คบต.จ่อชง ครม.ผ่อนผัน-ยืดเวลาแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ในไทย 

คบต.จ่อชง ครม.ผ่อนผัน-ยืดเวลาแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ในปท.ไทย 

วันนี้ (2 มิ.ย.64) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน รับทราบข้อขัดข้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ และมีความห่วงใยผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง/สถานประกอบการ และการทำงานแรงงานต่างด้าว ทั้งสิ้น 2,150,663 คน และเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 4/2564 จึงมีมติเห็นชอบแนวทางแก้ไขข้อขัดข้องฯ เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

1.ขยายระยะเวลาการตรวจคัดกรองโควิด-19 ของคนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยให้ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์ ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 พร้อมทำทำประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาตทำงาน (ยื่นบต.48) กับกรมการจัดหางาน (กกจ.) ผ่านระบบออนไลน์ ภายใน วันที่ 13 กันยายน 2564 สำหรับผลการตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ในส่วนคนต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง ให้ขยายระยะเวลา การจัดทำ ทร.38/1 ไปถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

2.ขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงาน ที่การผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศใกล้จะสิ้นสุด แบ่งเป็น 1.กลุ่มคนต่างด้าวตามมติ ครม. วันที่ 20 สิงหาคม 2562 และมติ ครม. วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และอำนาจตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้เป็นการชั่วคราว ถึง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยที่ต้องยื่นขอก่อนการอนุญาติทำงานตามสิทธิปัจุบันของแต่ละกลุ่มสิ้นสุด ทั้งนี้ กรณีหนังสือเดินทาง/เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุ คนต่างด้าวต้องมีเอกสารฉบับใหม่ภายใน วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ย้ายตราประทับการอนุญาตให้อยู่ในประเทศต่อไป 2.กลุ่มคนต่างด้าวตามมติ ครม. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่หนังสือเดินทาง/เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึง วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ และตรวจลงตราวีซ่ากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

3.แก้ไขข้อขัดข้องกรณีแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยู กลุ่มคนต่างด้าวตามมติ ครม. วันที่ 20 สิงาคม 2562 มติครม. วันที่ 4 สิงหาคม 2563 มติ ครม. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 และมติ ครม. วันที่ 29 ธันวาคม 2563 (เฉพาะที่อนุมัติ บต.48 แล้ว) ที่ออกจากนายจ้างเดิมและไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ทัน แบ่งเป็น 1.กลุ่มที่การอยู่สิ้นสุดแล้ว (วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงก่อนวันที่ ครม.มีมติ )ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และอำนาจตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ผ่อนผันให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และ 2.กลุ่มที่การอยู่ยังไม่สิ้นสุด (วันที่ ครม.มีมติ – วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566) ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ให้ปรับระยะเวลาหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ. กล่าวว่า คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานในประเทศไทย ที่การผ่อนผันดังกล่าวใกล้จะสิ้นสุด มีจำนวนถึง 2,150,663 คน แบ่งเป็น 1.กลุ่มคนต่างด้าวถือบัตรชมพู จำนวน 1,364,214 คน แยกตามมติ ครม. วันที่ 20 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,162,443 คน และตามมติ ครม. วันที่ 4 สิงหาคม 2563 จำนวน 201,771 คน 2.กลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามเอ็มโอยูซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี จำนวน 131,585 คน และ 3.กลุ่มคนต่างด้าวที่สิ้นสุดการให้อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตทำงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 จำนวน 654,864 คน   คบต.จึงจำเป็นต้องแก้ไขข้อขัดข้องนี้โดยเร็ว เพื่อให้การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของนายจ้าง/สถานประกอบการด้วย

“หากนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว มีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ” อธิบดี กกจ.กล่าว