ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์! ธปท. เผยความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. ทุกหมวดใช้จ่ายดิ่งทรุด

“แบงก์ชาติ” เผยเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.ทรุดตัว เซ่นพิษโควิดระลอก 3 ทุบความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หดตัว 4.3% จากเดือนก่อนหน้า ทุกหมวดการใช้จ่ายดิ่ง เปิดข้อมูลจ้างงานใหม่ลดฮวบ คาดเดือน มิ.ย.เตรียมปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนายการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.2564 เริ่มได้รับผลกระทบโควิดระลอก 3 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย จากการแพร่ระบาดโควิดและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยหดตัวลง 4.3% จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดีมาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน เช่น โครงการเราชนะ แม้จ่ายเงินครบไปแล้วแต่ยังสามารถให้ใช้จ่ายเงินได้ในเดือน เม.ย.-พ.ค.

ส่วนถ้าไปดูการใช้จ่ายในภาคบริการ โดยดูดัชนีการผลิตภาคบริการมาสะท้อนการใช้จ่ายของเดือนนี้ จะเห็นว่าทั้งเรื่องภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ภัตตาคาร การขนส่งผู้โดยสาร หักหัวลงทั้งหมด ที่ยังไปได้คือการขนส่งสินค้า สะท้อนว่าอย่างไรก็ดีการจับจ่ายใช้จ่ายในส่วนของออนไลน์ยังเติบโตไปได้

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนหลักๆ ในเดือนนี้ จากข้อมูลการทำ social listening ที่คัดกรองคีย์เวิร์คที่เกี่ยวกับอาชีพอิสระ “เซ้งร้าน ลูกค้าหาย รับจ้างทั่วไป” เพื่อสะท้อนความรู้สึกดีขึ้นแย่ลง ซึ่งในภาพรวมเดือนนี้ปรับลดลงค่อนข้างมาก สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระได้รับผลกระทบมากพอสมควร

และถ้าไปดูการจ้างงานใหม่ จากข้อมูลกรมจัดหางานในเดือน เม.ย.64 เทียบเดือน มี.ค.64 .พบว่าในเดือน เม.ย.ความต้องการจ้างงานปรับลดลงค่อนข้างมากเหลือ 24,143 ราย จาก 60,357 รายในเดือน มี.ค.ซึ่งโดยปกติแล้วเดือนนี้เป็นเดือนที่มีวันทำงานน้อยตามฤดูกาล แต่ย้อนกลับไปดูปีก่อนๆ ปีนี้การจ้างงานลดน้อยลงมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นก็สะท้อนผลกระทบว่าหากแรงงานถูกเลิกจ้างจะยิ่งหางานได้ยากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นตัวแปรที่ต้องติดตามต่อเนื่อง

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนก็ปรับลดลง 3.1% จากเดือนก่อนหน้า ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ การนำเข้าสินค้าทุน และยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ซึ่งการลดลงสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ในเดือนนี้ปรับลดลงทั้งจากการแพร่ระบาดโควิด และหลายมาตรการหมดลงในช่วงเดือน มี.ค. ไม่ว่าจะเป็นโครงการ คนละครึ่งเฟส 2, การเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคปรับลดลง แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างยังปรับเพิ่มขึ้นจากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่

สำหรับบทบาทของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเดือนนี้การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีการหดตัวรายจ่ายลงทุน หลักๆ มาจากปีที่แล้วฐานสูง เพราะมีการเร่งเบิกจ่ายหลัง พ.ร.ก.งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ ส่วนรายจ่ายประจำยังขยายตัวได้เล็กน้อยจากเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ แต่ถ้ามองภาพการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมในเดือนนี้ถือว่ายังค่อนข้างดี

นอกจากนี้ภาคการส่งออกถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือนก่อน หลักๆโดยอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวส่งผลให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป

