‘โรม’ จ่อส่งคดีสินบนโตโยต้า เข้ากมธ.ป.ป.ช. แนะศาล เร่งสอบ-ขยายผล คนมีเอี่ยวอีก

‘โรม’ จี้ ปม บ.รถยนต์ ให้สินบน ตบหน้าหน่วยตรวจสอบคอร์รัปชันไทย ชี้ ผู้พิพากษา-ก.ยุติธรรมที่ปราศจากการตรวจสอบ จะนำประเทศชาติไปสู่ความพังพินาศ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า จากกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (U.S. Department of Justice) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (U.S. Securities and Exchange Commission) ที่เกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบนของบริษัทรถยนต์ให้แก่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไทยเพื่อให้ช่วยเหลือในการตัดสินคดีเกี่ยวกับภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ คิดเป็นจำนวนเงินถึง 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นฎีกา โดยระบุว่า กรณีดังกล่าวเคยเป็นข่าวใหญ่ในไทย ช่วงเดือนเมษายน 2564 เพียงแต่ในครั้งนี้ได้มีการเปิดเผยชื่อของผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องในการรับสินบนหรือเป็นเป้าหมายในการเจรจาต่อรองอย่างน้อย 3 คน ซึ่งล้วนมีตำแหน่งระดับสูง คนหนึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกา คนหนึ่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอีกคนหนึ่งเคยเป็นประธานศาลฎีกาอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ

“ข่าวที่รายงานออกมาถือเป็นการตบหน้าฉาดใหญ่แก่หน่วยงานและองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของไทยทุกหน่วยงาน องค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายในศาลเอง หรือหน่วยงานองค์กรภายนอก เป็นไปได้อย่างไรที่เรื่องใหญ่ขนาดนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศแท้ๆ แต่สังคมไทยกลับล่วงรู้ได้จากผลพวงของการสอบสวนโดยหน่วยงานของประเทศอื่น นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าหน่วยงาน องค์กรตรวจสอบของบ้านเรานั้นอ่อนแอ ด้อยประสิทธิภาพ ไร้มาตรฐานเพียงใด” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กรณีนี้ยังพิสูจน์ให้เห็นว่าสถาบันตุลาการหาได้เป็นสิ่งอันบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียจนแตะต้องไม่ได้เสมอไป เพราะถึงที่สุดแล้วผู้พิพากษาและตุลาการก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่ยังคงมีอคติและอาจมีวาระซ่อนเร้นเป็นของตัวเอง มนุษย์เหล่านี้อาจหวั่นไหวต่อผลประโยชน์ที่ถูกเสนอมา หรืออาจมีเจตนาใช้อำนาจหน้าที่เพื่อตอบสนองต่อวาระซ่อนเร้นของตัวเองได้ ที่ผ่านมาเราพยายามพร่ำบอกว่า คำพิพากษาของศาลนั้น เป็นที่สุดต้องถือเคารพไว้ แต่หลายครั้งหลายคราที่คำพิพากษาที่ผลิตออกมาก็เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยอย่างยิ่งว่า มันได้ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายโดยแน่แท้หรือไม่

“ความสูญเสียที่เกิดจากปัญหาเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีนี้ว่า เดิมพันอาจสูงถึง 11,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้มากกว่างบประมาณของกระทรวงเล็กๆ หลายกระทรวงเสียอีก หรือถ้าคิดเป็นค่าวัคซีนโควิด-19 ก็สามารถใช้ซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนได้กว่าครึ่งค่อนประเทศ แต่ภายใต้กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หมายความประเทศต้องสุ่มเสี่ยงที่จะเสียผลประโยชน์มหาศาลเพื่อแลกกับความร่ำรวยของคนไม่กี่คนในวงการตุลาการ”

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า มนุษย์ตุลาการทั้งหลาย จึงไม่พ้นความจำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบ เฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์ในองค์กรผู้อำนาจรัฐอื่นๆ โดยในเบื้องต้นสำหรับการตรวจสอบภายในองค์กร คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) จะต้องเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนและรายผลกรณีดังกล่าวสู่สาธารณะให้ได้โดยเร็วและละเอียดที่สุด ซึ่งการสืบสวนสอบสวนและรายงานผลนี้ จะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงแค่บุคคลที่มีชื่อปรากฏตามข่าว หากแต่จะต้องขยายผลไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงทั้งหมด เพราะแน่นอนว่า ในการพิจารณาอรรถคดีของศาลที่จะต้องทำกันเป็นองค์คณะนั้น แค่บุคคลเพียง 3 คนย่อมไม่อาจทำเรื่องนี้ให้สำเร็จตามที่ได้รับไหว้วานมาได้

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนตนในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่ประการหนึ่งคือ การสอบหาข้อเท็จจริงของการกระทำที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะผู้แทนประชาชนที่จะต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ที่ออกเสียงเลือกมา จะดำเนินการส่งคำร้องในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ให้ติดตามกรณีดังกล่าวโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวที่มีรายงานถึงการรับสินบนของผู้พิพากษา ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 201 กำหนดว่า เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการที่รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ มีโทษตั้งแต่ต่ำสุดคือจำคุก 5 ปี ไปจนถึงสูงสุดคือประหารชีวิต