อมรัตน์ จี้ปฏิรูปยุติธรรม ยกกรณีค้าแป้ง-บ้านพักหลวง ลั่นหลังสุดท้ายของประยุทธ์คือเรือนจำ

‘อมรัตน์’ บี้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นักโทษค้ายายังเป็น รมต. เหน็บงบซื้ออาวุธปราบม็อบไม่อั้น แต่งบบำบัดนักโทษกลับไม่เต็มบาท ลั่นบ้านหลวงหลังสุดท้าย ‘ประยุทธ์’ คือเรือนจำ

เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 1 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จากการศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 งบในส่วนของกระบวนการยุติธรรมถูกปรับลดลงประมาณ 2 พันล้านบาท มีเพียงงบประมาณของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศมาถึงจุดที่ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบอย่างเร่งด่วน

“ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ปีที่ 8 ของการรัฐประหาร การขอเวลาอีกไม่นาน คือการโกหกในตำนาน เกิดวิกฤติศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมขึ้นเรื่อยๆ เกิดวิกฤติศรัทธาต่อสถาบันตุลาการมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นานาชาติตั้งคำถามและประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ประชาชนออกมาแสดงความไม่เชื่อมั่น”

“แต่เรื่องที่รับไม่ได้จริงๆ และสร้างความอึดอัดทางการเมืองให้สังคมไทยมากที่สุดคือ คือการวินิจฉัยสถานสภาพรัฐมนตรีสีเทา ซึ่งเคยเป็นนักโทษคดียาเสพติดในต่างประเทศให้สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใน ครม.ประยุทธ์ เรื่องนี้ทำให้วิกฤติศรัทธากระบวนการยุติธรรมไทยถึงจุดสิ้นสุด”

นางอมรัตน์ อภิปรายต่อว่า การจะทำให้กระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือ คือต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องยอมลงทุนใส่เม็ดเงินให้มากขึ้น และรัฐบาลต้องแสดงความจริงใจอุดรอยรั่วกระบวนการยุติธรรม โดยกองทุนยุติธรรมเป็นกองทุนที่ช่วยเหลือคนจน คนยากไร้ ปีนี้ถูกปรับลดงบอุดหนุนถึง 5 เท่าจาก 150 ล้านบาทเหลือเพียง 30 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ประสิทธิภาพก็ล่าช้า ทำให้คนยากไร้ต้องติดคุกฟรีนานนับเดือนกว่าจะได้ประกันตัวออกมา

“ส่วนงบเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ปีที่แล้วรัฐบาลจัดงบดูแลเรื่องการจัดการโควิดเพียง 5,300 บาทต่อเรือนจำเท่านั้น และน่าสะเทือนใจที่ผู้ต้องหาทางการเมืองถูกขังโดยไม่ได้สิทธิประกันตัว ขอให้หยุดสองมาตรฐานที่อีกฝ่ายถูกขังลืม อีกฝ่ายหนึ่งลืมขัง สะท้อนว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ การบริหารจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่ผิดพลาด เกิดจากการขาดวิสัยทัศน์ ไร้ฝีมือในการบริหารวิกฤติของชาติแต่อยากเป็นใหญ่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์”

นางอมรัตน์ อภิปรายอีกว่า รัฐบาลมีงบเพียงพอเสมอสำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ มีงบปราบปรามผู้ชุมนุมไม่อั้น แต่ไม่มีงบพอสำหรับเรือนจำและศาลให้ซื้อกำไลอีเอ็ม ส่วนงบพัฒนาบำบัดปรับปรุงพฤติกรรมนิสัยผู้ต้องขัง ที่จัดงบให้เพียง 93 ล้านบาทต่อนักโทษ 3 แสนคน หารแล้วได้แค่ 85 สตางค์ต่อวันต่อคน เป็นงบไม่เต็มบาท และส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ให้พระสงฆ์เข้ามาเทศน์ และในชั้นสอบสวนตำรวจก็ให้บอกว่าแนะนำว่าให้รับผิดไปก่อน เดี๋ยวค่อยไปสู้คดีทีหลัง การแนะนำแบบนี้ทำให้มีแพะรับบาปจำนวนมาก เหมือนที่ประชาชนถูกหลอกให้ไปรับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

นางอมรัตน์ อภิปรายต่อว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์กรณีบ้านหลวง ใช้น้ำไฟฟรี ผิดกฎหมาย ป.ป.ช.รับทรัพย์สินอื่นใดเกิน 3 พันบาท จนถึงตอนนี้ท่านก็ยังไม่ได้แก้ข้อกล่าวหา ไม่แสดงหลักฐานการเสียภาษี มาถึงวันนี้ตนจะพูดถึงบ้านหลวงหลังสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าท่านไม่ชิงออกนิรโทษกรรมให้ตัวเองเสียก่อน เรือนจำจะเป็นบ้านหลวงหลังสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์

“ดิฉันเรียกร้องให้ส่องแสงไฟเปลี่ยนมุมมองให้กระบวนการยุติธรรม เป็นกระบวนการยุติธรรมที่พึงประสงค์ หยุดข่มขู่คุกคามประชาชนถึงบ้าน ปฏิรูปให้มีมาตรฐานในการดำเนินคดี ปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม หยุดใช้ความยุติธรรมสองมาตรฐานแบบที่เป็นอยู่นี้ ที่อีกฝ่ายแค่หายใจแรงๆ ก็บอกว่าผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งแม้จะค้ายาเสพติดข้ามชาติ ก็คว้ามาเป็นรัฐมนตรีเพราะว่ามันคือแป้ง” นางอมรัตน์ ระบุ