ท้องถิ่นซื้อวัคซีน : ‘วิษณุ’ เตือนระวังถูก สตง.สอบใช้เงินผิดประเภท นักวิชาการมองต่าง

ท่ามกลางปัญหาการจัดการวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลที่ได้รับมาน้อยทั้งปริมาณและตัวเลือก บวกกับการวางแผนส่งมอบที่ล่าช้า สะท้อนภาพความต้องการอย่างมากของประชาชนที่ต้องการวัคซีนโควิด แต่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลที่สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนต้องรับวัคซีนแบบตามมีตามเกิด จนกระทั่งราชวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ได้สั่งวัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนอีกเจ้าของจีนที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนซิโนแวคได้ประสิทธิภาพในการป้องกันที่สูงกว่า ทำให้หลายจังหวัดแสดงความจำนงขอวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม ด้วยการบริหารงานจังหวัดที่เป็นรวมศูนย์และกฎระเบียบจากส่วนกลางกลายเป็นเงื่อนไขที่ก่ออุปสรรคต่อท้องถิ่นหรือไม่

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการซื้อวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับราชวิยาลัยจุฬาภรณ์ ว่า มี 2-3 ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนของ อปท. ถ้าซื้อตรงจากผู้ผลิต ไม่ว่าประเทศใดหรือยี่ห้อใดไม่สามารถซื้อได้เพราะว่าผู้ขายไม่ขายให้ ไม่ใช่เพราะประเทศไทยห้าม ทั้งอเมริกา จีน ก็ห้ามหมด หรือถ้าจะไปซื้อจากตัวแทนจำหน่ายอาจจะทำได้

แต่ขณะนี้ทราบว่าตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกรายมีพันธะกับผู้ซื้อแล้ว อย่างกรณีของ ชิโนฟาร์ม ก็มีพันธะกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว หรือโมเดอร์น่า ก็มีเอเย่นต์แล้ว ซึ่งเอเย่นต์เหล่านี้ไม่สามารถไปขายให้คนอื่นต่อได้ เพราะฉะนั้นเหลือทางเดียวคือไปซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือใครก็ตามที่ทำอย่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

“แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องการล้วงเอาเงินออกมาใช้ โดยเฉพาะกรณีของ อปท.ที่ทราบว่าจะซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มันจะมีระเบียบของกระทรวงมหาดไทย (มท.) อยู่ จึงต้องปลดล็อกส่วนนี้ก่อนซื้อ และที่ผ่านมามหาดไทยไม่ได้ปลดล็อกตรงนี้ เพราะไม่คิดว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปซื้อวัคซีน ฉะนั้น อปท.ต้องติดต่อทางมหาดไทย ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบการใช้เงินผิดประเภท ดังนั้น อปท.ต้องทำให้เป็นเงินที่ถูกประเภทเสียก่อน ก็คือการให้มหาดไทยอนุญาตการใช้เงินเพื่อซื้อวัคซีน แต่มหาดไทยจะอนุญาตหรือไม่ผมไม่ทราบ”นายวิษณุ กล่าว

ขณะที่

นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า จากการติดตามการบริหารงานเพื่อไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ในระดับจังหวัด โดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พบว่าการรวมศูนย์อำนาจในส่วนกลาง ยังเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด หลังจากนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนแผนการลงทะเบียนฉีดวัคซีน

“อำนาจหน้าที่ของ อบจ. เทศบาลและ อบต.ยืนยันว่ามีอำนาจในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างชัดเจนและ ในแง่ของอำนาจหน้าที่ ขอเรียนว่าประชาชนที่มีญาติพี่น้องเสียชีวิตจากโควิด-19 สามารถยื่นฟ้องร้อง อบจ. เทศบาล และ อบต.ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หากเห็นว่า อปท.แห่งนั้น ไม่ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่” นายบรรณกล่าว

นายบรรณกล่าวอีกว่า สำหรับข้อทักท้วงของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีท้องถิ่นจะจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้มีคำถามถึงผู้ตรวจการฯ หลังมีการวินิจฉัย ได้ใช้ฐานอำนาจจากกฎหมายฉบับใดรองรับความเห็นดังกล่าว และในอนาคตหาก อปท.ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ท้องถิ่นทั่วประเทศก็ควรตัดสินใจคืนภารกิจ การซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อนำไปฉีดสุนัขและแมวให้กรมปศุสัตว์กลับไปรับผิดชอบเองทั้งหมด

อดีตนายกสมาคมฯ ชี้ท้องถิ่นมีอำนาจตามกฎหมาย

นายวิจารณ์ กุลชนะรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลวังกะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี อดีตนายกสมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง อบจ. และเทศบาลนคร เทศบาลเมือง มีความประสงค์จะซื้อวัคซีนชิโนฟาร์ม โดยทำหนังสือถึงเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อสั่งจองวัคซีนทางเลือก เบื้องต้นการจัดซื้อสามารถทำได้ไม่มีข้อห้าม แต่ อบจ.หรือเทศบาล จะซื้อได้จริงหรือไม่ต้องรอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดที่กำกับการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคพิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้ออกมาทักท้วง แต่ยืนยันว่า อบจ. และเทศบาลมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมโรคชัดเจน ตามที่กำหนดไว้ชัดเจนในกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เทศบาลและ อบจ.

นายวิจารณ์กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้ง อบจ.และเทศบาลจะต้องมีรายจ่ายนอกเหนือจากการซื้อวัคซีน หากซื้อได้จริง ต้องวางแผนเพื่อจัดเก็บวัคซีนให้มีคุณภาพ และการบริหารจัดการการฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง จะต้องมีงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อจ้างบุคลากรทางการแพทย์ของเอกชน เข้ามาทำการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะไม่มากสำหรับเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง แต่ อบจ.อาจจะมีปัญหาในการบริหารจัดการหากสั่งวัคซีนล็อตใหญ่ สำหรับการประกาศเพื่อจัดซื้อวัคซีนของ อบจ.และเทศบาล ทำให้ประชาชนสนใจวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น