โดยถ้าดูดัชนีดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมแยกเป็นรายหมวด จะมีบางอุตสาหกรรมที่แย่ลง อาทิ ยานยนต์จากที่เร่งผลิตไปมากแล้วช่วงก่อนหน้า และเคมีภัณฑ์ ซึ่งได้รับปัจจัยลบชั่วคราว โดยปัจจัยที่เป็นบวกมากคือ ปิโตรเลียม ที่มีการกลับมาเปิดโรงกลั่น และวัสดุก่อสร้าง และชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้นการฟื้นตัวของภาคการส่งออกช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่รวมทองคำก็เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางอื่น ๆ ทรงตัวในระดับสูงสอดคล้องกับการส่งออกที่ฟื้นตัว
ส่วนภาคบริการได้รับผลกระทบโควิด ระลอก 3 โดยเฉพาะการเดินทางของนักท่องเที่ยวคนไทยที่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เม.ย.64 ได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ แต่ผลผลิตสินค้าเกษตรจากที่เคยลดลงไปมากจากที่ผลผลิตข้าวหายไป ในเดือนนี้เริ่มมีปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้พืชผลทางการเกษตรให้ผลผลิตมากขึ้น ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง และผลไม้ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไปได้ต่อเนื่อง

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนนี้ขาดดุลเล็กน้อยที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขาดทุนมากกว่าเดือนก่อน หลักๆ มาจากดุลการค้าที่ในเดือนนี้เกินดุลลดลงเพราะการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงกว่า นอกจากนี้ดุลบริการรายได้และเงินโอนติดลบ หลักๆ มาจากดุลท่องเที่ยวที่ยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวน้อย รวมทั้งค่าขนส่งที่อยู่ระดับสูง

สำหรับค่าเงินบาทในเดือนนี้อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบคู่ค้าคู่แข่ง มาจากการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 และการไหลออกเงินส่งคืนเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ และการขายหลักทรัพย์ต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ โดยในเดือน พ.ค.64 ก็ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเทียบเดือน เม.ย. จากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะเพิ่มความเข็มงวดนโยบายการเงิน แต่เมื่อไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็มั่นใจออกไปลงทุนประเทศต่างๆ มากขึ้น แต่ไทยยังไม่ได้อานิสงส์จากการระบาดโควิดระลอก 3 เพราะฉะนั้นทำให้เงินบาทแข็งค่าไม่มากเทียบกับประเทศอื่น

ทั้งนี้ถ้ามองเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในเดือนนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นมากอยู่ที่ 3.4% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 0.8% เนื่องจากมีผลจากฐานต่ำปีก่อน เนื่องจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาพลังงานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน แต่คาดว่าจะเป็นผลชั่วคราว เพราะในระยะต่อไปของมาตรการที่จะเข้ามาบรรเทาภาระค่าครองชีพ ซึ่งอาจจะมีเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้อง ธปท.จับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด คือการขาดแคลนปัจจัยการผลิต ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการส่งออกการผลิตหรือแม้กระทั่งการก่อสร้างในระยะข้างหน้า อาทิ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพราะมีตู้กระจุกตัวอยู่ในบางประเทศ โดยผลกระทบที่เห็นในกลุ่มสินค้ามาร์จิ้นต่ำๆ พวกสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม หรืออาหารแปรรูป และบางกลุ่มพวกชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ยางพาราอาจจะได้รับผลกระทบ เพราะผู้ซื้อบางรายชะลอคำสั่งซื้อออกไป และผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิต ทั้งในเรื่องราคาสินค้าที่แพงขึ้น และการที่ไม่สามารถหาตู้ได้

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน พ.ค.64 กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง มาตรการคุมเข้มยังคงมีอยู่ อาจจะมีผ่อนคลายเป็นระยะๆ แต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม นางสาวชญาวดี กล่าวต่อว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ระลอก 3 ค่อนข้างกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเดือน มิ.ย.64 ทาง ธปท. จะมีการปรับตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจของไทยใหม่ โดยเป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น