โควิดเป็นเหตุ! WHO เตรียมปฏิรูปครั้งใหญ่ โลกประสานเสียงรับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

วันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา รอยเตอร์รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การกลางซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล ป้องกัน และอำนวยการแก้ไขวิกฤตด้านสาธารณสุขให้กับประชาคมโลก เตรียมเข้าสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ หลังได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีประจำปีของชาติสมาชิก

มติศึกษาข้อเสนอการปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่นี้ เกิดขึ้นหลังข้อครหาจากหลายฝ่ายถึงความล้มเหลวของ WHO ที่นำไปสู่การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 สร้างความย่อยยับสุดขั้วให้กับวิถีชีวิตของผู้คน มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 170 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 3.5 ล้านรายแล้วทั่วโลก

ดาวน์โหลดผลการศึกษา

บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเหล่าชาติสมาชิก WHO จำนวน 194 ประเทศ เห็นพ้องให้เดินหน้าศึกษาแผนปฏิรูปตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอิสระ เพื่อยกระดับความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคตของ WHO และชาติสมาชิก

แผนปฏิรูปดังกล่าวซึ่งได้รับการนำเสนอโดยสหภาพยุโรป หรืออียู และได้รับมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการบริหารที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีสาธารณสุขของ WHO ถือว่าเป็นพันธะกรณีผูกมัดต่อชาติสมาชิกทุกชาติต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปดังกล่าวอย่างแข็งขัน คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ WHO เพื่อขอฉันทามติจากนานาชาติอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้

การศึกษาแผนปฏิรูปดังกล่าวจะใช้เวลาหลายเดือน หลังจากนั้นบรรดารมว.สาธารณสุขของเหล่าชาติสมาชิกจะนัดประชุมกันในวันที่ 29 พ.ย.นี้ เพื่อหาข้อสรุปว่าจะให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อร่างสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่หรือไม่

นายไมค์ ไรอัน หัวหน้าแผนกสถานการณ์ฉุกเฉินของ WHO กล่าวแสดงความยินดีต่อความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ว่าสถานการณ์ปัจจุบันนั้นไวรัสกำลังได้เปรียบมนุษย์จากการที่ประชาคมโลกมีความโยงใยใกล้ชิดกัน ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่จำนวนมากอย่างเงียบๆ

โควิด
Reuters

นายไรอัน ระบุว่า มนุษยชาติจำเป็นต้องหันมาใช้ความโยงใยใกล้ชิดกันดังกล่าวให้เป็นข้อได้เปรียบต่อเชื้อก่อโรคเหล่านี้ด้วยการผนึกกำลังกันแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้

หนึ่งในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ประกอบด้วยนางเฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 37 ของนิวซีแลนด์ และนางเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ อดีตประธานาธิบดีหญิงของไลบีเรีย เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกการรับมือใหม่ที่ต้องมีความว่องไวมากกว่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าการระบาดครั้งต่อไปของโรคอุบัติใหม่จะต้องไม่สร้างความย่อยยับได้มากเท่ากับโควิด-19

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองตรงกันถึงความล้มเหลวของ WHO ในการบริหารรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 พร้อมเสนอให้มีการปฏิรูปเพิ่มอำนาจให้กับ WHO ในการส่งคณะสืบสวนลงพื้นที่การระบาด และเปิดเผยข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

ผู้เชี่ยวชาญยังเสนอให้มีการตั้งองคาพยพใหม่ขึ้นใน WHO เรียกว่า คณะมนตรีด้านภัยอนามัยโลก(Global Health Threats Council) ประกอบด้วยผู้นำจากชาติสมาชิกและเจ้าหน้าที่ระดับรัฐบาล เพื่อรับรองระดับการให้ความร่วมมือจากภาครัฐของแต่ละประเทศภาคี

นายบจอห์น คัมเมล รมว.สาธารณสุขเยอรมนี กล่าวว่า “โลกเผชิญหน้ากับไวรัสตัวนี้โดยไม่ทันตั้งตัว หากเกิดไวรัสใหม่ขึ้นมาแล้วระบาดอีกในวันพรุ่งนี้ สถานการณ์ก็จะเป็นเหมือนเดิม”

“การเห็นชอบต่อมติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการถอดบทเรียนที่เราได้จากวิกฤตรอบนี้ เพราะเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำให้แน่ใจว่าวิกฤตในลักษณะนี้จากโควิด-19 จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก” คัมเมล ระบุ