อดีตรมช.คลัง อัด “ประยุทธ์” แจงงบฯปี 65 จงใจทำผิดกม.วินัยคลัง ห่วงหนี้ทะลุเพดาน

อดีตรมช.คลัง อัดเละ ‘บิ๊กตู่’ แจงงบปี 65 ยังไม่สมบูรณ์หรือจงใจทำผิด พิสิฐ ชี้ถ้าสภาอนุมัติเท่ากับเปิดช่องทำผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

วันที่ 1 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณารางพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วาระแรก เป็นวันที่สอง

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)และอดีตรมช.คลัง อภิปรายว่า ขณะนี้เรากำลังประสบกับภาวะวิกฤตงบประมาณ ตามกฏหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 ระบุชัดเกี่ยวกับการขาดดุล และงบลงทุน ซึ่งเราทำผิดข้อนี้ แม้จะบอกว่าได้แก้ไขแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบงบประมาณขณะนี้เข้าสู่จุดบอดที่จะมีปัญหากำลังชนเพดาน เพราะปัญหาเรื่องของโควิด ตนไม่ได้โทษรัฐบาล หรือมาตำหนิรัฐบาล เพียงแต่อยากให้เราดูแลระบบงบประมาณให้ดี จะได้เป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศ

“ผมเป็นห่วงมากที่นายกฯ ชี้แจงว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องงบลงทุน โดยการเพิ่มแหล่งลงทุน โดยเฉพาะการกู้เงินตามพ.ร.บ.หนี้ มากขึ้น ผมยืนยันว่านี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหางบประมาณ แต่จะทำให้ระบบงบประมาณยิ่งอ่อนแอลง การที่ท่านพยายามจะหลบค่าใช้จ่ายโดยไปใช้พ.ร.ก.กู้เงิน จะทำให้รัฐสภาไม่ได้ตรวจสอบ ประชาชนไม่ทราบ การประกาศใช้พ.ร.ก. แล้วนำงบไปใช้เลย จะทำให้ระบบงบประมาณเกิดความเสียหายมาก ยืนยันว่าพ.ร.ก.กู้เงิน ไม่ใช่หลักงบประมาณที่ดี” นายพิสิฐ กล่าว

นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า วิธีการที่ท่านน่าจะทำ ณ เวลานี้ ตนไม่ได้หมายถึงว่าต้องไปตัดรายจ่าย เพราะสถานการณ์ตอนนี้เราต้องช่วยประชาชน ช่วยเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่าย แต่เราต้องให้เวลา กฎหมายการเงินการคลังบอกแล้วว่ามีการให้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ที่เราจะต้องดูแลในด้านต่างๆ เพื่อให้โปร่งใส มีการตรวจสอบให้ระบบเป็นที่น่าเชื่อถือ

ส่วนในระยะสั้นตนเห็นด้วยที่รัฐบาลจะจัดงบดูแลเศรษฐกิจที่ขาดการใช้จ่าย ที่เศรษฐกิจกำลังฝืดเคือง และอยากเห็นคือ คนจัดสรรงบนำงบไปช่วยโควิดโดยตรง งบที่ยังไม่จำเป็นก็อาจรอก่อนได้ ที่สำคัญ ถ้าโควิดหายไป เราต้องกลับฟื้นมาได้ และนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลจะต้องกลับมาเป็นปกติ หลายประเทศไม่สามารถที่จะฟื้นระบบการคลังเป็นปกติได้ และเจอวิกฤตใหม่

ดังนั้นตนจึงอยากให้สังคยนาระบบงบประมาณใหม่ ทบทวนนว่าถูกต้องหรือไม่ที่บอกว่าการสร้างรั่ว สร้างป้ายขนาดใหญ่ สร้างถนนที่ไม่มีรถวิ่งเป็นการลงทุน สิ่งเหล่านี้ต้องทบทวน มิฉะนั้นเงินก็จะถูกใช้ไป สักแต่ว่าให้เป็นไปตามตัวชี้วัด

นายพิสิฐ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ระบบงบประมาณกำลังอยู่ในวิกฤต เพราะค่าใช้จ่ายด้านกำลังบวมขึ้น ทำให้เม็ดเงินที่จะใช้ลงทุนให้เกิดประโยชน์ด้อยลง โดยเฉพาะงบกลาง กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบสวัสดิการข้าราชการ จึงอยากให้เราแยกหมวดให้ชัดเจน เพื่อการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และฐานะการคลังและหนี้ของรัฐบาลกำลังจะเป็นตัวปัญหาใหญ่ เพราะเรื่องการใช้จ่ายโควิด ที่มีการกู้ 1 ล้านล้านบาท กับกู้ 5 แสนล้านบาท ประกอบกับรายได้ของรัฐบาลที่ตกต่ำ เพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง แม้เจ้าหน้าที่พยายามจะบอกว่าหนี้สาธารณะยังไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ และปั่นตัวเลขจีดีพี

จึงไม่อยากให้เราทำผิดกฎหมายโดยอนุมัติงบประมาณไป เพราะงบ ปี65 จะขาดดุลถึง 7 แสนล้านบาท ถ้ามีการเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังมีรายจ่าย ตนถือว่าจ่ายจ่าย 5 แสนล้านบาทที่รัฐเพิ่งประกาศปเพือ่แก้โควิด จะต้องเป็นตัวก่อหนี้อีกตัวหนึ่ง

ถ้าสภาอนุมัติงบปี 65 เท่ากับเปิดทางให้รัฐบาลทำผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีการระบุไว้ว่าการทำพ.ร.บ.วินัยการคลัง และพ.ร.บ.วินัยการคลัง ก็บอกว่าจะต้องดูแลเรื่องพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณที่ดี ในการจัดทำงบประมาณประจำปี แต่การแถลงของนายกฯ เมื่อวานนี้(31 พ.ค.)ยังมีความไม่สมบูรณ์ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นความจงใจทำผิดพ.ร.บ.หรือไม่”นายพิสิฐ กล่าว

นายพิสิฐ กล่าวว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังปี 61 มาตรา 10(1) ระบุชัดว่านายกฯต้องแถลงฐานะการคลัง แต่นายกฯแถลงเพียงพูดถึงตัวเลขหนี้ พูดถึงตัวเลขกี่ตัวที่ไม่ใช่ฐานะการคลัง และมาตรา 11 ในพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ต้องแถลงวิธีการหาเงิน แต่นายกฯไม่แถลง ดังนั้น จึงไม่อยากเห็นเราทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่นายกฯเซ็นต์เอง เราไม่แสดงฐานะการคลัง ไม่อธิบายหนี้ที่เสนอเพิ่มเติม ไม่แสดงวิธีการหาเงินชดเชยการขาดดุล ทั้งนี้ ก็เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้