.โสภณ กล่าวว่า ประชาชนผู้ที่จองผ่านหมอพร้อม ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ จะได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเราได้รับการส่งมอบเป็นระยะ ก็จะมีการกระจายออกไปเป็นระยะเช่นกัน ดังนั้น กรุงเทพฯ ก็จะได้สัดส่วนที่สูงกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากจำนวนประชากรและการระบาดที่มากกว่า คาดว่าล็อตแรกจะส่งไปเกือบ 1 ล้านโดส จากทั้งแอส ตร้าฯ และซิโนแวค ดังนั้นใน 2 สัปดาห์แรก ประมาณ 5 แสนโดส

“การฉีดวัคซีนในวันดังกล่าว จะช่วยให้เราเห็นการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม ชัดเจนว่า มีกี่คนในวันดังกล่าว ซึ่งคาดว่า จะมีหลายแสนคนทั่วประเทศ พร้อมติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด มีทั้งที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับวีคซีนโดยตรง ทั้งนี้ ทุก รพ. ก็จะทยอยรับวัคซีนไปเตรียมการเพื่อเริ่มคิกออฟ โดยจะมีการนำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นระยะ” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า จำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจะได้รับจากบริษัทผู้ผลิต จะเป็นงวดๆ โดยในเดือนมิถุนายน จะแบ่งเป็น 4 งวด เฉพาะสัปดาห์นี้ วัคซีนแอสตร้า ได้รับแล้ว 2.4 แสนโดส และในช่วงท้ายสัปดาห์ จะได้รับราวๆ กว่า 1 ล้านโดส ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (3 มิถุนายน 2564) จะมีการส่งวัคซีนซิโนแวค อีก 7 แสนโดส ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์นี้ เราจะได้รับวัคซีนราว 2 ล้านโดส และตลอดเดือนมิถุนายน ได้รับจัดสรรเพิ่ม โดยจะมีการกระจายไป รพ.ต่างๆ 5-6 ล้านโดส ดังนั้น ทุกพื้นที่จะมีวัคซีนฉีดในเดือนมิถุนายนนี้

นพ.โสภณ กล่าวว่า การกระจายวัคซีนจะคำนึง 2 ส่วน คือ 1.ประโยชน์ในการป้องกันโรคในระดับบุคคล 2.การสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรในพื้นที่ระบาด เพื่อประโยชน์ของประชากรหลายคน ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อ ในพื้นที่ระบาดก็จะได้รับการจัดสรรวัคซีนที่สูง เพื่อป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด โดยคาดว่าประมาณ 4-6 เดือน ทุกพื้นที่จะได้รับวัคซีนครบทุกคน โดยจะเริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพื่อลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ ได้เริ่มดำเนินการในกลุ่มคณะทูต และครอบครัว เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ (ยูเอ็น) ที่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า และฉีดใน รพ.ที่กำหนด เบื้องต้นมี 3 แห่ง และจะเพิ่มเติมมากขึ้นในสัปดาห์หน้า สำหรับชาวต่างชาติทั่วไป ก็จะเริ่มลงทะเบียนเพื่อฉีดได้เช่นเดียวกับคนไทย โดยจะเริ่มใน 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถลงทะเบียนล่วงหน้า ได้ในเว็บไซต์ www.thailandIntervac.com

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีบทบาทในการสนับสนุนค่าบริหารจัดการฉีด ทั้งในการฉีดนอก รพ. ที่มีจำนวนมาก พร้อมจัดสรรงบประมาณดูแลอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ดังนั้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด สามารถแจ้งกับสถานบริการที่ไปฉีดได้ โดยไม่มีข้อกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจในการฉีดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ สปสช.จะมีอนุกรรมการพิจารณา ชดเชยอาการไม่พึงประสงค์หลังวรับวัคซีน ทำให้ประชาชนไม่ต้องรอจนถึงขั้นตอนสุดท้าย และต้องย้ำว่า วัคซีนที่ฉีดทั่วโลกในปัจจุบัน เป็นการฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงขอให้ประชาชนอย่ารีรอที่จะพบแพทย์

“การจ่ายค่าชดเชยนั้น สปสช. ไม่ได้ผูกกับประกันของบริษัทเอกชน ดังนั้น สำหรับคนไทย เราไม่ได้คำนึงว่า ผู้ที่มีประกันจากเอกชนแล้วเราจะละเลย เพราะทุกคนสามารถยื่นเรื่องได้เหมือนกันหมดทุกคน” นพ.จเด็จ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวที่ประเทศฟิลิปปินส์จะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ จากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ล่าช้าและน้อยกว่ากำหนด จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า คาดว่าจะเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์ สั่งซื้อวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าฯ ซึ่งเขาจะต้องจัดสรรวัคซีนตามไซต์การผลิตต่างๆ ดังนั้น การส่งล่าช้า จะเกี่ยวข้องกับบริษัท แอสตร้าฯ กับรัฐบาลประเทศนั้นๆ ตนไม่สามารถตอบแทนใครได้ ส่วนประเทศไทย ก็อยู่ระหว่างการส่งมอบเป็นรายสัปดาห์ เพื่อจัดสรรวัคซีนออกไป ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่างกรมควบคุมโรคกับบริษัท แอสตร้าฯ เพราะ เราไม่ห้ามการส่งออกวัคซีน แต่ต้องมีการหารือกัน บนพื้นฐานการจัดสรร โดย สธ.กับ แอสตร้าฯ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่ต้องเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน

“ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ต่างก็ไม่มีวัคซีนในคลังจำนวนเยอะๆ แล้วส่งทีเดียว แต่เป็นการผลิตไปส่งมอบไป ดังนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์จังหวะเวลา ทุกขั้นตอนมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพครบถ้วนและยาวกว่าที่คาดไว้ ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ ข่าวต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง แต่บริษัท แอสตร้าฯ ต้องเป็นผู้จัดการ ส่วนประเทศไทยก็รวบรวมจำนวน แล้วคุยกับแอสตร้าฯ ว่าจะส่งมอบให้เราแต่ละช่วง อย่างไรตามการผลิตของเขา เข้าใจว่าหลายคนรู้สึกคับข้องใจ แต่หากเข้าใจสถานการณ์ที่ผู้ผลิตไม่มีวัคซีนจำนวนมากรอส่ง แต่เป็นการผลิตไปส่งไป ดังนั้น การที่เรามีฐานการผลิตในประเทศ ก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่า อย่างไรก็ตามยังวัคซีนในประเทศ” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าว