ดรุณวรรณ รองโฆษก ปชป. แนะ ”รัฐ” คุยกันให้จบก่อนสื่อสาร หยุดสร้างความสับสน

1 มิถุนายน 2564 นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าจากกรณีที่เมื่อวานนี้ (31 พฤษภาคม 2564) คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้มีประกาศครั้งที่ 15/2564 มีมติให้ผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท มีผลวันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป ในส่วนของสถานประกอบการบางประเภทไม่พบคลัสเตอร์การระบาดแต่อย่างใด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ ภายใต้มาตรการของรัฐที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงเย็นของเมื่อวานนี้

แต่ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ศบค. ได้ออกมาประกาศให้ใช้ประกาศกรุงเทพมหานครขยายการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ตามประกาศฉบับที่ 29 ออกไปอีก 14 วัน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.64 เป็นต้นไป จากกรณีดังกล่าวได้สร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เกิดการตรวจสอบและพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการให้ข่าวในประเด็นเดียวกันแต่สื่อสารกันคนละเรื่อง

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อด้วยว่า ทุกวันนี้วิกฤตสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมก็มากพออยู่แล้ว จึงไม่ควรทำให้เกิดวิกฤตการสื่อสารขึ้นมาอีก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่การสื่อสารของภาครัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน พูดเรื่องเดียวกัน แต่ไปคนละทิศคนละทาง สร้างความสับสนให้ประชาชน และส่งผลต่อการดำเนินชีวิต รวมถึงการวางแผนในการประกอบธุรกิจด้วยเช่นกัน เพราะบางธุรกิจต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งคนและของ การให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการหลายคนที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้วจากสถานการณ์โควิด 19

การสื่อสารในภาะวิกฤต ด้วยการใช้ Single Message คือใช้ข้อความชุดเดียวกันในการแจ้งข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในกรณที่ต้องสื่อสารหลายหน่วยงานร่วมกัน ในประเด็นเดียวกัน เพื่อให้สื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน

“อยากให้ผู้เกี่ยวข้อง คุยกันมากขึ้น สื่อสารกันภายในมากขึ้น ก่อนสื่อสารออกมายังสาธารณะ เพราะการสื่อสารบางประเด็นส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง ต้องพิจารณาและทบทวนให้ดีก่อนสื่อสาร โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียที่สามารถเผยแพร่ออกไปได้รวดเร็ว การรีบสื่อสารในขณะที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน เพียงต้องการให้ได้พื้นทื่สื่อ แต่ไม่คุ้มกับความเสียหายที่จะตามมา”

นางดรุณวรรณ กล่าวเสริมในตอนท้ายด้วยว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นนักสื่อสาร การออกมานำเสนอความเห็นในครั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ส่วนตัวเอาใจช่วยทุกฝ่ายมาโดยตลอด และเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังทำงานอย่างหนัก ซึ่งก็มีโอกาสที่จะพบกับความผิดพลาดได้บ้าง แต่ไม่ควรเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพได้